ภูมิภาค
ผ่าสนามเลือกตั้งนครพนม ทั้ง4เขตล้วนศึกช้างชนช้าง
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

ผ่าสนามเลือกตั้งนครพนม
ทั้ง4เขตล้วนศึกช้างชนช้าง
หลังจากที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 การเลือกตั้งครั้งนี้เป็น "การเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย" โดยจังหวัดนครพนม ส.ส.คนแรก คือ นาวาโท พระศรการวิจิตร ร.น. (ช้อย ชลทรัพย์) ส่วนพรรคการเมืองที่ปักธงครั้งแรกในจังหวัด มีด้วยกัน 3 พรรค(พ.ศ.2500) คือ 1.พรรคเสรีมนังคศิลา 2.ประชาธิปัตย์ และ 3.พรรคสหภูมิ และพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกมากที่สุด(พ.ศ.2500-2554) 1.พรรคประชาธิปัตย์ 3 ครั้ง 2.พรรคความหวังใหม่ 3 ครั้ง ส่วนพรรคกิจสังคม พรรคราษฎร และพรรคชาติไทย ประชาชนเลือก ส.ส.ที่สังกัดเข้าไปพรรคละ 2 ครั้ง
ที่ผ่านมาเริ่มมีผู้แทนเพียง 1 คน เขตเดียว ก่อนจะขยายเพิ่มเป็น 2 เขต ต่อมาปรับปรุงเป็น 4 เขต และในปี พ.ศ.2544-48 มีมากถึง 5 เขต ปัจจุบันถูกหั่นให้เหลือเพียง 4 เขต เท่านั้น พรรคการเมืองที่ครองใจประชาชนมากในขณะนี้ ต้องยกให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งอดีตที่ผ่านมามีประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกไว้ ว่า พรรคการเมืองที่ได้ใจชาวบ้านไปนั้น เอาอะไรมาลงก็ชนะ ตัวอย่างเช่นปี 2550 มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 แทน นายแพทย์ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี กรณีพรรคไทยรักไทย (ทรท.)ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค หลังพรรค ทรท.ถูกยุบ ก็เกิดพรรคพลังประชาชนมาแทน คราวนั้นหาตัวนักการเมืองที่เป็นสมาชิกพรรค มีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครพนมไม่ได้ บังเอิญมีคนนครพนม ทำงานเป็น รปภ.อยู่ในห้างดังย่านลาดพร้าว เป็นสมาชิกพรรคเพียงรายเดียว ทางพรรคจึงนำมาสมัคร ส.ส.เขต 1 ขัดตาทัพ แข่งกับผู้สมัครจากพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่มีดีกรีเป็นถึงทนายความชื่อดัง ปรากฏว่านักการเมืองโนเนมจากพรรคพลังประชาชน เฉือนเอาชนะไปด้วยคะแนน 48,083 ต่อ 46,876 ห่างกันแค่ 1,207 คะแนน
จังหวัดนครพนมจึงเหมือนไข่แดงของคนเสื้อแดง จากสถิติย้อนหลังสมัยเป็นพรรค ทรท. ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ได้ ส.ส.ทั้ง 5 เขต พอถึงปี 2550 หลังเปลี่ยนมาเป็นพรรคพลังประชาชน มี ส.ส.2 เขต 4 คน ได้เข้าสภา 3 คน อีกหนึ่งถูกพรรคเพื่อแผ่นดินชิงตั๋วไปคือ นายแพทย์อลงกต มณีกาศ ได้แจ้งเกิดในนามนักการเมืองหน้าใหม่ ด้วยคะแนน 67,840 กระทั่งปี 2554 หลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ก็มาเป็นพรรคเพื่อไทย (พท.) มีผู้แทนได้ 4 เขต ก็สามารถยึดครองพื้นที่นครพนมได้ทุกเขต
จนมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 และรับสมัครรับเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รูปแบบการเลือกตั้ง ส.ส.เปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก ทำให้นักการเมืองมืออาชีพ ซอยพรรคให้เล็กลงเพื่อให้เข้ากับรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ย้ายไปตั้งพรรคย่อยบ้าง หรือออกไปซบพรรคอื่นเพื่อความปลอดภัย
หลังปิดรับสมัคร กกต.นครพนม ก็สรุปยอดผู้สมัครรวมทั้ง 4 เขต จำนวน 129 คน 34 พรรคการเมือง แต่ที่แข่งขันในสนามเลือกตั้งจริงๆ มีไม่ถึง 5 พรรค อาทิ พรรคเพื่อไทย แชมป์เข็มขัด 4 เส้น 4 เขต เมื่อครั้งที่แล้ว พรรคพลังประชารัฐ น้องใหม่ที่กระแสมาแรงทั้งประเทศ ตามด้วยพรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อคนไทยที่เป็นพรรคการเมืองที่คนจังหวัดนครพนมอย่าง ดร.วิทยา อินาลา อดีต ส.ว.เป็นผู้ก่อตั้ง
จึงขอวิเคราะห์การต่อสู้ในสนามเลือกตั้งทั้ง 4 เขต ว่า พรรคไหนเบอร์ใดตัวเต็ง ตัวชิง เริ่มจากเขต 1 เดิมเป็นพื้นที่ของ นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว อดีต รมช.เกษตรฯ เข้าสภาในนามพรรคความหวังใหม่ เมื่อปี 2544 ก่อนจะควบรวมเป็นพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนตามลำดับ
เหตุการณ์พลิกผันครั้งพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ครูแก้วย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย เพื่อสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี โดยครูแก้วได้ตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ใน ครม.เป็นรางวัล เมื่อถึงปี 2554 มีการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป พรรคเพื่อไทยคว้านายยุทธจักร เรืองวรบูรณ์ อดีตกำนันตำบลศรีสงคราม อ.ศรีสงคราม ลูกชายของ “กำนันโป้ย” นายอิทธิพล เรืองวรบูรณ์ อดีต ส.ว. มาเสียบแทน ผลการเลือกตั้งปรากฏว่านายยุทธจักรโค่นครูแก้วลงด้วยคะแนน 34,614 ต่อ 29,201
หลังแพ้เลือกตั้งแม้ไม่ได้เป็น ส.ส.ครูแก้วยังคงทำหน้าที่ประชาชนคนหนึ่ง ด้วยการช่วยเหลืองานกิจกรรมต่างๆ มีเวลาว่างก็ไปดูแลสวนยางพารา และปลูกเมล่อนแบบสวนปิด อยู่ด้านหลังตลาดโพธิ์สุ ได้ผลผลิตก็ออกวางจำหน่ายตามห้างดังใน กทม.หลายแห่ง
เขต 1 นี้ มีการชิงชัยกันถึง 3 พรรค เพราะนอกจากพรรคเพื่อไทยจะป้องกันแชมป์กับพรรคภูมิใจไทยแล้ว ยังมีพรรคพลังประชารัฐที่มีนายธงทิพย์ชลิต แห่สถิตย์ อดีตประธานสภา อบจ.นครพนม ที่เคยเป็นเด็กในคาถาของครูแก้ว เป็นตัวสอดแทรก
ฐานเสียงของนายยุทธจักรนั้นยังเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง เดิมคะแนนเหล่านั้นคือต้นทุนของครูแก้ว ที่มีสถิติบันทึกไว้ในปี 2550 ครูแก้วสังกัดพรรคพลังประชาชน ได้คะแนนอย่างถล่มทลายถึง 100,384 ซึ่งเป็นสถิติที่น่าภาคภูมิใจ เพราะเป็นผู้แทนคนแรกที่มีคะแนนทะลุแสน แต่หลังจากครูแก้วย้ายค่ายไปยกมือให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี คะแนนเหล่านั้นจึงโอนมาอยู่กับนายยุทธจักรโดยปริยาย ขณะที่ฐานเสียงของครูแก้วกับนายธงทิตย์ชลิตมาจากที่เดียวกัน เป็นกลุ่มคนบ้านเดียวกันที่ผูกพันกันมาแต่นานนม นอกเสียจากกลุ่มคนเสื้อแดงไม่เหนียวแน่น คลายความหายโกรธครูแก้วที่เคยแปรพักตร์ไปสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม โอกาสทองก็จะตกเป็นของเขาทันที วิเคราะห์เขตนี้นายยุทธจักรถ้าเรตติ้งไม่ตกน่าจะไม่เหนื่อยมาก ตรงกันข้ามครูแก้วกับนายธงทิพย์ชลิตหืดจับทั้งคู่
คราวนี้มาดูที่เขต 2 ซึ่งเป็นการชิงตั๋วเข้าสภา ไม่มีใครเปรียบเสียเปรียบเพราะเป็นหญิงทั้งคู่ แชมป์เก่านางมนพร เจริญศรี หรือเดือน เป็น ส.ส.ครั้งแรก ปี 2554 ถูกอุ้มเข้าสภาเพราะชื่อเสียงพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก เฉือนชนะคู่ชิงนายอารมณ์ เวียงด้าน หรือครูไก่ พรรคภูมิใจไทย ด้วยคะแนน 53,739 ต่อ 25,758 ต่อมาเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองไม่สงบ เธอเป็นผู้อยู่ในมุมมืด คอยส่งกำลังพลคนเสื้อแดงเข้าไปท่องยุทธจักรใน กทม. หลายครั้ง จนกระทั่งมีการยึดอำนาจจากคณะ คสช. เธอก็หายไปจากสารบบนักการเมือง
สำหรับคู่ชิงแต้มของแชมป์สนามเลือกตั้งเขต 2 ชื่อ น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ หรือผึ้ง พรรคพลังประชารัฐ หลานสาวคนสวยของพ่อใหญ่จิ๋ว พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ตั้งแต่พ่ายแพ้ ดร.สมชอบ นิติพจน์ ในเวทีเลือกนายก อบจ.นครพนม เมื่อปี 2555 เป็นต้นมา เธอยังคงเสมอต้นเสมอปลาย สะสมแต้มตุนไว้หลายปี ด้วยการออกเยี่ยมชาวบ้านอยู่เนืองๆ หาเครื่องอุปโภค บริโภค มอบให้ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุเป็นประจำ พร้อมยังช่วยเหลืองานสำคัญของจังหวัดมิได้ขาด ในรูปแบบต่างๆเช่นตั้งโรงทาน เป็นต้น จึงได้ใจชาวบ้านไปได้มากโข
วิเคราะห์เขต 2 คะแนนนิยมส่วนตัวน้องผึ้งมีเยอะเพราะเป็นคนขยัน และยังมีฐานคะแนนเสียงของ ดร.สมชอบ นิติพจน์ นายก อบจ.ฯ ที่อดีตเป็นคู่แข่งขับเคี่ยวกันในเวทีท้องถิ่น แต่คราวนี้หันมาสนับสนุนน้องผึ้งเพราะเห็นว่าเป็นมวยขยันออกอาวุธ สะสมคะแนนมาตั้ง 7 ปี ทำงานแบบสร้างสรรค์ สมเป็นคนรุ่นใหม่ ส่องกล้องแล้วน้องผึ้งมีโอกาสสูงที่จะหยิบปลาชิ้นมัน โค่นแชมป์เก่าที่มีเสียงปี่กลองการเมืองถึงจะออกมาพบประชาชน ตามสถานการณ์สนามนี้น่าจับตามองมากที่สุด
เข้าเกียร์โขยกมาที่เขต 3 เจ้าของแชมป์ผูกขาดถึง 10 สมัย นายไพจิต ศรีวรขาน งวดที่แล้วเป็นผู้แทนด้วยคะแนน 59,671 ทิ้งห่างคู่แข่งอย่างนางสุมาลี พูลศิริกุล พรรคภูมิใจไทย ชนิดไม่เห็นฝุ่น คราวนี้แชมป์ 10 สมัย เจอคู่ชิงกระดูกแข็งโป๊กคือ นายแพทย์ อลงกต มณีกาศ พรรคพลังประชารัฐ อดีต ส.ส.เขต 4 (พ.ศ.2550) ที่เข้าสภาในนามพรรคเพื่อแผ่นดิน ครั้งนี้ย้ายจากเขต 4 มาขยี้กับนายไพจิตในเขต 3 เหตุที่หมออลงกตกล้าย้ายจากเขต 4 มาอยู่เขต 3 เพราะคุณหมอเปิดคลินิกรักษาผู้ป่วยถึง 3 แห่ง เช่น อ.ธาตุพนม อ.ปลาปาก และ อ.เรณูนคร มีผู้ป่วยไปให้ตรวจรักษามากกว่าหมอคนไหนในจังหวัดนครพนม เพราะมีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ทันสมัย ราคาไม่แพงจนคนไข้ขยาด บางรายเงินน้อยคุณหมอก็ไม่คิดค่ารักษา เลยได้คะแนนจากตรงนี้มาก
วิเคราะห์สถานการณ์เขต 3 นายไพจิตมีคะแนนเก่าตุนอยู่ในกระเป๋า จากสถิติปี 2550 เคยได้คะแนนสูงถึง 78,836 ขณะที่หมออลงกตที่อยู่เขต 4 มีคะแนนอยู่ที่ 67,840 คู่นี้จึงพอฟัดพอเหวี่ยงกัน ใครจะเป็นม้าตีนปลายไม่ฝ่อไม่แผ่ว เพราะสูสีกันมาก
มาถึงเขต 4 นายชูกัน กุลวงษา ศิษย์รักของนายไพจิตผู้ผลักดันให้ลงในสนามใหญ่ ซึ่งปี 2554 เข้าป้ายในสีเสื้อพรรคเพื่อไทย ด้วยคะแนน 59,609 เฉือนหมออลงกตแชมป์เก่าที่ได้มา 21,939 ครั้งนี้นายชูกันย้ายจากเพื่อไทยไปซบพลังประชารัฐ ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ส่งนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลงประชันขันแข่ง ซึ่งนายชวลิตไม่เคยลงพื้นที่เขต 4 มาก่อน ประกอบกับชาวบ้านไม่รู้จักชื่อนายชวลิตด้วยซ้ำ ว่าเป็นใครมาจากไหน เหตุที่กล้าชนกับแชมป์เก่า เพราะชื่อพรรคของคนเสื้อแดงยังขายได้ ขณะที่นายชูกันหาเสียงแบบลูกทุ่ง อาศัยลงพื้นที่คลุกคลีกับชาวบ้านสม่ำเสมอ ดังนั้นการวิเคราะห์สนามนี้ นายชวลิตจะได้คะแนนจากชื่อพรรคเป็นหลัก ที่คนเสื้อแดงจะกากบาทให้ แต่คะแนนส่วนตัวสู้นายชูกันไม่ได้ สนามนี้ถ้าคนเสื้อแดงมองทะลุม่านกั้นได้ นายชูกันก็จะส่ายฮาวายเข้าสภาอีกครั้ง
สรุปการเลือกตั้ง ส.ส.นครพนม 62 พรรคเพื่อไทยเหนื่อยกว่าที่ผ่านมา เซียนการเมืองพยากรณ์ว่าอย่างน้อย 2 เขต ถูกพรรคอื่นยึดครองพื้นที่ได้ การประกาศได้ยกเขตครั้งที่แล้วไม่หมูในอวยแน่นอน
นอกจากนี้ยังมีอดีต ส.ส.ชื่อดัง อาทิ นายแพทย์ ประสงค์ บูรณ์พงศ์ อดีต รมต.หลายกระทรวง หลังถูกศิษย์รักแอบแทงข้างหลังทะลุอก ก็อำลาพรรคเพื่อไทยไปสังกัดพรรคเสรีรวมไทย ลงเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับ 5 และนายอรรถสิทธิ์ คันคาย ทรัพยสิทธิ์ หลังถูกตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี ในฐานะเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ก็เบนเข็มไปจัดรายการวิทยุเป็นงานอดิเรก ห่างเหินสภาหินอ่อนนานถึง 12 ปี ครานี้ลงบัญชีรายชื่อ ลำดับ 5 พรรคเพื่อคนไทย หรือ ดร.ภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย คราวแรกจะร่วมหัวจมท้ายกับพรรคเสรีรวมไทย แต่พอเอาเข้าจริงๆก็ไปอยู่พรรคเพื่อชาติ เป็นบัญชีรายชื่อ ลำดับ 9 ส่วนสีสันในสนามเลือกตั้ง ส.ส.นครพนม 62 โดดเด่นกว่าใครต้องยกให้เขต 2 นายเศวต ทินกูล หรือจิหล่อ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 50 (สสร.50) พรรคเพื่อชาติ ในสไตล์ดุดันมันทะลุฟ้า
ทั้งนี้และทั้งนั้นขึ้นอยู่ที่ชาวนครพนมว่า จะให้จังหวัดของตนเดินไปในทิศทางไหน
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » ภูมิภาค
Top 5 ข่าวภูมิภาค
![]()
- ศิษย์เศร้า! สิ้นหลวงปู่สมาน ถาวโร แห่งวัดป่าโนนสำนัก มรณภาพในวัย 82 ปี 15 ก.ค. 2568
- เลขเด็ดโค้งสุดท้ายคึก! เลขดัง “ฮาย-ต้นหอม-แม่น้ำหนึ่ง” เกลี้ยงแผง 15 ก.ค. 2568
- วัดสวรรคาราม จัดงานศพให้ผู้ยากไร้ฟรี! พระทำทุกอย่าง ทั้งเตรียมสถานที่ นำร่างบรรจุหีบศพ 15 ก.ค. 2568
- สุดยอดนวัตกรรม ม.นครพนมร่วม ทม.ฯ คัดแยกขยะจากพานบายศรี จากการบูชาพ่อปู่พญานาค รีไซเคิลเป็นกระดาษใยกล้วย 15 ก.ค. 2568
- รวบ 2 ผู้ต้องหา! ยึดยาบ้า 1.2 ล้านเม็ด คาด่านแม่สาย 15 ก.ค. 2568
ข่าวในหมวดภูมิภาค
![]()
“ปู่เดือนชัย” สับ! พระมีเมียไม่ใช่เรื่องใหม่ แนะสึกดีกว่าทำเสื่อม 21:55 น.
- โจรบุกวัดฉกตู้บริจาค ทิ้งไว้แค่หมวกไอ้โม่ง! 21:16 น.
- พะเยา คณะสงฆ์แห่เครื่องสักการะกลางเมืองถวายมุทิตา 90 ปี พระเทพญาณเวที 20:53 น.
- หยุดยาว! นนท.ทั่วสารทิศ ขอพรโชคลาภปู่ท้าวเวชสุวรรณแน่นวัดประทุมบูชา เผยงวดที่ผ่านมามีคนถูกรางวัลที่ 1 20:05 น.
- บุรีรัมย์กวาดรถซิ่ง 43 คัน ผู้การฯเตือนแข่งต้องอยู่ในสนาม 19:14 น.