วันศุกร์ ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 12:19 น.

ภูมิภาค

ป้าเมืองประจวบฯสู้โควิด ผลิตไม้กวาดขายหารายได้เสริม

วันจันทร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2563, 16.44 น.

วันนี้ (วันที่ 20 เม.ย.) ต้องยอมรับว่าช่วงนี้หลายอาชีพได้ผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด -19 ที่ยังไม่มีแนวโน้มจะยุติในระยะสั้น เช่นเดียวกัน ป้าสำรวย บุญเสถียร อายุ 58 ปี ชาวบ้านหมู่ 1 ต.ห้วยทราย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ประสบปัญหาขาดรายได้ประจำเพื่อเลี้ยงครอบครัว จากเดิมเป็นแม่ค้าขายอาหารตามสั่งที่ร้านค้า ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังจังหวัด จากนั้นช่วงเย็นเปิดร้านขายบะหมี่ที่ตลาดต้นเกตุ ริมถนนเพชรเกษมขาล่องใต้ แต่การประกอบกิจการต้องหยุดชะงักทันที หลังจากมีประกาศคำสั่งจังหวัดให้งดบริการลูกค้ารับประทานอาหารที่ร้านเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคมตามนโยบายป้องกันการติดเชื้อ

 


ป้าสำรวย บุญเสถียร กล่าวว่า ในฐานะแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ผ่านมาได้ให้หลานกรอกรายละเอียดเพื่อลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ผ่านเวปไซด์เราไม่ทิ้งกัน ตั้งแต่เปิดให้ลงทะเบียนช่วงแรกแต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับเงินเยียวยา จากนั้นได้ขอยื่นอุทธรณ์อีกครั้ง และในระหว่างที่รอประกาศให้กลับไปขายอาหารตามสั่งได้ตามปกติ ได้ใช้เวลาว่างทำไม้กวาดทางมะพร้าวให้หลานประกาศขายผ่านระบบออนไลน์และบางส่วนขายให้ร้านตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่เพื่อหารายได้เสริม เพราะในพื้นที่ไม่มีคู่แข่งผลิตขายเหมือนสินค้าอื่น เมื่อสิบปีกว่าปีก่อนมีโอกาสได้ไปเรียนรู้การผลิตไม้กวาดทางมะพร้าวโดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านกับผู้สูงอายุที่มีความชำนาญในการผลิตจากการใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น ใช้เวลาเรียน 7 วันก็สามารถทำได้ จากการใช้ทางมะพร้าวที่เหลาให้เหลือใบแห้งเพียงเล็กน้อย เก็บจากสวนมะพร้าวที่มีอยู่ 6 ไร่ซึ่งปกติหากไม่นำไปทำไม้กวาด จะมีพ่อค้ามารับซื้อทางมะพร้าวที่เหลาแล้วกิโลกรัมละ 8 บาท เพื่อนำไปผลิตไม้กวาดในจังหวัดทางภาคอีสาน นอกจากนั้นการผลิตยังมีไม้ไผ่รวกท่อนละ 1 เมตร เพื่อทำด้ามไม้กวาด ส่วนเชือกฟาง และเส้นพลาสติคแพ๊ค ก็หาซื้อได้ในราคาไม่แพง

 


ป้าสำรวย กล่าวอีกว่า แต่ละวันจะผลิตไม้กวาดได้มากกว่า 10 อัน เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 อัน ต้นทุนการผลิตอันละไม่เกิน 10 บาท แต่ส่งขายราคาอันละ 50 บาท ทำให้มีรายได้วันละไม่น้อยกว่า 500 บาท สำหรับไม้กวาดทางมะพร้าวที่ผลิตในปัจจุบันยอมรับว่าไม่พอขาย ขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ในจังหวัด สนใจสั่งซื้อแห่งละไม่น้อยกว่า 20 อัน เพราะปกติจะต้องไปซื้อในร้านขายส่งที่มีราคาแพงกว่าแต่ใช้วัสดุในการผลิตต่างกัน ซึ่งอาจจะมีปัญหาในระยะยาวทำให้การใช้งานไม่ทนทาน ไม้กวาดทางมะพร้าวที่ผลิตสามารถใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 2 ปี เพราะเป็นผลงานทำมือ จากวิธีการเฉพาะที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ได้ใช้แรงงาน แต่ต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษ เพื่อให้ไม้กวาดมีความคงทนถาวร ก้านมะพร้าวไม่หลุดง่าย จาการใช้เชือกฟางถักก้านมะพร้าวชั่งให้ได้น้ำหนัก 500 กรัมให้เป็นแพ จากนั้นนำไปขึ้นรูปกับด้ามไม้ไผ่รวก โดยใช้เส้นพลาสติดแพ็ค ถักทอให้ยึดแน่นพร้อมตอกตะปูขนาด 1 นิ้ว ยึดทางมะพร้าวที่ด้ามไม้กวาดทั้ง 2 ข้างให้แข็งแรง ขณะนี้ผลิตทั้งไม้กวาดที่ใช้กวาดขยะจะมีการตัดปลายให้เรียบเสมอกัน ส่วนไม้กวาดจากทางมะพร้าวที่ผลิตเพื่อใช้กวาดถนนที่มีน้ำขัง ไม่ต้องตัดส่วนปลาย

 


“หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบกับรายได้ประจำพอสมควร เนื่องจากการขายอาหารตามสั่งที่อุทยานฯหว้ากอได้จ่ายค่าสัมปทานรายปีไปแล้วหลายหมื่นบาท แต่ถูกสั่งหยุดขายชั่วคราว โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เช่นเดียวกับการเปิดร้านขายบะหมี่ริมถนนเพชรเกษมตั้งใจจะขายให้ลูกค้าที่เดินทางขึ้นล่อง 14 จังหวัดภาคใต้ แต่ปีนี้น่าเสียดายที่สถานการณ์ไม่ปกติ แถมยังไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทจากรัฐบาล จึงต้องกลับไปทำอาชีพเดิมด้วยการผลิตไม้กวาดทางมะพร้าว ล่าสุดมีหลายหน่วยงานได้ติดต่อเพื่อขอให้ไปฝึกสอนผู้สนใจ นำความรู้ไปผลิตเป็นอาชีพและสร้างรายได้ทดแทนอาชีพเดิมทั้งระยะสั้นและระยะยาว” ป้าสำรวยกล่าวทิ้งท้าย.

หน้าแรก » ภูมิภาค