วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 18:08 น.

ภูมิภาค

พิณ-ซุงฝีมือครูเพลงพิการ อนุรักษ์มรดกอีสานที่อำนาจเจริญ

วันพุธ ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2563, 14.52 น.

ในงานบุญประเพณีประจำปี หรืองานเฉลิมฉลอง รื่นเริง ต่างๆในพื้นที่ภาคอีสาน จะต้องมีคณะหมอลำ ไม่ว่าจะเป็น หมอลำซิ่ง หรือ หมอลำหมู่ ไปแสดง เพื่อความบันเทิง แทบจะทุกงาน ด้วยเสียงเพลงบรรเลงจากคณะหมอลำ ในจังหวะมันๆ โจ๊ะๆที่เร้าร้อน เร้าใจ  กระชากใจผู้ฟังชาวอีสาน ต้องขยับแข้ง ขยับขา ตาม โดยไม่รู้ตัว

 


   

สำหรับ คณะหมอลำ ที่จะครองใจ สะกดใจ วัยรุ่น ขาโจ๋ ขาดิ้นทั้งหลายได้ จะต้องมี บทเพลง หมอลำ ที่ไพเราะ สนุกสนาน ถ้าใครได้ฟังจะต้องดิ้นอย่างเมามันในอารมณ์ จนงานเลิกเลยทีเดียว
    

อย่างไรก็ตาม  บทเพลงหมอลำ จะต้องมีเครื่องดนตรีประกอบหลายชิ้น เช่น แคน กลอง ฉิ่ง ฉาบ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ พิณและซุง เพราะถือว่า เป็นหัวใจหลักในการบรรเลงบทเพลงหมอลำที่สุดแสนจะไพเราะ สนุกสนาน ก็ว่าได้
    

สำหรับ พิณและซุง เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองประเภทดีด ที่ชาวอีสานรู้จักกันดีมาช้านาน โดยนำมาบรรเลงควบคู่กับแคนประสานเสียงกับบทเพลงหมอลำได้อย่างลงตัว ด้วยท้วงทำนอง ที่เร้าร้อน คึกคัก ตามแบบฉบับชาวอีสาน และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ พิณและซุง ไม่ให้สูญหาย จึงมีการ ผลิต ป้อนคณะหมอลำและผู้สนใจ มาหลายสิบปี พร้อมแต่งบทเพลงหมอลำแถมให้อีกต่างหากแบบฟรีๆ

 


   

สำหรับผู้ที่อนุรักษ์ บทเพลงหมอลำ และ เครื่องเล่นดนตรีอีสาน เช่น พิณ – ซุง มาหลายสิบปี เพื่อให้คงอยู่คู่ชาวอีสานตลอดไป คือ นายอัมพร ขันแก้ว อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 89 หมู่ที่ 13 บ้านสร้างถ่อใน ต.สร้างถ่อน้อย อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ผู้ผลิต พิณ – ซุง ขาย และถูกยกย่องเป็น บรมครูเพลงหมอลำ เล่าว่า บิดา เป็นศิลปินพื้นบ้าน(หมอลำ) สามารถเล่นได้ทั้งพิณและซุง รวมถึง ผลิตให้คณะหมอลำเป็นประจำ บางครั้งก็ถูกว่าจ้างให้ไปเดี่ยวพิณ เดี่ยวซุงในงานพิธีมงคลต่างๆทั่วภาคอีสาน ซึ่งตนก็ได้ติดตามบิดาไปทุกหนทุกแห่ง ระหว่างที่ได้ติดตามบิดาไปเล่น ก็ได้มีการศึกษาเรียนรู้ควบคู่กันไป จึงมีความเชี่ยวชาญการเล่นและผลิตพิณและซุงเป็นอย่างดี กระทั่งบิดาเสียชีวิต ก็ได้มีการสืบทอดเจตนารมณ์ของบิดา เป็นเวลากว่า 60 ปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะดนตรีแบบโบราณนี้ไว้ และเปิดสอนเด็กและ เยาวชนในหมู่บ้านจบไปหลายรุ่น รวมเป็นเวลาหลายปี โดยสอนวิธีการเล่นพิณและซุงอย่างถูกต้องถูกวิธี ทำให้เด็กที่จบออกไปนำเอาความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพกับคณะหมอลำ หรือไม่ก็ไปรับจ้างเล่นตามงานพิธีมงคลหรืองานวัดต่างๆเรียกว่า มีงานเล่นตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม  เพราะปัญหาสุขภาพ โรครุมเร้า ปัจจุบัน ไม่ได้เปิดสอนการเล่น พิณ –ซุง แก่เด็กและเยาวชนอีกแล้ว แต่ยังคงผลิตป้อนคณะหมอลำหรือผู้สนใจ และแถมบทเพลงหมอลำให้ด้วยเหมือนเดิม
    

นายอัมพร บอกถึงวิธีผลิตพิณและซุงพอเข้าใจว่า ไม้ที่ใช้ทำพิณและซุงมี 3 ชนิด คือ ไม้ขนุน ประดู่ และไม้พยุง โดยใช้ไม้ยาว 1 เมตร หน้ากว้าง 10 เซนติเมตร แปรรูปเป็นตัวพิณและซุง และใช้คอนแทคและตัวคีย์ มี 11 ตัว จากนั้นใส่สาย 2 เส้น 3 เส้น 4 เส้นตามความต้องการ แล้วทำการปรับเทียบเสียงให้เข้ากับโน้ตสากล เมื่อปรับเทียบเสียงถูกต้องแล้ว ก็ทำการตกแต่งลวดลายต่างๆ เช่น ลายกนก ลายมังกรและลายพญานาค บนเนื้อไม้พิณและซุง ต่อมา ลงแลกเกอร์เพื่อความสวยงาม ก็เป็นอันแล้วเสร็จ

 


    

สำหรับข้อแตกต่างระหว่างพิณและซุง คือ พิณจะใช้สายกีตาร์ มีเสียงแหลม เพราะว่าไม่ได้เจาะเป็นโพรง แต่จะเจาะเป็นรูเท่านั้น ซึ่งจะดีดคู่กับเสียงร้องเพลงหมอลำผู้หญิง เล่นกับหมอลำซิ่งในยุคปัจจุบัน ส่วนซุง ใช้สายลวดเบรกรถจักรยาน ซึ่งเป็นเกลียวที่แข็งแรงกว่าสายกีตาร์ เมื่อดีดแล้วจะให้เสียทุ้มกังวาน เพราะว่าเจาะเป็นโพรง ส่วยใหญ่จะเล่นกับคณะหมดลำย้อนยุค และที่สำคัญการดีดพิณจะต้องดีดทีละสาย ส่วนการดีดซุงจะดีดทุกสาย นั่นคือข้อแตกต่างของเครื่องดนตรีทั้ง 2 ชิ้น ส่วนราคาขายพิณและซุง เริ่มต้นราคาที่ 1.000 บาท ก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าจะต้องการแบบไหน  ที่ผ่านมา ได้ผลิตพิณและซุงป้อนคณะหมอลำ พร้อมแต่งบทเพลงหมอลำแถมให้ด้วย เพื่อเป็นการเผยแพร่ศิลปะพื้นเมืองของชาวอีสานให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
  

นายอัมพร ขันแก้ว บรมครูผู้แต่งบทเพลงหมอลำ ป้อนคณะหมอลำแบบฟรีๆมาหลายสิบปี กล่าวอย่างน่าสงสารว่า ทำพิณและซุง ป้อนคณะหมอลำและผู้สนใจพร้อมแถมบทเพลงหมอลำแบบฟรีๆให้อีกต่างแหก จนจำไม่ได้ว่า กี่บทเพลงแล้ว คาดว่า ไม่ต่ำกว่า 500 บทเพลง เป็นเวลา กว่า 60 ปี เป็นเพราะอายุมากแล้ว มีโรคหลายโรครุมเร้ารบกวน ที่สำคัญเดินเหินไม่สะดวกเหมือนเดิม แถม มือแขนอ่อนแรง และมีอาการทางสมองด้วย แต่ยังคงทำพิณและซุงได้เหมือนเดิม ก็มีผู้สั่งให้ทำเรื่อยๆ ส่วนการเล่นการดีดพิณและซุงเล่นไม่ได้แล้ว ส่วนการแต่งบทเพลงหมอลำก็แต่งไม่ได้เช่นกัน  ทว่า จะบอกสอนวิธีแต่งบทเพลงหมอลำให้ผู้ต้องการแทน

 


    

นายอัมพร ขันแก้ว กล่าวถึงที่มาของคำว่า บังลอนอีสาน ว่า  สมัยยังเดินสายไปเดี่ยวพิณและซุง ทั่วประเทศ มีหลายครั้งไปเล่นให้กับชาวอีสานที่อยู่ภาคใต้ฟัง จนถูกเรียกว่า บังลอนอีสาน เพราะใบหน้าคล้ายคลึง ชาวอิสลาม ภาคใต้
    

และบังลอนอีสาน กล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงแม้จะมีใจรักอย่างสุดซึ่งในการเล่นพิณและซุง ไม่อาจจะฝืนสุขภาพร่างกาย สังขารไม่เที่ยงได้ ซึ่งร่วงโรยไปตามกาลเวลา จึงต้องรับเงินช่วยเหลือคนพิการขาเดือนละ 800 บาท และถือว่ายังโชคดี ซึ่งยังสามารถผลิตพิณ – ซุง ให้กับคณะหมอลำหรือผู้สนใจอยู่บ้าง แต่อาจใช้เวลาหลายวันจึงจะทำเสร็จ พอได้เงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มีอยู่มีกิน ในระดับหนึ่ง
  

นอกจากนี้ ยังกินที่บริเวณหลังบ้าน จำนวน 2 งาน สำหรับปลูกพืชสมุนไพรหลากหลายชนิด เพื่อทำเป็นยารักษาโรค ทั้งแบบต้มรับประทาน หรือ แบบเคี้ยวสด ก็มีไว้บริการแก่ผู้สนใจแบบฟรีๆ ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรหญ้ารีแพร หมามุ่ยญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อขนถูกร่างกายจะไม่คันเหมือนหมามุ่ยไทย มีสรรพคุณ เพิ่มพลังทางเพศ ,ว่านชมจันทร์ นำไปต้มกิน 1 หม้อ จะทำให้ร่างกายไม่หย่อนยาน เป็นยาระบาย ส่วน ถั่วดาวจินทรา มีสรรพคุณ แก้เหน็บชาตามมือ ตามเท้า เป็นต้น


สำหรับใครที่สนใจ รายละเอียดเพิ่มเติม ต้องการ พิณ – ซุง หรือ สมุนไพร บำรุงร่างกาย ให้ติดต่อไปที่ โทร.08 – 1256 – 1286 ได้ทุกวัน


สนธยา ทิพย์อุตร/อำนาจเจริญ รายงาน

หน้าแรก » ภูมิภาค