วันจันทร์ ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 14:08 น.

ภูมิภาค

นอภ.พิชัยร่วมพิธีเทวาภิเษก เหรียญท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก

วันพฤหัสบดี ที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562, 15.20 น.

นอภ.พิชัยร่วมพิธีเทวาภิเษก
เหรียญท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก

 


นายอำเภอพิชัย ร่วมพิธีเทวาภิเษกเหรียญท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก/หลังหมื่นหาญณรงค์ รุ่นมงคลชัย เพื่อร่วมบุญกฐินวัดขวางชัยภูมิ และ สมทบทุนในการเททองหล่อรูปเหมือนท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก  รุ่น 237 ปี “ พ่อ ” กลับบ้านเกิด
 

 

อุตรดิตถ์ : เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 นายปรัชญา เสริฐลือชา นายอำเภอพิชัย ร่วมพิธีเทวาภิเษกเหรียญท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก/หลังหมื่นหาญณรงค์ รุ่นมงคลชัย เพื่อร่วมบุญกฐินวัดขวางชัยภูมิ และ สมทบทุนในการเททองหล่อรูปเหมือนท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก รุ่น 237 ปี “ พ่อ ”กลับบ้านเกิด ในวันที่ 26 ธันวาคม 2562  เพื่อหาทุนทรัพย์ปฏิสังขรณ์บ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก พร้อมจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ตลอดจนเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยมีพระปัญญากรโมลี เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานพิธี(ฝ่ายสงฆ์)  ณ วัดขวางชัยภูมิ ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

 


พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อ จ้อย เกิดที่บ้าน ห้วยคา อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2284 ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ศึกษาอยู่กับท่านพระครูวัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลัง จ้อยได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี หรือ ทองดีฟันขาว มีความสามารถทั้งทางเชิงมวยและเชิงดาบ เข้ารับราชการกับพระเจ้าตากสิน ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก ต่อมานายทองดีได้รับ แต่งตั้งเป็นองค์รักษ์มีบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงพิชัยอาสา"

 


นายทองดีได้รู้จักกับพระยาตากในงานรื่นเริงเนื่องในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระยาตากพอใจในการใช้ท่าต่อสู้ที่พลิกแพลงด้วยไหวพริบของนายทองดี จนสามารถเอาชนะครูมวยที่ชื่อห้าวได้ พระยาตากสนับสนุนให้นายทองดีเข้ารับราชการจนได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิชัยอาสา ต่อมาในปี พ.ศ.2301 เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นหลวงพิชัยอาสามีโอกาสติดตามพระยาตากไปทำสงครามด้วยความกล้าหาญ จนเมื่อพระยาตากขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ จึงโปรดเกล้าฯเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาสีหราชเดโช และ พระยาพิชัยตามลำดับ และ ทรงมอบหน้าที่ให้คุมทหาร 9,000 คน มารักษาการเมืองพิชัยและมอบอำนาจให้ประหารชีวิตคนได้ และ แต่งตั้งให้เด็กบุญเกิดเป็นหมื่นหาญณรงค์ เมื่อไปอยู่เมืองพิชัย

 

 

“พระยาพิชัยได้แสดงความกตัญญูโดยอุปการะเลี้ยงดูมารดาตนเป็นอย่างดี และ นำข้าวของเงินทองไปตอบแทนพระคุณครูมวยทั้ง 2 คน พร้อมทั้งแต่งตั้งให้เป็นกำนัน ในปีนั้นพม่าได้ยกทัพมาตีเมืองสำคัญทางภาคเหนือตามความคาดหมายของพระเจ้ากรุงธนบุรี พระยาพิชัย และหมื่นหาญณรงค์ เข้าต่อสู้ศึกด้วยความสามารถ และหมื่นหาญณรงค์ต้องถูกฟันเสียชีวิตเนื่องจากเอาตัวเข้าป้องกันพระยาพิชัยไว้ พระยาพิชัยตกใจและโกรธพม่ามากจึงได้ใช้ดาบไล่ฆ่าฟันพม่าจนดาบหัก แต่ก็ยังคงใช้ทั้งดาบดี และ ดาบที่หักรุกไล่ฆ่าฟันพม่าจนแตกพ่ายไป ตั้งแต่นั้นมาพงศาวดารก็เรียกท่านว่า “ พระยาพิชัยดาบหัก”  ภายหลังเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จสวรรคตแล้ว พระยาพิชัยก็ได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ แต่บุตรหลานของท่านยังคงรับราชการในราชวงศ์จักรีสืบมาด้วยความจงรักภักดี จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ผู้ที่สืบเชื้อสายของท่านก็ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “ วิชัยขัทคะ ”

หน้าแรก » ภูมิภาค