วันพุธ ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:48 น.

การเมือง

"ไอเอฟดีโพล" เผยคนไทยยี้โกง  มอง จำนำข้าวต้องชดใช้เหตุละเลยทำให้เสียหาย

วันจันทร์ ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 21.37 น.

"ไอเอฟดีโพล" เผยคนไทยยี้โกง  มอง จำนำข้าวต้องชดใช้เหตุละเลยทำให้เสียหาย  ขณะ “เกรียงศักดิ์” ชี้ จีทูจีบทเรียนฝ่ายบริหาร ลั่น เป็นนายกฯต้องรับผิดชอบทุกนโยบาย ให้เกิดประโยชน์  ไม่เลินเล่อ 

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2568  ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (ดร.แดน) ประธานสถาบันการสร้างชาติ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา และนางจิตติมา บุญวิทยา ผู้อำนวยการไอเอฟดีโพลและเซอร์เวย์ ร่วมแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนไทยตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป  เรื่อง “คนไทยยี้โกง ชี้ ทุจริตนโยบาย มองจำนำข้าวต้องชดใช้เพราะละเลยทำให้เสียหาย” 1,213 ตัวอย่าง สำรวจ 21 - 25 พ.ค. 2568 ใน 6 ภูมิภาค โดยการลงภาคสนามและการโทรศัพท์ สุ่ม‍ตัวอย่างความน่าจะเป็น Stratified Five-Stage Random Sampling ค่าความผิดพลาด 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

ผลสำรวจไอเอฟดีโพลชี้ว่า ประชาชนครึ่งหนึ่ง 50.7% เห็นด้วยกับคำตัดสินว่าให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ 10,028 ล้านบาท เพราะแม้ไม่โกงเองแต่ละเลยจนเกิดความเสียหายแก่ประเทศ และเป็นบรรทัดฐาน ให้ผู้นำประเทศต้องรับผิดชอบในนโยบายที่ออกประชาชนเกือบ 7 ใน 10 (69.7%) เห็นด้วยว่าศาลควรมีบทบาทตรวจสอบนโยบายรัฐบาล เพราะนโยบายที่สร้างความเสียหาย แต่นายกฯ หรือรัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบ อาจทำให้ออกนโยบายประเภทนี้ซ้ำ ด้วยภาษีประชาชน ฝ่ายตุลาการจึงควรเข้าถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ในการออกนโยบาย

ขณะที่หน่วยงานที่ประชาชน ไม่เชื่อมั่นมากที่สุด คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย 40.6%  รองลงมาคือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) 36.2% (อาจเนื่องจากกรณีปัญหาภายใน เช่น โครงการก่อสร้างอาคารที่มีปัญหาทุจริต) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 23.9% ตามลำดับ แม้หลายหน่วยงานภาครัฐจะถูกตั้งคำถาม แต่ประชาชนยังมองว่า เครือข่ายภาคประชาชน (เช่น องค์กรและกลุ่มประชาสังคม) เป็นความหวังในการปราบโกงมากที่สุด (29.7% เชื่อมั่น) ตามมาด้วย สื่อมวลชน (24.7%) 

สำหรับหน่วยงานภาครัฐนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถือว่าได้รับความหวังจากประชาชนสูงสุด (21.3% เชื่อมั่นว่าจะปราบโกงได้) ตามด้วย ป.ป.ช. (16.9%) และศาลยุติธรรม (10.8%) อย่างไรก็ตาม มีประชาชนถึง 17.6% ที่ระบุว่า “ไม่มีหน่วยงานไหนให้ความหวังได้เลย” สะท้อนภาวะความไว้วางใจต่อระบบปราบปรามทุจริตที่ค่อนข้างวิกฤตในสายตาของประชาชนและสังคมรูปแบบการทุจริตที่ประชาชนรับไม่ได้สะเทือนใจมากที่สุด3 อันดับแรก ได้แก่ การโกงในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (56.3%) เช่น กรณีสร้างตึกแล้วเกิดปัญหา, รองลงมาคือ ขบวนการบ่อนการพนัน/ธุรกิจสีเทาและการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ (33.8%), และ กรณีการฮั้วในหมู่สมาชิกวุฒิสภา หรือการใช้เส้นสายทางการเมือง (32.4%) 

นอกจากนี้ยังมีกรณี ทุจริตเงินทอดกฐินวัดไร่ขิง (27.5%), กรณีอดีตนักการเมืองใช้สิทธิพิเศษที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (22.8%), การที่รัฐต้องเสียค่าโง่/ค่าปรับให้เอกชนในสัญญาต่าง ๆ (22.2%),  ทัศนคติต่อ “คนโกงแต่เก่ง”: คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับผู้นำที่ทุจริตแม้จะบริหารงานเก่ง – ผลสำรวจชี้ว่า 61.5% ของประชาชน “ไม่รับเด็ดขาด” กับคนทำงานเก่งและโกง ซึ่งยืนยันว่าคนโกงควรพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าจะมีผลงานดีเพียงใดก็ตาม โดยมีประชาชนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ลังเลหรือยอมรับได้ภายใต้เงื่อนไข เช่น 18.4% ระบุว่ายังไม่แน่ใจ ขึ้นอยู่กับ เจตนาและผลกระทบ ของการทุจริตนั้น ๆ, และ 18.2% พอรับได้ถ้าเป็นการโกงเล็กน้อยแต่สร้างประโยชน์ส่วนรวมมหาศาล ขณะที่มีเพียง 1.9% ที่บอกว่ารับได้ในกรณีที่ผู้กระทำมีผลงานใหญ่ยิ่ง เช่น สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจฟื้นฟูประเทศได้อย่างโดดเด่นมุมมองต่อการลงโทษผู้โกงและการมีส่วนร่วมต้านคอร์รัปชัน : ประชาชนเรียกร้องให้มีบทลงโทษที่รุนแรง รวดเร็ว และเป็นรูปธรรมกับผู้ทุจริตคอร์รัปชัน – หลายคนอยากเห็นการ ลงโทษจำคุกจริงจัง ไม่มีการรอลงอาญาหรืออภัยโทษสำหรับนักการเมืองหรือข้าราชการโกงกิน และบางส่วนสนับสนุนให้ใช้ โทษประหารชีวิตกับคนโกงที่ทำประเทศเสียหายหนักจริง ๆ รวมถึงมาตรการอย่าง ยึดทรัพย์สินคืนแผ่นดินพร้อมดอกเบี้ย, การตัดสินคดีทุจริตให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน

ทั้งนี้เมื่อพบการทุจริตต่อหน้า คนส่วนใหญ่เลือกแจ้งทางการหรือเก็บหลักฐาน : หากประชาชน เจอการโกงต่อหน้าต่อตาประมาณ หนึ่งในสาม (31.9%) ระบุว่าจะ แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที ในขณะที่อีก 30.3% เลือกที่จะบันทึกหรือรวบรวมหลักฐานไว้ก่อน เพื่อรอโอกาสเปิดโปงหรือส่งต่อผู้มีอำนาจจัดการ 

นอกจากนี้ 17.3% จะใช้วิธี โพสต์ข้อมูลลงโซเชียลมีเดีย เพื่อให้สังคมช่วยกดดันผู้กระทำผิดอย่างรวดเร็ว แต่มีกลุ่มหนึ่ง (รวมประมาณ 20.5%) ที่ยังไม่กล้าเผชิญหน้าโดยตรง โดยบางส่วนจะเลือก อยู่เงียบ ๆ ไม่ยุ่งเกี่ยว (11.6%) หรือตักเตือนผู้กระทำเป็นการส่วนตัว (8.9%) เท่านั้นบทบาทประชาชนต้านโกง: ประชาชนตระหนักถึงพลังของตนเองในการแก้ปัญหาทุจริต และเลือกใช้วิธีที่ตนทำได้จริง สองอันดับแรกคือการไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเอง ได้แก่ “ไม่ให้และไม่รับสินบน” อย่างเด็ดขาด (43.9%) และ “ไม่สนับสนุนคนโกง” เช่น จะไม่เลือกตั้งผู้ที่มีประวัติคอร์รัปชัน, ไม่ใช้บริการหรือซื้อสินค้าจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนทุจริต, และไม่ส่งเสริมแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคนโกง (43.6%) นอกจากนี้ยังเน้นการ ปลูกฝังคนรุ่นใหม่ โดย 20.2% ระบุว่าจะสอนลูกหลานให้เติบโตมาอย่างซื่อสัตย์ไม่โกง, ขณะเดียวกัน 19.3% พร้อมจะใช้ สื่อโซเชียลในการเปิดโปง หรือตั้งคำถามต่อความไม่ชอบมาพากลในสังคม และ 15.0% จะ กล้าแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียน เมื่อพบการโกงโดยตรง อย่างไรก็ดี มีประชาชนประมาณ 15.4% ยอมรับตามตรงว่าตนเอง “ไม่รู้จะช่วยแก้ปัญหาทุจริตอย่างไร” หรือคิดว่าทำอะไรเองไม่ได้เลย ซึ่งสะท้อนความรู้สึกหมดหวังของคนบางกลุ่มที่มีต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในปัจจุบัน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ แสดงความเห็นว่า โครงการรับจำนำข้าวมีความชัดเจนว่า เกิดความเสียหายขึ้น มีองค์กรตรวจสอบได้ท้วงติงเป็นระยะ แต่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขอย่างเต็มกำลัง เป็นการประมาทเลินเล่อ ที่คนเป็นนายกฯ ต้องรับผิดชอบ สิ่งสำคัญในการบริหารฝ่ายการเมือง มี 2 เรื่องใหญ่ คือเรื่องคอร์รัปชั่นต้องไม่มี และประสิทธิสภาพในการบริหารต้องดี การตรวจสอบเฉพาะคอร์รัปชั่นไม่พอ แต่ต้องตรวจสอบว่าเกิดประสิทธิสภาพต่อประเทศด้วย ทั้งนี้การออกนโยบายต้องระวัง ไม่ใช่จะออกนโยบายอะไรก็ได้ ต้องมีผลดีต่อประชาชน และต้องรับผิดรับชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น  

ทั้งนี้ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์  สรุปว่า การเป็นผู้นำประเทศต้องระวังตัว สุจริต จริงใจ และใช้วิจารณญาณที่ดี ต้องทำเต็มที่ไม่เพิกเฉย ซึ่งถือเป็นบทเรียนและกรณีศึกษาของฝ่ายบริหารในการออกนโยบาย“ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ ระบุ
 
 

หน้าแรก » การเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง