วันจันทร์ ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567 14:09 น.

การเมือง

ตั้งอดีตผู้ว่าฯพอเพียงนั่งรรท.อธิการบดีม.นเรศวร

วันพฤหัสบดี ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2560, 09.16 น.

ตั้งอดีตผู้ว่าฯพอเพียงนั่งรรท.อธิการบดีม.นเรศวร

 

เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2560 ที่ผ่านมา ศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งให้ ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เนื่องจากผู้รักษาการคนเดิมได้ขอลาออก

 

 

 

 

             ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ เติบโตมาจากเด็กบ้านนอกสู้ชีวิต เรียน กศน. จบ ม.6  มุมานะเรียนต่อจนจบปริญญาตรี-โท-เอก ตามลำดับ รับราชการเจริญเติบโตจนได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด

             "ทุกครั้งและทุกก้าวของการทำงานของผมผมคิดเสมอว่า ผมคือลูกชาวนา ไม่เคยคิดรังเกียจวิถีชีวิตชาวนา และไม่เคยคิดหนีจากวิถีชีวิตชาวนา หลังเกษียณ ผมจึงกลับคืนสู่วิถีชีวิตแห่งความสุขที่บริสุทธิ์แบบพื้นฐานดั้งเดิมของสังคมไทย ผมโชคดี ที่ยังคงมีความคิดและความเชื่อเช่นนี้อยู่ อยากบรรลุถึงความสุข ที่แท้จริงต้องกล้าตัดสินใจและลงมือปฎิบัติจริงแบบทวนกระแสโลก สังคม และความอยากของตัวเองให้ได้" ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ ระบุ

             ดร.แสวง นิลนามะ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เป็นบุคคลหนึ่งที่ชื่นชมและพร้อมกับเคยแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "เห็นภาพพี่แล้ว ทำให้นึกถึงพุทธประวัติ หลังเสวยข้าวมธุปายาสแล้ว ทรงอธิษฐานลอยถาดเปล่า ปกติถาดทั่วไปจะลอยตามน้ำแล้วจมหาย แต่ถาดที่เจ้าชายสิทธัตถโพธิสัตว์ ทรงลอยนั้น กลับลอยขึ้นทวนน้ำคือนัยะที่ชี้ชัดว่า ชีวิตที่มีค่ามิใช่ชีวิตที่ตามกระแสจนสุดโต่งจมหายกลายกลืนจนเสียอัตลักษณ์ และไม่ใช่ชีวิตที่ขวางกระแสจนเกิดการต่อต้านแตกหัก หากแต่เป็นชีวิตที่ค่อยๆ เรียนรู้ทบทวนการย้อนทวนกระแสขึ้นไปทีละน้อย ดุจปลาที่อยู่ในน้ำ ต้องไม่ลอยตามน้ำจนออกทะเลไกล และต้องไม่รังเกียจน้ำโดดขึ้นฝั่งมาอยู่บนบก หากแต่เรียนรู้แหวกว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วจะพบมรรคาที่สุขนิรันดรสำหรับการพักพิงหลบซ่อนภัย"

             หลังจากโลกโซเซียลได้มีการแชร์รูปของดร.ปรีชาที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณราชการในการทำไร่ทำสวน เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีคนมาชื่นชมอย่างมากนั้น ดร.ปรีชา ได้แสดงความรู้สึกว่า สำหรับชีวิตหลังเกษียณราชการอยู่สุขสบายดี เพราะช่วงที่รับราชการด้วยความไม่ชอบอยู่เฉยๆ ว่างเว้นจากงานราชการ ก็ออกตรวจเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ต่างๆ และวันหยุดก็กลับบ้านเกิดที่ จ.พิจิตร ทำนา ทำสวน อาชีพดั่งเดิมของพ่อแม่ ทำมาตลอด เมื่อเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ก็กลับไปใช้ชีวิตดั่งเดิม คือ เกษตรกร ทำนา ทำสวน แต่ขณะนี้เลิก ไม่ได้ทำนาแล้วทำไม่ได้ ก็เน้นทำสวนแบบผสมผสาน

             “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ทุกวันนี้แทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านอาหารการกินเลย แต่สิ่งของที่ปลูกไม่ได้ปลูกขาย ทำการเกษตรแบบแบ่งปัน ปลาก็มีเลี้ยงไว้เยอะ ทำทุกอย่างไว้เพื่อลูกหลาน ชีวิตคนคนหนึ่งใช้ชีวิตเป็นก็อยู่สุขสบายแล้ว เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ นอกจากที่จะทำสวนทำไร่ ทุกวันนี้ก็เป็นอาจารย์สอนพิเศษที่มหาวิทยาลัยนเรศวรให้ความรู้ตามที่ได้รับเชิญ รวมทั้งไปบรรยายให้ความรู้ตามที่มีคนต้องการ” ดร.ปรีชา กล่าวและว่า

             ในเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียง ต้องสำรวจดูตัวเราเองว่าถนัดอะไร ก็ทำอย่างนั้นที่ใจรักใจชอบ หลักเศรษฐกิจพอเพียงได้ทำจริงหรือยัง หลักเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆคือการลงมือทำ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง 1 ทำอะไรที่ตัวเราไม่เดือดร้อนก็ทำไป 2 ทำในสิ่งที่ครอบครัวเราไม่เดือดร้อนก็ทำไป 3 ทำที่คนข้างเคียงไม่เดือดร้อนก็ทำไป และ4 สังคมไม่เดือดร้อนก็ทำไป คนที่ไม่ทำไม่ผิด เราลงมือทำ ทำผิดไม่ดีก็แก้ไข ความสำเร็จต้องลงทำ ความรู้อย่างเดียวไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าจะประสบความสำเร็จ ความมุ่งมั่น ตั้งใจและลงมือทำคือสิ่งที่จะบ่งบอกได้

              ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ เกิดเมื่อ วันที่ 4 มิถุนายน 2498 ณ บ้านหนองกอไผ่ ตำบลวังสำโรง อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ครอบครัวชาวนาของ คุณพ่อจวน คุณแม่บุญมา ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ ผู้ซึ่งต่อมาจะเป็นลูกชาวนา “ยอดคน”

             เด็กชายปรีชา เรืองจันทร์ หยุดพักการศึกษาหลังจบชั้นประถมศึกษา ผันชีวิตไปเป็นชาวนาตามรอยเท้าพ่อถึง 6 ปีเต็ม แต่ด้วยความมุ่งมั่นและใฝ่การศึกษา นายปรีชา เรืองจันทร์ กลับเข้ามาศึกษานอกระบบโรงเรียน สอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่กระทรวงศึกษาธิการ เป็นศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วุฒิการศึกษารัฐศาสตร์บัณฑิต นิติศาสตร์บัณฑิต รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิตและรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต

การศึกษา

             ปริญญาตรี พ.ศ. 2518 รัฐศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

             ปริญญาโท พ.ศ. 2522 รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

             ปริญญาเอก พ.ศ. 2548 Doctor of Organization and Transformation (DODT), CEBU Doctors University, Philippines

             นายปรีชา เรืองจันทร์ รับราชการครั้งแรกในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนระดับ 3 สำนักงานจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อปี 2519 และได้เจริญเติบโตในชีวิตราชการเรื่อยมาตามลำดับ โดยดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอในหลายพื้นที่ เช่น อำเภอโกรกพระ อำเภอหนองบัว อำเภอบรรพตพิสัย อำเภอเมืองนครสวรรค์ ผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์ นักวิชาการปกครอง นายอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีษะเกษ นายอำเภอวังทรายพูน นายอำเภอเมืองพิจิตร ผู้อำนวยการกองราชการส่วนตำบล ผู้อำนวยการส่วนความมั่นคง กรมการปกครอง ผู้อำนวยการกองการข่าว สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดจังหวัดพิจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีและย้ายมาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เพชรบูรณ์ เมื่อปี 2543

             นายปรีชา เรืองจันทร์ ได้ดำเนินการทุกวิถีทางที่จะนำความสงบสุข และความเจริญรุ่งเรืองในทุกๆ ด้านมาสู่ประชาชนชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วยความที่เป็นผู้มีความรู้ มีความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร และมุ่งมั่น ทำให้มีผลงานปรากฏต่อสาธารณชนอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาอุทกภัย และภัยแล้ง โดยการจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและสั่งการป้องกันแก้ไขปัญหาในขณะ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ประสบภาวะวิกฤติเกี่ยวกับอุทกภัยอย่างฉับพลันและมี ประสิทธิภาพ

             ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของ ประชาชน ด้วยขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิง บูรณาการ การส่งเสริมการเกษตร วิสาหกิจชุมชน สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นผลงานเด่นที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนเพชรบูรณ์เป็นอย่างมาก

             ใน ฐานะรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่กำกับดูแลและขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไข ปัญหายาเสพติดของจังหวัดมีผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการเร่งรัดปราบปราม การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเอาชนะยาเสพติด การจัดระเบียบสังคมเชิงบูรณาการ การจัดกิจกรรมเด็กและเยาวชน ล้อมครอบครัวด้วยรั้วรัก การพัฒนาศักยภาพพลังแผ่นดิน ลูกเสือชาวบ้าน อาสามัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน จนได้รับมอบโล่บุคคลที่มีผลงานดีเด่น ด้านการสนับสนุนการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด

             นาย ปรีชา เรืองจันทร์ เป็นตัวอย่างที่ดีในการรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชน ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดีในการออกกำลังกาย เล่นกีฬาส่งเสริมสุขภาพอยู่เสมอ อีกทั้งเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนกีฬาของจังหวัดเพชรบูรณ์มาโดยตลอด เช่นเดียวกันกับด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม นายปรีชา เรืองจันทร์ เป็นผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมของศาสนา และได้ส่งเสริมให้คณะสงฆ์ได้ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนเสริมสร้างวินัยของเยาวชนและสังคม ขับเคลื่อนโดยศูนย์พัฒนาคุณธรรมและทุกภาคส่วนในจังหวัด

             แม้จะทุ่มเท กับการทำงานอย่างหนัก แต่นายปรีชา เรืองจันทร์ ยังได้ปลีกเวลาศึกษาเพิ่มเติม วิทยฐานะ จนจบปริญญาเอก สาขาพัฒนาองค์กร เป็นดอกเตอร์ลูกชาวนาอีกคนหนึ่งที่น่าภูมิใจ

             สิ่งที่นายปรีชา เรืองจันทร์ได้สร้างผลงานไว้ตลอดระยะเวลา 7 ปี นั้นได้สร้างคุณูปการและแสดงให้ชาวเพชรบูรณ์ได้เห็นว่า นายปรีชา เรืองจันทร์ เป็นผู้ที่ประกอบด้วย ภูมิรู้ ภูมิธรรมและจิตใจอันมุ่งมั่น อุตสาหะ พากเพียร อดทนต่อความยากลำบากและที่สำคัญคือการที่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวอัน อบอุ่นและเข้มแข็ง คือนางปิยธิดา เด็กชาย ป นนทนันทน์และเด็กหญิง ป ประภัสสนันทน์ (นาย กะ นุ่น) เรืองจันทร์ สมควรได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลที่จะทูลเกล้าฯ เสนอชื่อให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และภูเก็ตปัจจุบัน ที่พิษณุโลก

การทำงาน

             นายอำเภอเมืองพิจิตร

             ผู้อำนวยการกองราชการส่วนตำบล กรมการปกครอง

             ผู้อำนวยการส่วนความมั่นคง กรมการปกครอง

             ผู้อำนวยการกองการข่าว สำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย

             ปลัดจังหวัดพิจิตร (ระดับ 9)

             รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี

             รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์

             ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร

             ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต

             ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

             พ.ศ. 2546 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)

             พ.ศ. 2551 มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)

เกียรติคุณพิเศษ

             พ.ศ. 2528 รางวัลดีเด่น การเขียนหนังสือเพื่อเยาวชนวัย 13-19 ปี ภาคเหนือ ประเภทกวีนิพนธ์ เรื่อง “ฉากชนบท”

             พ.ศ. 2528 เกียรติบัตรนักวิชาการยอดเยี่ยม หลักสูตรปลัดสุขาภิบาล รุ่นที่ 4

             พ.ศ. 2532 ประกาศเกียรติคุณข้าราชการพลเรือนดีเด่น จังหวัดนครสวรรค์

             พ.ศ. 2534 เกียรติบัตรนักวิชาการดีเด่น หลักสูตร โรงเรียนนายอำเภอ รุ่นที่ 13

             พ.ศ. 2553 รางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” ครั้งที่ 23 ประเภทบุคคลผู้ประสบความสำเร็จด้านการประชาสัมพันธ์ จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย

             นอกจากงานทางราชการแล้ว  นายปรีชา  เรืองจันทร์  ยังมีความสามารถทางด้านงานเขียนและสิ่งพิมพ์  มีผลงานมากมาย  เช่น  วิทยานิพนธ์เรื่อง “การบริหารงานสำนักงานจังหวัด : ศึกษาเฉพาะกรณีจังหวัดเพชรบูรณ์” ,  หนังสือเสริมการอ่าน “แม่ค้าขายผัก”, เอกสารวิจารณ์หนังสือ “เล่นกับคน : ศิลปะการบริหารแบบไทย ๆ”  ของอาจารย์สุขุม   นวลสกุล  และ “เทคนิคการบริหารเวลาสำหรับนักบริหาร”  ของ       ชัยรัตน์   บูรณะวิวัฒน์  เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีงานเขียนรวมเล่ม  เช่น  “ฉากชนบท”  “คนกินอุดมการณ์” “ลูกล่อลูกชนคนทำงาน”  “ก็อดอามี่มณีลอยปลุกราชบุรีเขย่าโลก”  “ขวัญใจชาวบ้าน”  “ น้ำฝนน้ำฟ้า น้ำตาน้ำก้อ “  และ “คนแบกเสบียง”  เป็นต้น  นามปากกาที่ใช้มี  “รุ่งทิวา”   “กระทิงทุ่ง”  “กำนันฉะ” “ ป ปิยธิดา” “ ป นนทนันทน์”  “ ป  ประภัสสนันท์”  “ มหานายนนทนันทน์”  นับเป็นบุคคลที่มีความสามารถอีกท่านหนึ่งที่ควรยกย่อง

             ขอขอบคุณเจ้าของภาพต้นเรื่องที่นำสิ่งดีๆ มานำเสนอต่อสังคม รวมถึงเว็บไซต์ http://aopenpaktourism.blogspot.com/2011/11/blog-post.html ที่ได้รวบรวบประวัติ ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ ไว้เป็นอย่างดี และ https://www.youtube.com/watch?v=cddRHLETVek วิดีโอประวัติ   


.................
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก บุญเหลือ บุณย์ ใจมโน)

 

หน้าแรก » การเมือง