วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 06:31 น.

ภูมิภาค

พ่อเมืองประจวบฯ เข้มสั่งปิดโรงแรม -ไม่สวมหน้ากากปรับ 2 หมื่น

วันเสาร์ ที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2563, 11.36 น.
วันที่ 4 เมษายน นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า หลังจากมีคำสั่งให้ปิดสถานที่ชุมนุมชนและสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดต่างๆไว้เป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 และกำหนดมาตรการให้คนต่างด้าวไม่รวมสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มารายงานเพื่อตรวจสอบคัดกรองโรค ล่าสุดได้ลงนามในคำสั่งเพิ่มเติม ให้ทุกอำเภอจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัดในพื้นที่ตำบล หมู่บ้านชุมชน ที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เพื่อสกัดกั้นการเข้า-ออก ของบุคคลที่มีความเสี่ยง กรณีมีเหตุสงสัยว่าเป็นผู้ป่วยโรคโควิด 19 ให้ดำเนินการกักตัว คุมตัวไว้สังเกตอาการ และให้มารับการตรวจตาม พรบ.โรคติดต่อ
 
“ให้ปิดโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 ทุกประเภท และสถานประกอบการที่ให้บริการในลักษณะเดียวกัน ยกเว้นโรงแรมที่ราชการใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม หรือสถานที่พักเพื่อสังเกตอาการ หรือใช้เพื่อประโยชน์อื่นในทางราชการ ในการแก้ไขปัญหาจากโรคโควิด 19 สำหรับโรงแรมที่มีผู้เข้าพักอยู่ก่อนจะมีคำสั่ง ให้ผู้เข้าพักสามารถเข้าพักต่อไปได้จนกว่าผู้เข้าพักจะแจ้งออกจากห้องพักจนหมด แล้วให้ปิดทันทีโดยไม่ให้มีการรับผู้เข้าพักเพิ่มอีก และให้โรงแรมที่ยังมีนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางเข้าพักแจ้งจำนวนและรายชื่อผู้เข้าพัก พร้อมทั้งวันที่ครบกำหนดที่ต้องออกจากห้องพักให้อำเภอทราบ นอกจากนั้นได้กำหนดให้ประชาชนในเขตจังหวัดทุกคน ต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง หากฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 20,000 บาท”
 
นอกจากนี้ห้ามเรือที่แจ้งออกมาจากต่างจังหวัด เข้าท่าในเขตจังหวัด ยกเว้นมีเหตุจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัย กรณีเรือประมงพื้นบ้านที่จะออกทำการประมงในห้วงเวลาเคอร์ฟิว ให้แจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อแจ้งการเข้า-ออกในพื้นที่ ส่วนการทำเกษตรในช่วงเคอร์ฟิว เช่น ประมง ให้ขออนุญาตโดยวาจากับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ในพื้นที่
 
ด้านนายนิพนธ์ สุวรรณนาวา ประธานมูลนิธิสว่างประจวบธรรมสถาน อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้แจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัยจิตอาสา ยุติการปฏิบัติหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน ตามพระราชกำหนด( พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่เวลา 22.00 – 04.00 น. เนื่องจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยของมูลนิธิในฐานะองค์กรสาธารณกุศลไม่แสวงหากำไร ไม่ได้รับการยกเว้นตามข้อกำหนดดังกล่าว ดังนั้นหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนถนนเพชรเกษมเส้นทางสายหลักไป 14 จังหวัดภาคใต้ การกู้ชีพ กู้ภัยควรเป็นหน้าที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งโรงพยาบาล สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องออกไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ
 
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า จากกรณีชาว จ.นราธิวาส อายุ 57 ปี เสียชีวิตบนรถไฟสายใต้ก่อนถึงสถานีรถไฟทับสะแก ต่อมาตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด 19 โดยมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยของมูลนิธิ อ.ทับสะแก เข้าไปร่วมชันสูตรศพร่วมกับเจ้าหน้าที่ รพ.ทับสะแก ทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยจำนวน 14 รายถูกสั่งกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ขณะที่มูลนิธิทับสะแกประกาศหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เห็นด้วยกับแนวทางของผู้ว่าราชการจังหวัดช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด -19 สั่งการให้นำศพผู้เสียชีวิตทุกรายไปเก็บรักษาไว้ที่โรงพยาบาลของรัฐแทนการเก็บไว้ที่มูลนิธิกู้ภัย และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องไปถึงที่เกิดเหตุก่อนเจ้าหน้าที่กู้ภัย แต่ทราบว่าอาจเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่องจากโรงพยาบาลระดับอำเภอบางแห่งไม่มีห้องเก็บศพ และบางหน่วยงานไม่เคยนำเครื่องตัดถ่างออกมาใช้งานจริง
 
“สำหรับมูลนิธิสว่างประจวบฯ ในช่วงเวลาปกติ ยืนยันว่ายังทำหน้าที่ หากมีอุบัติเหตุได้แจ้งให้กู้ภัยทุกรายป้องกันตัวเอง โดยจัดซื้อเสื้อกันฝนดัดแปลงเป็นชุดป้องกันหรือ PPE ใช้ครั้งเดียวพร้อมสวมหน้ากากอนามัย ถุงมือ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างปลอดภัยแม้ว่าจะไม่ 100 % เพราะไม่มีใครทราบล่วงหน้าว่าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยรายใดจะมีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดหรือไม่ และในสถานการณ์การระบาดของโรค เจ้าหน้าที่จะไม่ไปรับผู้ป่วยจากบ้านไปโรงพยาบาล แต่ขอให้หน่วยกู้ชีพ 1669 หรือเจ้าหน้าที่ อีเอ็มเอส ของโรงพยาบาลดำเนินการแทนทั้งหมด” นายนิพนธ์ กล่าว.
 

หน้าแรก » ภูมิภาค