วันอังคาร ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:47 น.

ภูมิภาค

ปกป้อง "ป่าชุมชนดงทำเลดอนใหญ่" ป่าผืนสุดท้ายของร้อยเอ็ด

วันอาทิตย์ ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2563, 21.00 น.

ปกป้อง "ป่าชุมชนดงทำเลดอนใหญ่" ป่าผืนสุดท้ายของร้อยเอ็ด

“ป่าชุมชนดงทำเลดอนใหญ่” ตั้งอยู่ในเขตบ้านหนองบัว หมู่ที่ 5 ตำบลช้างเผือก อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีพื้นที่ประมาณ 1,200 ไร่ เป็นที่สาธารณประโยชน์และแหล่งอาหาร เป็นป่าดงดิบที่มีความอุดมสมบูรณ์ และหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืช ซึ่งชาวบ้านหนองบัวจำนวน 264 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 966 คน ต่างใช้ประโยชน์ร่วมกัน

พื้นที่ “ป่าชุมชนดงทำเลดอนใหญ่” เป็นแหล่งไม้มีค่าหลายชนิด โดยเฉพาะไม้พะยูงทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยในช่วงปี 2551 - 2555 มีขบวนการบุกรุกลักลอบตัดไม้พะยูงในป่าดงทำเลดอนใหญ่อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

เมื่อวันที่ 10-11กันยายน 2563 ที่ผ่านมา นายวิชิตร์ แสงทองล้วน ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พร้อมทีมงานเจ้าหน้าที่นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ เพื่อศึกษาดูงานโครงการร้อยเอ็ดร่วมใจอนุรักษ์ป่าชุมชนดงทำเลดอนใหญ่ ที่ศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนดงทำเลดอนใหญ่จังหวัดร้อยเอ็ด แหล่งศึกษาเรียนรู้ต้นแบบการอนุรักษ์พื้นที่ป่า โดยกลุ่มเครือข่ายจิตอาสาพิทักษ์ป่าชุมชนดงทำเลดอนใหญ่ โดยมีนายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และผู้นำชุมชนและชาวบ้านหนองบัว ให้การต้อนรับ

“ป่าชุมชนดงทำเลดอนใหญ่” แห่งนี้ ชาวบ้านเกิดความตระหนักและรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ ป้องกันและอนุรักษ์ป่าชุมชนให้คงความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน และร่วมกันจัดตั้งกลุ่มจิตอาสาพิทักษ์ป่าดงทำเลดอนใหญ่ขึ้นในวันที่ 7 กรกฏาคม 2556 มีอาสาสมัคร มานอนเฝ้าตามจุดที่สำคัญ 40 คน ในช่วงแรกขาดแคลนอุปกรณ์ และอาวุธปืน เพื่อต่อสู้กับแก๊งลักตัดไม้พะยูง โดยขณะนั้นพะยูงมีราคาสูงถึงกิโลละ 3 หมื่นบาท ทำให้แก๊งลักตัดไม้พะยูง พยายามลอบเข้าไปตัดไม้ในป่าอยู่ตลอดเวลา

ต่อมาทางหน่วยงานรัฐ คือ กอ.รมน.,ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด,หน่วยงานรัฐ เช่น ก.พ.ร.รวมทั้งพระอาจารย์ ดร.แสงจันทร์ แห่งวัดป่าดงทาเล และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดร้อยเอ็ด เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ปัจจุบันมีอาสาสมัครเพิ่มเป็น 70 คน ที่ล้วนแต่เป็นลูก หลาน ญาติพี่น้องของคนในหมู่บ้าน สลับกันมาเข้าเวรอย่างเข้มแข็ง จนสามารถรักษาต้นพะยูงที่เหลืออยู่ประมาณ 1,426 ต้น เอาไว้ได้ 

ปัจจุบันปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่ป่าดอนทำเลลดลงมาก ส่งผลให้พื้นที่ป่าและปริมาณไม้พะยูงเพิ่มสูงขึ้น สามารถขยายผลเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นได้ รวมทั้งประชากรในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการอนุรักษ์ป่าชุมชนจนได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากสถาบันต่างๆ หลายรางวัล เช่น รางวัลราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.)"ธงพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต"ปี2560 รางวัลเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) ประเภทรางวัลดาวรุ่งดีเด่นประจำปี 2561 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรางวัลโครงการต้นไม้ทรงคุณค่า"รุกฺขมรดก ของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี"เป็นต้น

หน้าแรก » ภูมิภาค