วันอังคาร ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 13:46 น.

การเมือง

รมว.ยุติธรรมเปิดโครงการเสริมทักษะภาษาและจริยธรรมเยาวชนภูเก็ต มุ่งสร้างศูนย์กลางพหุสังคมระดับโลก

วันอาทิตย์ ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 11.59 น.

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567   พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางเป็นประธานเปิด “โครงการส่งเสริมทักษะด้านภาษาเพื่อการสื่อสารและจริยธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนในจังหวัดภูเก็ต” ณ โรงแรมศุภาลัย ซีนิค เบย์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โดยมีสมาคมฟัรดูอัยน์คุรุสัมพันธ์ภูเก็ต ร่วมกับหน่วยสอบที่ 21 และ 43 เขตการศึกษาที่ 7 สมาคมคุรุสัมพันธ์อิสลามแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นเจ้าภาพจัดงาน มี นายเรวัต อารีรอบ นายก อบจ.ภูเก็ต พร้อมคณะ ให้การต้อนรับ

โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีความสามารถทางภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ และภาษามาลายู ควบคู่กับการเรียนรู้หลักจริยธรรมอิสลาม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในจังหวัดภูเก็ต

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวในพิธีเปิดว่า “โครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มทักษะการสื่อสารให้เยาวชน แต่ยังช่วยปลูกฝังจริยธรรมตามหลักอิสลาม ให้สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้อย่างเหมาะสม ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปิดประตูสู่โลกกว้าง ทั้งสามภาษาที่ส่งเสริมในโครงการนี้ล้วนมีบทบาทในระดับนานาชาติ”

รมว.ยุติธรรมเน้นย้ำว่า “การศึกษา คือหัวใจของการส่งต่อสังคมที่ดีจากรุ่นสู่รุ่น” พร้อมกล่าวชื่นชมการทำงานของสมาคมฟัรดูอัยน์คุรุสัมพันธ์ภูเก็ต ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเยาวชน โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นจุดศูนย์กลางของการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเช่นภูเก็ต

ทั้งนี้ รัฐมนตรีได้กล่าวถึงความสำคัญของจังหวัดภูเก็ตในฐานะเมืองพหุสังคมระดับโลก โดยเผยข้อมูลว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2568 จังหวัดภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวกว่า 9.1 ล้านคน หรือเฉลี่ยวันละกว่า 50,000 คน และมีเที่ยวบินกว่า 55,000 เที่ยวบิน ซึ่งมากกว่าครึ่งเป็นสายการบินระหว่างประเทศ สะท้อนบทบาทของภูเก็ตในฐานะจุดเชื่อมโยงสำคัญระหว่างประเทศไทยและนานาชาติ

พร้อมกันนี้ พันตำรวจเอก ทวี ยังกล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนชุมชนมุสลิม โดยเฉพาะการผลักดันระบบการเงินอิสลามที่ปลอดดอกเบี้ย (Riba-Free) ระบบเศรษฐกิจฮาลาล (Halal-Based Economy) และระบบซะกาต (Zakat-Based Redistribution) เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ข้อมูลปี 2567 ระบุว่า มูลค่าทรัพย์สินรวมของอุตสาหกรรมการเงินอิสลามในประเทศไทยสูงถึงกว่า 140,000 ล้านบาท และเติบโตเฉลี่ย 5.56% ต่อปี โดยมีการขยายตัวของสถาบันการเงินอิสลามไปมากกว่า 54 แห่งทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน ยังอ้างอิงรายงานจาก Global Finance ปี 2024 ที่ระบุว่า อุตสาหกรรมการเงินอิสลามทั่วโลกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 14.9% ต่อปี และมีสินทรัพย์รวมกว่า 3.88 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภาคศุกูก (ตราสารทุนอิสลาม) ขยายตัว 25.6% และภาคตะกาฟุล (การประกันภัยอิสลาม) เติบโต 16.9% แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของภาคการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ซึ่งมีบทบาทเพิ่มขึ้นในเศรษฐกิจโลก

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า “หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ใช่เพียงโครงสร้างการเงิน แต่คือ ทรัพยากรมนุษย์ องค์ความรู้ และธรรมาภิบาลบนพื้นฐานของศรัทธาที่มั่นคง รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมจะเดินหนุน ‘เศรษฐกิจคุณธรรม’ เพื่อให้ทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิม สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับหลักศาสนาและมีความยั่งยืนในระยะยาว”

เขายังแสดงความหวังว่า โครงการอบรมในครั้งนี้จะกลายเป็นเวทีที่ส่งเสริมความรู้ ความศรัทธา และความเข้มแข็งให้กับชุมชนมุสลิมในภูเก็ต พร้อมเชื่อมโยงไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในประเทศและเวทีโลก

 
 

หน้าแรก » การเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง