วันอังคาร ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 18:48 น.

การเมือง

"ส.ว.ชิบ" แฉ !! ค่าตอบแทน กสทช. สูงลิ่วเกินนายกฯ – ค่ามือถือปีเดียว 21 ล้าน

วันจันทร์ ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 21.18 น.

ที่ประชุมวุฒิสภาสับ กสทช.ใช้งบฯฉ่ำ “ชิบ จิตนิยม” สว.สายสื่อสารมวลชน เปิดข้อมูลจัดหนักงบใช้จ่ายของสำนักงาน กสทช. ทั้งเงินเดือนระดับผู้บริหารที่สูงกว่า 4.5 แสนต่อเดือน ค่าชดเชยค่าเสียโอกาสลอยฟ้า พร้อมตั้งคำถามค่าโทรศัพท์มือถือปีเดียวทะลุ 21 ล้าน ชี้ประชาชนจับตาว่า "คุ้มงบประมาณหรือไม่"

ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 5 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง วันที่ 21 กรกฎาคม 2568 ณ ห้องประชุมวุฒิสภา อาคารรัฐสภาโดยมี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุม นายชิบ จิตนิยม สมาชิกวุฒิสภาจากกลุ่มสื่อสารมวลชน ได้ลุกขึ้นอภิปรายอย่างเข้มข้นต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการรายงานงบการเงิน และผลการตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้จ่ายของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566

นายชิบ กล่าวด้วยถ้อยคำเชิงสะท้อนถึงภาระความรับผิดชอบของ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูง มีค่าตอบแทนระดับนำหน้าหลายหน่วยงานรัฐ จึงเป็นธรรมดาที่สังคมจะจับตาและตั้งคำถามว่า “คุ้มค่าหรือไม่”

นายชิบ กล่าวว่า ประธาน กสทช. ได้รับเงินเดือน 360,000 บาทต่อเดือน และยังมี “ค่าชดเชยค่าเสียโอกาส” อีกเกือบ 90,000 บาท รวมแล้วเบ็ดเสร็จอยู่ที่ 450,000 บาทต่อเดือน ขณะที่กรรมการ กสทช. คนอื่นก็มีรายรับรวมกว่า 360,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเกินกว่าผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี หรือประธานรัฐสภาทั้งสองสภา

"ค่าชดเชยค่าเสียโอกาส" ที่ กสทช. ได้รับ ถูกชี้แจงว่าเป็นค่าตอบแทนที่ครอบคลุมช่วงระยะเวลา 2 ปี หลังพ้นวาระ ที่ไม่สามารถประกอบกิจการหรือดำรงตำแหน่งใด ๆ ในภาคธุรกิจสื่อสารได้ แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนคำถามถึงความจำเป็นและความโปร่งใสของกลไกดังกล่าว

นายชิบ กล่าวถึงคลิปของอาจารย์วีระ ธีรภัทร กรรมาธิการงบประมาณ ซึ่งเคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับค่าตอบแทนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าสูงกว่าหน่วยงานอื่นๆหรือไม่ ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วกลับกลายเป็นว่า กสทช. มีอะไรได้สูงกว่าทุกหน่วยงาน และสูงกว่าฝ่ายบริหารทุกระดับ”

นายชิบ กล่าวอีกว่า นอกจากผู้บริหารแล้ว พนักงานของ กสทช. กว่า 2,100 คน ก็เป็นอีกกลุ่มที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยในปี 2566 ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรรวมอยู่ที่ 2,162 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 1 ล้านบาทต่อปี และในปี 2567 มีการปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานทั่วไปถึงคนละ 5,000 บาท ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนขององค์กรเพิ่มขึ้นราว 10 ล้านบาทต่อเดือน ยกเว้นผู้บริหารที่ไม่ได้รับการปรับขึ้น

"ท่ามกลางบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่หน่วยงานและธุรกิจเอกชนต่างเผชิญภาวะรัดเข็มขัด การใช้จ่ายของ กสทช. ในลักษณะนี้จึงกลายเป็นภาพสะท้อนที่สวนทางกับความรู้สึกของประชาชน" นายชิบกล่าว

นายชิบ ยังตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา เรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับโทรศัพท์มือถือของ กสทช. ในปี 2566 ซึ่งสูงถึง 21 ล้านบาท โดยเขากล่าวว่า "ไม่ทราบว่าใครใช้ ใช้ฟรีกันหรือไม่ หรือระดับใดได้รับสิทธิ์บ้าง" พร้อมเรียกร้องให้ กสทช. เปิดเผยข้อมูลนี้ต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใส

นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ โดยระบุว่า หากไม่เกิน 15 วัน จะได้รับเบี้ยเลี้ยง 67,000 บาท และหากเกิน 15 วัน จะได้รับถึง 100,000 บาท ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ยังเป็นหัวข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมมาโดยตลอด

“ผมไม่ได้คาดหวังว่า กสทช. จะต้องตอบทุกคำถามทันทีในวันนี้ แต่สิ่งที่ประชาชนอยากรู้คือ ภารกิจที่ท่านแบกรับอยู่นั้น จะคุ้มค่ากับงบประมาณที่ท่านได้รับหรือไม่” นายชิบกล่าวทิ้งท้าย

หน้าแรก » การเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง