วันพุธ ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:42 น.

ภูมิภาค

เที่ยววัดสระแก้ว กราบไหว้ "พระพือ" สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ชาวอำเภอพิบูลมังสาร

วันพฤหัสบดี ที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 14.37 น.
วัดสระแก้ว ตั้งอยู่ที่ตำบลสระแก้ว  อำเภอพิบูลมังสาหาร  จังหวัดอุบลราชธานี  อยู่ติดกับบริเวณแก่งสะพือ ริมฝั่งแม่น้ำมูล สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี  สาเหตุที่ได้ชื่อว่า วัดสระแก้ว สืบเนื่องมาจาก มีสระน้ำตั้งอยู่ทางทิศเหนือของบริเวณวัด (ต่อมาเรียกว่าสระแก้ว)  ตามตำนานเล่าขานมีอยู่ว่า  ทั้งคนและสัตว์ต่างเกรงกลัวสระน้ำแห่งนี้กันมาก เพราะเชื่อว่าเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากบางครั้งจะพบเห็นแสงคล้ายลูกแก้วลอยขึ้นจากสระน้ำพุ่งไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร แล้วตกลงบริเวณภูเขาที่ปัจจุบันเรียกว่าภูเขาแก้ว หรือบางครั้งก็มีแสงลูกแก้วลอยจากภูเขาแก้วมาตกลงบริเวณสระน้ำ จึงเรียกว่า สระแก้ว เมื่อมีการสร้างวัดขึ้นที่ภูเขาจึงตั้งชื่อว่าวัดภูเขาแก้ว และ เมื่อสร้างวัดขึ้นบริเวณใกล้กับสระน้ำดังกล่าว จึงตั้งชื่อว่า วัดสระแก้ว 
 
 
วัดสระแก้ว จัดตั้งขึ้น โดยพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (กุทอง สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 3 พร้อมด้วยท่านพันธุโล (ดี) พิจารณาหาที่ตั้งวัดเห็นว่าภูมิสถานด้านตะวันออกเมืองพิบูลมังสาหาร สมควรตั้งวัดเพราะมีโบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่สำคัญอยู่ก่อนแล้ว จึงมอบให้ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี)และท้าวสีฐาน (สาง) เป็นกำลังสำคัญจัดสร้างวัดขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2406 มีท่านพันธุโล (ดี) เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ได้สร้างศาลาโรงธรรมกุฎิ 3 หลัง และสิม (โบสถ์) กลางสระ สำหรับเป็นที่ลงสังฆกรรมของภิกษุสงฆ์วัดสระแก้ว (ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของวัด) แต่ในปัจจุบันเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารเช่าที่ดินแปลงนี้ มีเนื้อที่ 2 ไร่ 26 ตารางวา 
 
 
ภายในวัดสระแก้ว จะมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ คือ พระพุทธมุตตระมงคลมุจลินท์ แผ่นดินสุขสันต์ หรือ พระเจ้าใหญ่สัมฤทธิ์ ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าโบสถ์ เพื่อให้ประชาชนชาวพุทธได้ นมัสการ และขอพรซึ่ง พระพุทธมุตตระมงคลมุจลินท์ แผ่นดินสุขสันต์ หรือ พระเจ้าใหญ่สัมฤทธิ์ นี้ จัดสร้างโดยพระครูภาวนาจิตสุนทร เจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยศรัทธาญาติโยมและศิษย์ของท่าน โดยองค์ขนาด 80 นิ้ว สูง 6.80 เมตร น้ำหนัก 2,500 กิโลกรัม หล่อด้วยทองสัมฤทธ์ ได้ทำพิธีถวายที่วัดบูรพา อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู พ.ศ. 2552 และได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดสระแก้ว เมื่อวันอังคารที่ 30 สิงหาคม ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู พ.ศ. 2552  และเนื่องจากวัดสระแก้วตั้งอยู่ใกล้หรือติดกับบริเวณแก่งสะพือ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของ จ.อุบลฯ ทำให้แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่แก่งสะพือกันเป็นจำนวนมาก และนักท่องเที่ยวเหล่านั้นได้  แวะเวียนมาทำบุญ กราบไหว้ นมัสการ ขอพรจากพระพุทธมุตตระมงคลมุจลินท์ แผ่นดินสุขสันต์ หรือ พระเจ้าใหญ่สัมฤทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลกันทุกวัน 
 
 
ที่วัดสระแก้วยังมี  พระพือ  สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอพิบูลมังสาหาร ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาพระเจ้าห้าพระองค์ (ศาลาพระประจำวันเกิด) ที่สร้างไว้ด้านข้างฐานพระเจ้าใหญ่สัมฤทธิ์ โดย พระพือ นี้เป็นเทวรูปที่พบอยู่กลางแก่งสะพือบริเวณร่องน้ำลึก (แปลวเดือน 3) ก่อนที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนปากมูล ระยะเดือน มีนาคม – เมษายน น้ำมูลลดลงจึงมองเห็นพระพือ ชาวบ้านให้ความเคารพ โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านนิยมนำดอกไคร้ไปบูชาเพื่อขอพรให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและการศึกษา (ดอกไคร้ เมื่อก่อนนี้จะมีมากตามริมฝั่งแม่น้ำมูล ปัจจุบันเหลือน้อยลงทุกปี) ในปัจจุบัน พระพือ องค์เดิมเก็บรักษาไว้ที่พิธภัณฑ์ภายในวัดสระแก้ว ส่วนคำว่า พระพือ – สระพือ ที่มาของภาษายังไม่ชัดเจน คำว่า พือ ภาษาอิสาณ หมายถึง กางออก เช่น พือแขนออก หมายถึง กางแขนออก  นอกจากนี้ที่ศาลาพระเจ้าห้าพระองค์ ยังมี พระประจำวันเกิด ให้ชาวพุทธได้กราบไหว้ขอพรและเสี่ยงทายเซียมซีด้วย 
 
 
นอกจากนี้ ภายในบริเวณวัดสระแก้วได้มีการค้นพบ ประติมากรรมหินทรายส่วนประกอบอาคารประเภททับหลังและใบหินทราย ฐานรูปเคารพ แผ่นหินรูปกลมแบน และหลักศิลาจารึก ทับหลังที่พบในบริเวณเนินโบราณสถานภายในวัดสระแก้ว คาดคะเนว่าเป็นศิลปกรรมแบบไพรกเมง (อ่านว่า ไพร-กะ-เมง) อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 (พ.ศ.1185-1250) ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดสระแก้ว ภายในวัดสระแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าไปเยี่ยมชมทุกวัน 
 
 
ดังนั้น  หากท่านใดมีโอกาสไปเที่ยวแก่งสะพือ หรือ ผ่านไปทาง อำเภอพิบูลมังสาหาร จ.อุบลฯ ก็อย่าลืมแวะกราบไหว้ ขอพรจากพระพุทธมุตตระมงคลมุจลินท์ แผ่นดินสุขสันต์ หรือ พระเจ้าใหญ่สัมฤทธิ์ และ พระพือ เพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วความสุข  ความเจริญ จะบังเกิดขึ้นแก่ชีวิตของท่าน 

หน้าแรก » ภูมิภาค