วันพฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567 22:26 น.

ภูมิภาค

ฝรั่งเชื่อมั่นโคกหนองนาโมเดล ทำให้ครอบครัวพอกินพอใช้

วันอาทิตย์ ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2564, 19.21 น.

ศรีสะเกษ ชาวออสเตรเลียเชื่อมั่นโคกหนองนาโมเดลทำให้ครอบครัวพอกินพอใช้พออยู่ร่มเย็น จูงแขนภรรยาชาวบ้านเมืองน้อยสมัครเข้าร่วมฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบโคกหนองนาโมเดล รุ่นที่ 5

 


 

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล จ.ศรีสะเกษ บ้านเตาเหล็ก หมู่ 10 ต.เมืองหลวง อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ นายนพ พงศ์ผลาดิสัย ปลัด จ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้น การพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล รุ่นที่ 5 ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ จ.ศรีสะเกษ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ถูกเลิกจ้างงาน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล มาขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม และเกิดศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้กระจายทั่วทั้ง 22 อำเภอของ จ.ศรีสะเกษ

 


ซึ่งการฝึกอบรมในครั้งนี้มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 102 คน จาก 3 อำเภอ คือ อ.กันทรารมย์ อ.ปรางค์กู่ และ อ.เมืองศรีสะเกษ ใช้เวลาในการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 23 - 27 ม.ค. 64 รวม 4 คืน 5 วัน และได้มีมิสเตอร์เดวิด โฮป อายุ 60 ปี ชาวออสเตรเลีย ซึ่งแต่งงานอยู่กินกับภรรยาชาวไทยชื่อ นางอุทัยวรรณ โฮป อายุ 45 ปี อยู่ที่บ้านเมืองน้อย หมู่ 7 ต.เมืองน้อย อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ มาสมัครเข้ารับการอบรมด้วย โดยมี นายจรินทร์ รอบการ พัฒนาการ จ.ศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงาน และนำพัฒนาการอำเภอทุกอำเภอ ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ให้การต้อนรับ

 


 

มิสเตอร์เดวิด โฮป อายุ 60 ปี ชาวออสเตรเลีย กล่าวว่า การที่ตนซึ่งเป็นชาวออสเตรเลีย มาสมัครเข้ารับการฝึกอบรมในครั้งนี้ เนื่องจากตนมีความเชื่อมั่นว่าโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้น การพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากว่าการฝึกอบรมมีการปฏิบัติจริง โดยวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถซึ่งได้นำเอาไปปฏิบัติเห็นผลจริงมาแล้ว ได้นำเอาความรู้มาสอนให้พวกตนได้รับรู้เกี่ยวกับหลักกสิกรรมธรรมชาติ จะทำให้ตนและครอบครัวได้พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น และหากมีเหลือก็จะแบ่งปันทำบุญทำทาน หรือขายเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งตนจะได้นำเอาความรู้ที่ได้รับไปร่วมกับภรรยาและญาติพี่น้องของภรรยาไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป

 


 

นายจรินทร์ รอบการ พัฒนาการ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า โครงการหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นนโยบายของ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ที่นำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ร่วมทั้งในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ได้นำเอาเรื่องการสืบสาน รักษา ต่อยอด มาขับเคลื่อน เพื่อให้ประชาชน มีภูมิคุ้มกันที่ดีโดยการปรับพื้นที่นาของตนเอง เป็น โคก เป็นหนอง และเป็นนา บนโคกก็ทำการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้ใต้ดิน เพื่อให้มีผลผลิตต่อเนื่องสืบเนื่องกันทั้งปี และที่สำคัญที่กรมการพัฒนาชุมชนก็คือ ให้แปลงที่เราดำเนินการเป็นศูนย์การเรียนรู้ ของคนรุ่นต่อๆ ไป เพราะว่าเรื่องของการเรียนรู้เป็นเรื่องที่สำคัญ

 


 

พัฒนาการ จ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า ถามว่า ทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” นี้ต่างจากทฤษฏีผสมผสานอย่างไร ต่างกันอยู่ที่การขุดสระจะไม่มีรูปแบบตายตัว เลียนแบบตามธรรมชาติ ไม่ได้ขุดสระเป็นสี่เหลี่ยม คันนาเดิมที่เป็นคันนาเล็กๆ ก็ทำเป็นคันนาทองคำ สำหรับการปลูกไม้ ปลูกผัก ปลูกกล้วยที่จะกินจะใช้ ซึ่งแนวคิดของทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”จะใช้กล้วยเป็นไม้หลัก เราเรียกว่า หลุมพอเพียง แล้วปลูกไม้อีก 4 ทิศเป็นไม้สูง คือไม้ใช้สอย ไม้กลางคือไม้ผล ไม้เตี้ยคือพืชสมุนไพร ไม้ใต้ดินคือพืชผัก ไม้หัวคือพวกสมุนไพรเช่น กระชาย ที่เราใช้อยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการใน 4 คืน 5 วัน เมื่อสำเร็จการฝึกอบรมแล้ว เมื่อกลับไปเขาจะเป็นครูพาทำ ก็จะต้องไปทำพื้นที่ของตนเองให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ อย่างน้อย 5 ปีที่กรมการพัฒนาชุมชน จะให้บุคคลภายนอกเข้าไปศึกษาเรียนรู้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นส่วนต่างและที่สำคัญก็คือจะทำให้เกษตรกรได้มีโอกาสที่จะพัฒนาทักษะของตนเองในเรื่องของการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืนตลอดไป

 

หน้าแรก » ภูมิภาค