วันศุกร์ ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 02:59 น.

ภูมิภาค

นมัสการ“พระเหลาเทพนิมิต” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่เมืองพนา จ.อำนาจเจริญ

วันศุกร์ ที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 14.16 น.

นมัสการ“พระเหลาเทพนิมิต”
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่เมืองพนา จ.อำนาจเจริญ

    

ในช่วงวันหยุดยาว 3 วัน(เสาร์,อาทิตย์,จันทร์) ขอเชิญชวน พุทธศาสนิกชน ไปสักการะพระพุทธรูปและขอพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์  ในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นมงคลชีวิต ให้เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานนั่นเอง
    

โดยเริ่มต้นจาก ตัวเมืองอำนาจเจริญ ไปทางทิศใต้ ตามถนนสายหลักชยางกูร(อำนาจ –อุบลราชธานี) ถึง อ.ลืออำนาจเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายรอง(ลืออำนาจ-พนา) ประมาณ 42 กิโลเมตร เข้าเขตเทศบาลตำบลพนา  อ.พนา จ.อำนาจเจริญ ก็จะพบเห็นซุ้มประตูที่มีรูปปั้นช้าง 2เชือกอยู่ 2 ข้างและป้ายบอกชื่อ วัดพระเหลาเทพนิมิต ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 7 ไร่เศษ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ  สังกัดมหานิกาย

 

 

สำหรับ วัดพระเหลาเทพนิมิต สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2263 ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ เดิมชื่อวัดศรีโพธิ์ชยารามคามวดี ต่อมา เปลี่ยนเป็น วัดพระเหลาเทพนิมิต ตามนาม พระประธานในอุโบสถ คือ พระเหลาเทพนิมิต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย สูง 2.70 เมตร หน้าตักกว้าง 2.85 เมตร มีพุทธลักษณะตามแบบศิลปะลาว สกุลเวียงจันทน์
    

พระเหลาเทพนิมิต มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในภาคอีสาน  จึงได้รับขนานนามว่า พระพุทธชินราชแห่งภาคอีสาน ชาวบ้านเรียกพระเหลา หมายถึง งดงาม ราวกับสลักเหลากับมือ ไม่เหมือนพระปูนทั่วไป เป็นที่มาของพระเหลา ซึ่งเค้าพระพักตร์ สัดส่วนของพระเพลาและพระบาท ซึ่งคล้ายคลึงกับพุทธศิลป์ที่ปรากฏอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปไม้และสำริด โดยเฉพาะรอบๆอุโบสถที่ประดิษฐานพระเหลาเทพนิมิต ก็จะพบเห็นใบเสมาหินผุดขึ้นมาจากพื้นดิน จำนวน 26 ใบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับเสมาหินในเขตวัดโพศิลา ต.เปือย อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ

 


   

ส่วนหอแจก(ศาลาการเปรียญ) อยู่ห่างกับอุโบสถ ประมาณ 5 เมตร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนหมัก  ซึ่งด้านหน้ามีป้ายบอกประวัติเรื่องราวการก่อตั้งหมู่บ้านพนาว่า เมื่อปี พ.ศ.2254 พระครูธิ เจ้าอาวาสวัดพระเหลา เป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้านพนา พร้อมกับก่อสร้างสิม(อุโบสถ)และหอแจก(ศาลาการเปรียญ) ปี พ.ศ.2463 ส่วนสิม(อุโบสถ) และหอแจก(ศาลาการเปรียญ)ที่บันไดทางขึ้นทั้ง 2 ข้าง จะตกแต่งด้วยรูปปั้นของมกรคาบนาถรูปแบบเดียวกันจนปัจจุบัน ทั้งสิมและหอแจกจะมีลักษณะเป็นไม้และมุงแป้นไม้ ฐานก่ออิฐถือปูนทั้ง 2 หลัง ฐานแอวขันปากพานโบกคว่ำโบกหงาย หลังคาทรงปั้นหยาหน้าจั่วปีกนกมีมุก ภายในศาลาโล่ง เสาเป็นเสาก่ออิฐฉาบปูนและมีบัวที่ฐานและหัวเสา ฝ้าเพดานและเครื่องหลังคาทำด้วยไม้ เชิงชายตกแต่งด้วยไม้ฉลุลวดลายยอดและหางขึ้นลงตกแต่งด้วยไม้กลึง ซึ่ง กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน วัดพระเหลาเทพนิมิต ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 520 ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
   

นอกจากนี้ ไปตามทางหลวงชนบท ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างตัวเมืองพนา ประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณทางโค้งเข้าหมู่บ้านโพนเมือง ก็จะพบเห็นเนินดินรูปร่างยาวรีสูงประมาณ 4 เมตร มีขนาดประมาณ 300 – 400 เมตร ก่อนถึงหมู่บ้านโพนเมือง ต.ไม้กลอน อ.พนา จ.อำนาจเจริญ เรียกว่า แหล่งโบราณคดีบ้านโพนเมือง โบราณวัตถุที่สำรวจพบ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผา ลูกปัดหินและแก้วโบราณ ที่ทำมาจากทองเหลือง โครงกระดูกมนุษย์และเสมาหินทรายอายุกว่า 100 ปี

 


    

จากนั้นเดินทางเข้าไปหมู่บ้านโพนเมือง ต.ไม้กลอน อ.พนา จ.อำนาจเจริญ ไปตามป้ายบอก ก็จะถึงวัดไชยาติการาม เพื่อไปกราบพระพุทธรูปเก่าแก่ จำนวน 4 องค์  พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในกุฏิ เจ้าอาวาสวัดไชยาติการาม  ซึ่งพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทั้ง 4 องค์ 3 องค์แบบปางมารวิชัย และแบบปางห้ามญาติ อีก 1 องค์ ตั้งอยู่บนฐานสูงประมาณ 60 เซนติเมตร จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะลาว สกุลช่างเวียงจันทน์ เปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่ระเบียงหอพระแก้วเมืองเวียงจันทน์ และพระพุทธรูปที่วัดวิชุล เมืองหลวงพระบาง มีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึง พุทธศตวรรษที่ 23 อายุ ประมาณ 300 ปี ชาวบ้านนิยมเข้ามากราบไหว้ขอโชคลาภ และช่วยให้ก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองในการงานด้วย
    

สำหรับประวัติพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ที่วัดไชยาติการาม ซึ่งเล่าต่อๆกันมาว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมมหากษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี  ครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ยกทัพไปปราบนครเวียงจันทน์ โดยให้ท้าวคำผง หรือปทุมวรราชสุริยวงศ์ เจ้าเมืองคนแรกของ จ.อุบลราชธานี เกณฑ์ไพร่พลที่เจนศึกเข้าร่วมทำศึกด้วย ซึ่งชาวบ้านโพนเมืองก็เป็นนักรบ ได้นำช้างจำนวน 20 เชือก พร้อมไพร่พลรบจำนวนหนึ่งเข้าร่วมปราบปรามนครเวียงจันทน์

 


หลังจากได้รับชัยชนะ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่กรุเทพมหานคร ส่วนพระพุทธรูปองค์อื่นรวมถึงทรัพย์สินทางพุทธศาสนา ได้พระราชทานให้เหล่าขุนศึกนำไปแบ่งปันแก่ไพร่พล ทำให้ชาวบ้านโพนเมือง ได้รับ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางต่างๆ จำนวน 5 องค์ ในจำนวนนี้ มีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัยรวมอยู่ด้วย เพื่อให้ผู้คนได้กราบไหว้บูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล อยู่เย็นเป็นสุขด้วย
   

ทว่าปัจจุบัน พระพุทธรูปสัมฤทธิ์เหลือเพียง 4 องค์ ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนทาง อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี(อดีตบ้านโพนเมืองขึ้นอยู่ในเขตปกครองของ อ.ตระการพืชผล) ขอไปประดิษฐาน ณ.ที่ว่าการอำเภอตระการพืชผล 1 องค์ และไม่ได้นำกลับมาอีกเลย
   
    

นอกจากนี้ นักรบชาวบ้านโพนเมือง ยังได้ตู้เก็บพระไตรปิฎก พร้อมพระไตรปิฎกอักษรธรรม(ตัวอักษรไทยน้อย) จำนวนหลายสิบใบ แต่ปัจจุบันพระไตรปิฎกได้เสียหายทั้งหมด จึงเหลือเพียงตู้เก็บพระไตรปิฎกอยู่ใบเดียว

 


   

ต่อมา ชาวบ้านโพนเมือง ได้อันเชิญ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทั้ง 4 องค์ ไปประดิษฐานในวัดโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านโพนเมือง ที่ญาคูขี้หอม หรือญาท่านสังฆราชเจ้าโพนสะเม็กเป็นผู้สร้างวัดนี้ กระทั่งปี พ.ศ.2483 พ่อท่านสอน เจ้าอาวาส ได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดไชยาติการาม เนื่องจากชื่อเดิมซ้ำกับวัดอื่นหลายแห่ง ส่วนพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ ตั้งประดิษฐานอยู่ภายในศาลาไม้ แต่ว่า ปัจจุบันนี้ ได้นำพระพุทธรูป 4 องค์ไปประดิษฐานภายในกุฏิเจ้าอาวาส เพื่อป้องกันการถูกลักขโมย หากมีวันสำคัญทางศาสนา ก็จะอันเชิญออกมาให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้บูชา  ที่ผ่านมามีพุทธศาสนิกชนเข้ามากราบไหว้บูชาขอพรเป็นประจำและสมใจปรารถนาทุกประการ โดยเฉพาะในช่วงสมโภช เดือน มีนาคม จะมีผู้คนเข้ามาร่วมงานจำนวนมาก
    

สำหรับพระเหลาเทพนิมิตหรือพระพุทธชินราชแห่งภาคอีสาน เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสามของทุกปี เทศกาลปิดทององค์พระเหลาเทพนิมิต ซึ่งจะมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาจากทั่วสารทิศหลั่งไหลกันมาทำบุญ บำเพ็ญบุญและแก้บน โดยนำปราสาทผึ้งมาถวายและทอดถวาย กลายเป็นประเพณีสืบทอดกันมาช้านาน

 


สนธยา ทิพย์อุตร/อำนาจเจริญ รายงาน

 

หน้าแรก » ภูมิภาค