วันเสาร์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 08:22 น.

ภูมิภาค

"มข."เดินหน้าวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยวิจัยพัฒนาชั้นนำระดับโลก

วันศุกร์ ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563, 08.49 น.

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ตามที่รัฐบาลโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายหลัก 12 ด้าน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 รวมไปถึง กรอบนโยบาย 4 มิติ ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มุ่งการพัฒนา 4 ด้านประกอบด้วย มิติที่1 : สร้างและพัฒนาคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 มิติที่2 : สร้างและพัฒนาองคค์วามรู้ มิติที่ 3 : สร้างและพัฒนานวัตกรรม มิติที่4 : ปฏิรูปการอุดมศึกษา ซึ่งจากคำแถลงนโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และ รายละเอียดแผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2563-2566 นำมาสู่ การกำหนดแนวทางการดำเนินงานมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งการปรับเปลี่ยนการบริหารงานวิจัยเป็นอีกด้านหนึ่งที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ปรับเปลี่ยน เพื่อให้สอดคล้องกับเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านวิจัยของประเทศ และ ทิศทางการพัฒนาเพื่อยกระดับรายได้ของประชากร เพื่อให้หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง

 


 

ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เปิดเผยเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า เป็นการปรับเปลี่ยนโดยใช้ยุทธศาสตร์เชิงกลยุทธ์ ซึ่งการทำงานด้านการวิจัยและโครงการวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ1.งานวิจัยพื้นฐาน Basic Research โดยนักวิจัยจะสร้างองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัย สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคม และ สุขภาพ มีงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการศึกษาองค์ความรู้ชั้นสูง นวัตกรรมใหม่ๆ เปิดกว้างให้นักวิจัยทำงาน เป็นการพัฒนานักวิจัย งานวิจัย รวมไปถึงการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพด้วยเช่นกัน

 


 

2.งานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Research เป็นการผลักดันให้นักวิจัยเขียนโครงการ เพื่อรับทุนสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนงานวิจัยของรัฐบาล เน้นการวิจัยเพื่อการพัฒนา มีหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยที่ชัดเจน มียุทธศาสตร์ที่สำคัญ เช่น


2.1 การสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาพื้นที่สร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สืบเนื่องจากปรัชญาการอุทิศเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้การทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่มีความเข้มแข็ง ชุมชนมีการพัฒนาในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และ สุขภาพ การศึกษา


2.2 การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในการคิดค้นผลิตชิ้นงานวิจัย เช่น เน้นการผลิตนวัตกรรม การสร้างงานวิจัยที่ส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มการแข่งขันให้กับทั้งในชุมชน ส่งเสริมการประกอบธุรกิจของตนเอง รวมไปถึงการส่งเสริมการส่งออกได้ เช่น เรื่องเกษตรพลังงาน วัสดุศาสตร์ การเน้นเรื่องการเสริมสร้างการแข่งขัน การพัฒนาสุขภาพ วัสดุนาโนต่างๆ


2.3 การสร้างโครงการวิจัยแก้ปัญหาของประเทศไทย หรือ grand challenges Thailand มุ่งเน้นการแก้ปัญหาสำคัญของภูมิภาค เช่น การท้าทายว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า จะไม่มีผู้ที่ติดพยาธิใบไม้ในตับ หรือ ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นประเด็นที่ท้าทายมาอย่างต่อเนื่องและมีความก้าวหน้า หรือ การท้าทายว่าใน 5-10 ปีข้างหน้าภาคอีสานอาจจะเป็นอีสานออร์แกนิคเพื่อผลิตอาหารปลอดภัย

 


ซึ่งโครงการ grand challenges Thailand มีหลายด้านที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความเชี่ยวชาญ แบ่งเป็นกลุ่มวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ และ สายสังคม เช่น โครงการการผลักดันเรื่อง smart learning โดย ท้าทายว่าในอนาคตจะมีนวัตกรรมการศึกษา ที่เกิดจากศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และหน่วยงานดังกล่าวมีผลงานวิจัย นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ


2.4 การพัฒนากำลังคน เช่น การพัฒนานักวิจัยระดับปริญญาเอกให้ภาคอุตสาหกรรม หรือ การทำโครงการเพิ่มทักษะ Reskill ซึ่งเป็นการเพิ่มทักษะใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อสามารถทำงานสอดคล้องกับเทคโนโลยี และแนวโน้มการทำงานในอนาคต Upskill การพัฒนาทักษะเดิมที่มีอยู่ให้แข็งแกร่งมากขึ้น และสามารถปรับใช้ในบริบทใหม่ที่เกิดขึ้นได้ นำไปสู่การทำโครงการ จัดหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อให้ทันต่อการปรับตัวในยุคอนาคต หรือ การฝึกอบรมที่เป็นอาชีพใหม่ นอกจากนี้ในอนาคตนักศึกษาที่มาเรียนในระดับปริญญาตรีอาจจะลดน้อยลง มหาวิทยาลัยจึงเล็งเห็นว่าทุกคนสามารถมาเป็นผู้เรียนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ ฝ่ายวิจัยกับฝ่ายการศึกษา จึงได้ทำงานร่วมกันและปรับหลักสูตรให้มีความหลากหลาย เน้นให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ มีทักษะที่สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ มีเทคนิค วิธีการ แนวคิด เครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ ที่ได้ฝึกฝนเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน ซึ่งสามารถเก็บเป็นเครดิตแบงค์ ธนาคารหน่วยกิต และเทียบเป็นปริญญาในอนาคตได้


จากที่กล่าวมาข้างต้น แม้ว่าการทำงานด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้านวิจัยของประเทศ และ ทิศทางการพัฒนาเพื่อยกระดับรายได้ของประชากร แต่ขณะเดียวกัน โครงการต่างๆยังคงอยู่ภายใต้จุดยืน งานวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทุกชิ้น ต้องส่งต่อถึงการใช้ประโยชน์

 


 

การใช้ประโยชน์แบ่งเป็นหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็น ประโยชน์เชิงวิชาการ ที่ผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ ถูกนำไปอ้างอิง มีการนำองค์ความรู้ไปต่อยอด เมื่อถูกนำไปใช้อ้างอิงมากขึ้น ก็จะส่งผลไปถึงการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยที่สูงขึ้น ซึ่งปีนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นติดอันดับโลก เพิ่มจาก 3 สาขา มาเป็น 5 สาขา การใช้ประโยชน์ด้านของสังคม ที่เราได้อันดับ 1 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน เช่น นวัตกรรมที่ชุมชนได้ใช้ในพื้นที่ ประชากรอยู่ดีกินดี เศรษฐกิจดีขึ้น การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ที่เป็นการประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือ ให้กับภาคเอกชน การพัฒนาด้านความงาม เครื่องสำอางค์ เครื่องมือแพทย์ชิ้นใหม่ๆ การพัฒนาสูตรอาหารแบบใหม่ ซึ่งจะมีภาคเอกชนนำไปต่อยอด และเกิดผลตอบแทนกลับมาที่มหาวิทยาลัย

 


 

“เห็นได้ว่างานวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกชิ้นต้องส่งต่อถึงการใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นขอให้นักวิจัยทุกคนสบายใจว่าเราไม่ได้กดดันว่าทุกคนต้องทำงานตีพิมพ์นานาชาติเพียงอย่างเดียว แต่ว่าเราสามารถทำงานวิจัยทั้งการตีพิมพ์ก็ได้ หรือ ทำงานวิจัยเพื่อสังคมก็ได้ ทำงานกับภาคเอกชนก็ได้ เพราะทุกผลงานล้วนเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา และ การนำพามหาวิทยาลัยขอนแก่นให้บรรลุวิสัยทัศน์การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก ทั้งสิ้น” ศ.ดร.มนต์ชัย กล่าว

หน้าแรก » ภูมิภาค