วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 06:13 น.

ภูมิภาค

ทส.รุกสร้างพื้นที่สีเขียวเมืองนนท์ ลดฝุ่น PM 2.5

วันอาทิตย์ ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563, 09.05 น.

 

 

วันที่ 15 ก.พ. 63 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดมลพิษจากฝุ่นละออง (101,010 นนทบุรี) พร้อมมอบพันธุ์กล้าไม้ และปลูกต้นไม้ร่วมกับนายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหารทส. ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 หน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรี โดยตั้งเป้าหมายปลูกต้นไม้ให้ครบ 101,010 ต้น ภายในปี 2563 เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ทั่วจังหวัดนนทบุรี แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5
       

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ“การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศและพื้นที่วิกฤติ โดยกิจกรรมการปลูกต้นไม้ในวันนี้ถือเป็นการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้หลายอย่าง ทั้งการดักจับฝุ่นและมลพิษทางอากาศ การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และผลิตออกซิเจน รวมถึงช่วยลดการใช้พลังงานจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและลดอุณหภูมิบริเวณโดยรอบ ทำให้สิ่งแวดล้อมของประเทศดีขึ้น ลดผลกระทบต่อสุขภาพและส่งต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับลูกหลานต่อไป
     

 

แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ“การแก้ไข ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เป็นการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วนด้วย 3 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (การแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและในช่วงวิกฤต ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน) ใช้ระบบบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ หรือ Single Command ให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดมีอำนาจในการสั่งการแก้ปัญหาให้ทันท่วงที มาตรการที่ 2 ป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง ทั้งจากยานพาหนะ การเผาในที่โล่ง การก่อสร้างและผังเมือง โรงงานอุตสาหกรรม และครัวเรือน  และ มาตรการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ การพัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น เพิ่มประสิทธิภาพและเทคโนโลยีการตรวจวัด พัฒนาระบบฐานข้อมูลและผลกระทบต่อสุขภาพ ตลอดจนเพิ่มเครือข่ายติดตามตรวจสอบให้ครอบคลุม 77 จังหวัด ภายในปี 2567.

 

 

 

 

 

หน้าแรก » ภูมิภาค