วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 00:33 น.

การเมือง

"จักรภพ" เตือนวิกฤตอินเดีย–ปากีสถานอาจลุกลาม หากไร้ตัวกลางหย่าศึก

วันพุธ ที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 14.15 น.

"จักรภพ" เตือนวิกฤตอินเดีย–ปากีสถานอาจลุกลาม หากไร้ตัวกลางหย่าศึก  ชี้ “ซาอุฯ” เหมาะสมรับบทผู้นำสร้างสันติ แนะไทย นำมาเป็นบทเรียนจัดการความมั่นคง 

เมื่อวันที่ 7  พฤษภาคม 2568   นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นต่อกรณีความตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถาน หลังมีรายงานว่ากองทัพอากาศอินเดียได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในพื้นที่ของปากีสถานรวม 9 จุด เพื่อตอบโต้เหตุการณ์ลอบโจมนักท่องเที่ยวในแคว้นแคชเมียร์ ซึ่งอินเดียระบุว่าปากีสถานอยู่เบื้องหลัง

นายจักรภพระบุว่า สถานการณ์ครั้งนี้อาจนำไปสู่ความรุนแรงในระดับที่กว้างขึ้น หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยเฉพาะเมื่อทั้งอินเดียและปากีสถานต่างเป็นประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ หากมีฝ่ายใดใช้ก่อน จะนำไปสู่การตอบโต้ และอาจลุกลามกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ หรือแม้แต่สงครามโลก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังมีปัจจัยที่ช่วยบรรเทาความตึงเครียด และคาดว่าเหตุการณ์นี้อาจค่อย ๆ เย็นลงภายใน 3–6 เดือน

นายจักรภพ กล่าวด้วยว่า เหตุปะทะในครั้งนี้เกี่ยวโยงกับปมขัดแย้งประวัติศาสตร์ระหว่างสองประเทศ ที่มีมาตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1947 โดยเฉพาะข้อพิพาทเรื่องดินแดนแคชเมียร์ ซึ่งยังไม่มีข้อยุติจนถึงปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายมีประสบการณ์ร่วมกันในการทำสงครามและการหย่าศึก รู้วิธีจะรบกันและจะหยุดรบ ขณะเดียวกัน ความซับซ้อนของสถานการณ์ภายในปากีสถานเอง โดยเฉพาะบทบาทของกองทัพและหน่วยข่าวกรอง ISI ที่มีอิทธิพลสูง และมักทำงานแยกขาดจากรัฐบาลพลเรือน ยิ่งทำให้การจัดการปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้น

ต่อข้อถามที่ว่าใครเหมาะสมเป็นตัวกลางในการหย่าศึกในครั้งนี้ อดีตรมต.ประจำสำนักนายฯ กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าจากการให้สัมภาษณ์ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็ไม่มีท่าทีชัดเจนว่าจะเข้ามายุ่งเกี่ยว โดยกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่าก็รบกันมานานและก็คงจะยืดเยื้อไปอีกหลายปี  ขณะที่ประเทศมุสลิมอื่น ๆ เช่น อิหร่าน อาจถูกมองว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน จึงอาจเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการหย่าศึก เนื่องจากมีภาพลักษณ์สายกลางและได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ

“ถ้าไม่มีตัวกลางที่มีอำนาจและบารมีพอ ความขัดแย้งอาจปะทุซ้ำจากแรงยุยงภายในประเทศ จนลุกลามเป็นสงครามขนาดใหญ่ได้ ซึ่งไม่มีฝ่ายใดต้องการ การยุติความรุนแรงโดยต่างฝ่ายต่างถอย อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้” นายจักรภพกล่าวทิ้งท้าย พร้อมเตือนให้ทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย หันมาศึกษาบทเรียนจากความขัดแย้งของเพื่อนบ้าน เพื่อเรียนรู้วิธีป้องกันและจัดการปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคอย่างสันติ” นายจักรภพ กล่าว
 

หน้าแรก » การเมือง