วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 09:23 น.

ภูมิภาค

ท่องเที่ยวหน้าฝน ยลธรรมชาติ ที่อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย

วันศุกร์ ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 23.05 น.

ท่องเที่ยวหน้าฝน ยลธรรมชาติ
ที่อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย


อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอบุณฑริก อำเภอนาจะหลวย และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาวและประเทศกัมพูชา พื้นที่ป่าอยู่ในส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรักประกอบด้วยภูเขาภูเล็กภูน้อยมากมาย เช่น ภูจองนายอย ภูจองน้ำซับ ภูจอง ภูจันทร์แดง ภูพลาญสูง ภูพลาญยาว เป็นต้น มีสภาพป่าสมบูรณ์ สภาพธรรมชาติที่สวยงาม และมีสัตว์ป่าชุกชุม มีเนื้อที่ประมาณ 428,750 ไร่ หรือ 686 ตารางกิโลเมตร และ เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 53 ของประเทศ โดยที่ตั้ง ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 ต.นาจะหลวย อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี

 

            

อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย มีเนื้อที่ครอบคลุมบางส่วนของอำเภอบุณฑริก อำเภอนาจะหลวย และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย พื้นที่ป่าอยู่ในส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรักพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ และเนินเขาซึ่งลาดไปทางทิศใต้ ประกอบด้วยภูเขาเล็ก ๆ สลับซับซ้อนมากมาย เช่น ภูจองนายอย ภูจองน้ำซับ ภูจันทร์แดง ภูพลาญยาว มีความสูงเฉลี่ยประมาณ 300 – 600 เมตร จากระดับน้ำทะเลสภาพป่าโดยทั่วไปเป็น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง มีพรรณไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น ประมาณ 75 % ของพื้นที่ อุทยานแห่งชาติภูจองนายอยมีสภาพธรรมชาติที่งดงาม มีสภาพป่าสมบูรณ์ ในพื้นที่พบ “ ต้นจอง ” หรือต้นสำรองจำนวนมากอันเป็นที่มาของชื่ออุทยาน ฯ ส่วน “ นายอย ” มาจากคำว่า น้ำย้อย ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งต้นน้ำลำธาร มีน้ำไหลย้อยลงมาตามเพิงผาที่อยู่ใกล้น้ำตก และมีลำน้ำสายน้ำสำคัญต่าง ๆ เช่น ลำโดมน้อย ลำโดมใหญ่และห้วยหลวง เป็นต้น ภายในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอยนอกจากยังคงสภาพเป็นป่าทึบและมีสัตว์ป่าชุกชุมแล้ว ยังมีสภาพภูมิประเทศและแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย สภาพป่าของอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย สามารถแบ่งออกเป็นป่าชนิดต่างๆ โดยอาศัยปัจจัยทางสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ ลักษณะดินและลักษณะเด่นของพืชพรรณ เช่น  ป่าเต็งรัง ลักษณะทั่วไปของป่าเป็นป่าโปร่ง ดินไม่ค่อยสมบูรณ์ หน้าดินตื้น ต้นไม้มีขนาดเล็ก ยกเว้นบางพื้นที่มีหน้าดินหนาและไม่ถูกรบกวนมากนัก ต้นไม้จึงจะมีขนาดใหญ่และขนาดกลางผสม พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง พะยอม เหียง กราด และ ป่าเบญจพรรณ หรือ เรียกป่าผสมผลัดใบ นอกจากนี้ยังมี ป่าดิบแล้ง

 

 

เนื่องจากสภาพป่าของอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก และมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศลาวและกัมพูชา จึงเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่าเป็น จำนวนมาก เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น เลียงผา กวางป่า เก้ง กระจงเล็กหมูป่า ชะมด หมีขอ หมาใน หมูหริ่ง กระต่ายป่า ชะนี กระทิง ฯลฯ สัตว์จำพวก นก พบว่ามีจำนวนประมาณ 150 ชนิด ที่สำคัญได้แก่นกเป็ดก่า ส่วน สัตว์เลื้อยคลาน จะพบ ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่า เต่าเหลือง แย้ขีด งูหลาม งูจงอาง งูเห่า ฯลฯ นอกจากนี้ยังมี สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก เช่น คางคกบ้าเขียดหลังขีด กบนา เขียดตะปาด เป็นต้น  

 

 

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ สวยงามและมีชื่อเสียง บนอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ได้แก่ น้ำตกห้วยหลวง ซี่งเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เกิดจากลำธารห้วยหลวงไหลตกจากหน้าผาที่มีความ สูง ประมาณ 45 เมตร เบื้องล่างมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ พื้นน้ำเป็นสีเขียวมรกต และมีหาดทรายขาวสะอาดเหมาะสำหรับการลงเล่นน้ำ ด้านบนมีจุดชมทิวทัศน์และถ่ายภาพ ด้านล่างมีบันไดสำหรับขึ้นลงจำนวน 272 ชั้น ตัวน้ำตกอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 3 กม. รถยนต์สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกด้วยทางลาดยางอย่างดี ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวอยู่ ระหว่าง เดือนสิงหาคม – เดือนกุมภาพันธ์   นอกจากนี้ยังมี น้ำตกประโอนละออ อยู่ถัดลงมาด้านล่างของน้ำตกห้วยหลวง ห่างจากน้ำตกห้วยหลวงประมาณ 100 เมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่สวยงามมีแอ่งน้ำที่เหมาะสำ หรับลงเล่นและนวดตัวด้วยสายน้ำ ประเภทแก่ง ก็มี แก่งกะเลา เป็นแก่งหินกลางลำธารห้วยหลวงที่มีธารน้ำไหลแผ่กว้างไปตามลานหิน บรรยากาศร่มรื่นไปด้วยพรรณไม้นานาชนิดและหมู่ผีเสื้อที่บินว่อนทั่วบริเวณเหมาะแก่การศึกษาธรรมชาติ และลงเล่นน้ำอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2.5 กม. รถยนต์เข้าถึงได้ เป็นแก่งหินกลางป่าที่งดงามด้วยสายน้ำ เป็นจุดที่มีพืชพันธุ์สมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและเป็นจุดเริ่ม ต้นกิจกรรมการ “ล่องแพ” โดยเฉพาะในฤดูที่มีน้ำ การล่องแพหรือพายเรือแคนูไปตามลำห้วยหลวงระยะทางประ มาณ 800 เมตร ใช้เวลาไปกลับประมาณ 2 ชั่วโมง กับบรรยากาศที่สงบเงียบ น้ำใสเย็น ท่ามกลางหมู่แมกไม้เขียวขจี คงความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ “แก่งสามพันปี” แห่งนี้อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร เข้าถึงได้ด้วยรถยนต์หรือด้วยการเดินป่าไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งตลอดเส้นทางจะผ่านผืนป่าที่ร่มครึ้ม บริเวณริมฝั่งลำห้วยหลวงจะพบต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ส่วนใหญ่จะพบได้เฉพาะในพื้นที่ที่อยู่สูงจาระดับน้ำทะเลมาก ๆ เท่านั้น ได้แก่ต้น “สนสามพันปี ” ด้วย ส่วนอีกแก่งที่น่าเที่ยวได้แก่ แก่งศิลาทิพย์ เป็นแก่งขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2 . 9 กิโลเมตร เกิดจากลำธารห้วยหลวงไหลผ่านลานหินทราย ผ่านแหล่งหินหักลงเป็นขั้น จนเกิดเป็นน้ำตกขนาดเล็ก บริเวณลานหินกลางลำธารเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “กุมภลักษณ์” คือหินถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนเกิดเป็นหลุมกลมมากมายขนาดเล็กใหญ่ตื้นลึกแตกต่างกันไปตามความแรงของสายน้ำดูสวยงามแปลกตายิ่งนัก  นอกจากนี้ยังมี น้ำตกเกิ้งแม่ฟอง ซึ่งอยู่กลางป่าลึกอันอุดมสมบูรณ์ เป็นน้ำตกที่เกิดจาก ลำโดมน้อย โดยสายน้ำไหลผ่านลานหินแล้วตกลงจากหน้าผาที่มี ความสูงประมาณ 10 เมตร ในช่วงฤดูฝนจะมีพืชจำพวกมอสเฟิร์น ขึ้นเขียวครึ้มทั่วทั้งบริเวณโขดหิน ภายใต้ร่มไม้ใหญ่และภายใต้เพิง ผาจะมีทางเดินลอดใต้ม่านน้ำข้ามไปยังโขดหินฝั่งตรงข้ามซึ่งมี ทัศนียภาพที่สวยงามแปลกตา นอกจากนั้นยังอุดมไปด้วยผีเสื้อนานาชนิด น้ำตกเกิ้งแม่ฟองแห่งนี้อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 10 กม. เข้าถึงได้ด้วยรถขับเคลื่อนสี่ล้อและการเดินเท้า
 

 

 

แต่ถ้าหากนักท่องเที่ยวชื่นชอบประเภท ลานหินหรือลานทุ่งกว้าง ต้องเที่ยวชม พลาญกงเกวียน ซึ่งเป็นลานหินกว้าง ที่ด้านหน้ามีกลุ่มหินลักษณะเป็นเพิงตามธรรมชาติ มีดอกไม้ป่าและพันธุ์ไม้ขึ้นสลับกันเป็นหย่อม ๆ มีประวัติความเป็นมาว่า ในอดีตนักเดินทางได้ใช้ประโยชน์จากเพิงหินเหล่านี้สำหรับกำบังแดดและฝน เปรียบเพิงหินเสมือน “กงเกวียน” หรือ “ พวงเกวียน” จึงเป็นที่มาของชื่อ “พลาญกงเกวียน” โดยพลาญ หมายถึง บริเวณที่เป็นลานกว้าง และกงเกวียนซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่าพวงเกวียน หมายถึงประทุ่นหรือกระทุนของเกวียน ส่วนอีกที่คือ พลาญป่าชาด อยู่ระหว่างเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติมีลักษณะเป็นลานหินสลับด้วยทุ่งดอกไม้นานาชนิด(ดอกหญ้าต่าง ๆที่ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ เช่น มณีเทวา ดุสิตา สรัสจันทร เป็นต้น) บางส่วนเป็นผืนป่าเต็งรังขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยต้นยาง-เหียงหรือต้นชาด ที่มาของชื่อ “ พลาญป่าชาด ”บริเวณกลางป่าจะมีลำธารซึ่งสร้างความ ชุ่มชื้นและเป็นจุดกำเนิดของน้ำตก “ พลาญป่าชาด ” นับเป็นเส้นทางเดินป่าที่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้ดอกและพืชพันธุ์หลากหลายชนิด หรือจะเที่ยวชมพูหิน ก็ต้องที่ ภูหินด่าง เป็นภูเขาหินทรายที่ประกอบไปด้วยป่าลานหินที่มี ลักษณะทางธรณีวิทยาที่สวยงามแปลกตา แตกต่าง จากที่อื่น ได้แก่ ลานหินงอก ลานหินเป็นระแหง แอ่งหินเว้า และ ร่องหินแยก ตามเส้นทางเดินป่าไปสู่ยอดภูเต็มไปด้วยต้นกล้วยไม้ป่านานาชนิดและดอกไม้หลากสีที่ขึ้นอยู่ตามลานหินแตกต่างกันตามฤดูกาล จากจุดชมวิวบริเวณหน้าผาสามารถมอง เห็นพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้ารวมทั้งทะเลหมอกในฤดูหนาว ชมทัศนียภาพที่สวยงามแปลกตาของพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงและสภาพป่าในเขตประเทศลาวและกัมพูชาที่อยู่เบื้องล่าง ที่ผนังหินใต้เพิงผาปรากฏแถบสีแดงและสีชมพูอยู่หลายแห่ง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ภูหินด่าง” ภูหินด่างแห่งนี้เหมาะสำหรับการกางเต็นท์พักแรม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 51 กิโลเมตร โดยการเดินทางเข้าภูหินด่างต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางและยานพาหนะของอุทยานฯ

 


 

จุดที่ไม่ควรพลาดของนักท่องป่า ได้แก่ เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ที่มีอยู่ 3 เส้นทาง ให้เลือก คือ เส้นทางที่ 1  เป็นเส้นทางเดินป่าน้ำตกห้วยหลวง มีระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่บริเวณน้ำตกห้วยหลวง การเดินจะเริ่มจากบริเวณลานจอดรถยนต์ ผ่านป่าดิบแล้งริมห้วยหลวง ซึ่งเป็นสายธารของน้ำตกห้วยหลวง สิ้นสุดที่บริเวณหลังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว  เส้นทางที่ 2  เป็น เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติสามพันปี มีระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเดินป่าที่ผ่านสภาพป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และพันธุ์ไม้ดอกหลากชนิด เป็นบริเวณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก เริ่มจากผลาญป่าชาดไปสิ้นสุดที่น้ำตกห้วยหลวง  และ เส้นทางที่ 3 คือ เส้นทางการเดินป่าศึกษาธรรมชาติแก่งศิลาทิพย์ ระยะทาง 2.9 กิโลเมตร ผ่านป่าหลากหลายชนิด ทั้งป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และทุ่งดอกหญ้านามพระราชทานต่างๆ เริ่มจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ไปสิ้นสุดที่แก่งศิลาทิพย์
 

 

 

นอกจากนี้ หากนักท่องเที่ยว ต้องการพักแรมที่ อุทยานฯ ดังกล่าว ทางอุทยานฯ ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งห้องประชุมสัมมนา หรือที่พัก แบบรีสอร์ทหรู และสถานที่กางเต็นท์  เอาไว้ต้อนรับมากมาย และ หากท่านใดไม่เคยไป ก็ขอบอกเส้นทางเข้าสู่อุทยานฯ สองเส้นทาง ดังนี้ คือ เมื่อออกจากตัวเมืองอุบลราชธานี ใช้เส้นทางสายอุบลราชธานี-เดชอุดม-นาจะหลวย ประมาณ120 กิโลเมตร และพอถึงอำเภอนาจะหลวย ขับรถเลยออกไปตามเส้นทางนาจะหลวย - น้ำยืน ประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะพบป้ายบอกทางเข้าอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตรก็ถึงที่ทำการอุทยานฯ หรือจะใช้เส้นทางที่มีคนใช้กันมากที่สุดก็คือ ใช้เส้นทางสายอุบลราชธานี-เดชอุดม-น้ำยืน-นาจะหลวย ประมาณ140 กิโลเมตร และก่อนถึงอำเภอนาจะหลวย ประมาณ 10 กิโลเมตร จะพบทางแยกและมีป้ายบอก ขึ้นเขาเพื่อเข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย จากทางแยกไป ที่ทำการอุทยาน ระยะทางประมาณ  8 กิโลเมตร เป็นทางคดเคี้ยว เลี้ยวชัน ขอให้ทุกท่านขับรถด้วยความระมัดระวัง หากมีข้อสงสัยประการใด หรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม ก็โทรศัพท์สอบถามรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หรือที่ทำการอุทยานฯ ภูจองนายอย  หมายเลขโทรศัพท์ 045 249 330 - 2 ได้ทุกวัน

 


กิตติภณ เรืองแสน / อุบลราชธานี / รายงาน.

 

หน้าแรก » ภูมิภาค