วันอาทิตย์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:53 น.

การเมือง

‘ประเสริฐ’ ย้ำ ‘ความมั่นคงไซเบอร์’ ยกระดับความปลอดภัยประชาชน-ประเทศ  เพิ่มศักยภาพปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์

วันศุกร์ ที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 20.32 น.

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568   นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานแถลงข่าวความสำเร็จและปิดโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระยะที่ 2 (Intensive Cybersecurity Capacity Building Program II) พร้อมมอบประกาศนียบัตรสำหรับผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรระดับผู้บริหาร Executive CISO#2 และมอบโล่เชิดชูเกียรติ ‘ศิษย์เก่าดีเด่น THNCA ประจำปี 2568’ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จัดขึ้นที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมี พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ(สกมช.) และคณะผู้บริหาร สกมช. เข้าร่วม 
 
โดย นายประเสริฐ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจ และภาครัฐ โครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระยะที่ 2 จึงมีบทบาทสำคัญ ในการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรทุกระดับ ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน จนถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้ทุกคนมีความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ ภายใต้นโยบาย ‘The Growth Engine of Thailand’ กระทรวงดีอีได้ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมถึงการสร้างบุคลากรที่มีขีดความสามารถ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศได้อย่างยั่งยืน
 
นายประเสริฐ กล่าวว่า แนวทางการสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล จะต้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผ่านแผนงานการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์โดยเร่งด่วน โดยจะประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบและจับกุมผู้เปิดบัญชีแทน/บัญชีม้าในประเทศไทย เว็บพนันออนไลน์ รวมถึงมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์
 
นายประเสริฐกล่าวว่า ตามแผนงาน กระทรวงดีอีจะเพิ่มประสิทธิภาพระบบการอายัดบัญชีให้ทันท่วงที ควบคู่ไปกับการป้องกันการจู่โจมทางไซเบอร์จากต่างประเทศ ผ่านแผนงานการสร้างศูนย์เตือนภัยไซเบอร์ (Cyber Alert Center) ที่มีประสิทธิภาพ  ส่งเสริมการยกระดับศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศทุกระดับ เตรียมความพร้อมภาครัฐและภาคเอกชนด้านข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยการให้ความรู้และส่งเสริมให้เกิดความพร้อมด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการส่งเสริมระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ทั้งในระดับความมั่นคงปลอดภัยสูงสุดและระดับทั่วไป
 
“โครงการนี้เป็นความพยายามสำคัญในการเร่งรัดพัฒนาความรู้และทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่บุคลากร โดยเน้นการเรียนรู้เชิงลึก ฝึกปฏิบัติจริง และสร้างเครือข่ายความร่วมมือซึ่งไม่เพียงช่วยเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร แต่ยังส่งผลเชิงบวกต่อประเทศในการยกระดับความสามารถการแข่งขัน การสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน  อีกทั้งยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันเชิงระบบให้แก่ประเทศในการรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีกล่าว
 
นายประเสริฐ กล่าวว่า หลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับผู้บริหาร (Executive CISO) รุ่นที่ 2 ซึ่งมีผู้บริหารเข้าร่วมอบรม จำนวน 73 คนนั้นจะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่ผู้บริหาร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทาง นโยบาย และการบริหารจัดการความมั่นคงไซเบอร์ในระดับองค์กรและระดับชาติ เตรียมความพร้อมภาครัฐและภาคเอกชนด้านข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรในระดับประเทศ สำหรับก้าวต่อไป คือการต่อยอดความสำเร็จของโครงการให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้บุคลากรไทยมีศักยภาพในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ทุกท่านได้รับจากโครงการนี้จะเป็นพลังสำคัญในการต่อยอดไปสู่การพัฒนาประเทศ และช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับความท้าทายทางไซเบอร์ได้อย่างมั่นใจต่อไป
 
“ขอแสดงความยินดีกับผู้เข้าร่วมโครงการและได้รับประกาศนียบัตร รวมทั้งผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นศิษย์เก่าดีเด่น THNCA 2568 ซึ่งใบประกาศนียบัตรเหล่านี้ถือเป็นเครื่องหมายแห่งความเชี่ยวชาญและสะท้อนถึงมาตรฐานระดับสูงของบุคลากรไทย ที่มีความสามารถในการปกป้องระบบสารสนเทศและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ วันนี้ไม่ใช่แค่ปิดโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระยะที่ 2 เท่านั้น แต่เป็นการเปิดประตูสู่อนาคตของประเทศไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และผมมั่นใจว่าก้าวต่อไปของเราจะนำพาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าวย้ำ 
 
ขณะที่พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวรายงานผลการดำเนินโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ว่าดำเนินการโดยสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (Thailand National Cyber Academy-THNCA) ภายใต้การดูแลของ สกมช. และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ซึ่งนับว่าเป็นโครงการสำคัญอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันภัยคุกคามไซเบอร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกวงการ ส่งผลให้การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ
 
โครงการนี้มุ่งยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติงาน บุคลากรด้านเทคนิค ไปจนถึงระดับผู้บริหารของหน่วยงาน โดยจัดอบรมหลักสูตรที่ครอบคลุมทุกระดับ ได้แก่ หลักสูตรพื้นฐานและหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้บุคลากรมีรากฐานด้าน Cybersecurity หลักสูตรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่เน้นทักษะเฉพาะทาง คือ การวิเคราะห์ภัยคุกคามไซเบอร์, การทดสอบเจาะระบบ, ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องของระบบควบคุมอุตสาหกรรม (OT Security), การเจาะระบบอย่างมีจริยธรรม, การตรวจพิสูจน์หลักฐานดิจิทัล และความปลอดภัยระบบสารสนเทศระดับสูง เพื่อให้ผู้บริหารเข้าใจแนวทางการกำกับดูแลและการจัดการความเสี่ยงทางไซเบอร์
 
ผลสำเร็จของโครงการฯ ในระยะที่ 2 ประสบความสำเร็จเกินจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้อย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการฯ เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านความมั่นคงไซเบอร์ ทั้งรูปแบบห้องเรียนปกติ (On-site) และรูปแบบออนไลน์ (e-learning) จำนวนมากกว่า 13,000 คน จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 6,650 คน โดยมีทั้งกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ บุคลากรในสังกัดหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และกลุ่มเป้าหมายรอง คือ ประชาชนทั่วไปทุกกลุ่มทุกช่วงวัยที่ต้องการพัฒนาความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามในโลกดิจิทัล
 
“อีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ คือจากผลการดำเนินงานโครงการฯ ในระยะที่ 2 นี้ ส่งผลให้จากเดิมที่ประเทศไทยมีผู้สอบผ่านใบประกาศนียบัตร CISSP เพียง 385 คน ปัจจุบันมีผู้สอบผ่านใบประกาศนียบัตร CISSP จำนวนทั้งหมด 431 เพิ่มขึ้น 46 คน หรือ 12% หมายความว่าปัจจุบันในประเทศไทยของเรามี CISSP ทั้งหมดเป็นจำนวนถึง 431 คนแล้ว จำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนี้ สะท้อนถึงคุณภาพของการฝึกอบรมที่มีมาตรฐานสูง และสามารถยกระดับศักยภาพของบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม" พลอากาศตรี อมร กล่าว และว่านอกจากนี้ยังส่งเสริมการสอบใบประกาศนียบัตร และใบรับรองความเชี่ยวชาญไซเบอร์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อให้บุคลากรสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ปฏิบัติงานได้อย่างมีมาตรฐาน"
 
พลอากาศตรี อมร กล่าวอีกว่าความสำเร็จสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการเปิดตัวสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (THNCA) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางด้านการเรียนรู้และวิจัย เพื่อเสริมสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ที่สามารถแข่งขันในระดับสากล และปฏิเสธไม่ได้ว่าผลความสำเร็จของโครงการนี้ คือหนึ่งบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม
 
 

หน้าแรก » การเมือง