วันอาทิตย์ ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 16:25 น.

ภูมิภาค

เคสแรก!ปลัดอำเภอหญิงรักษาโควิดหาย แต่ปอดอักเสบเสียชีวิตไม่มีอาการ

วันพฤหัสบดี ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 15.03 น.

ประจวบฯเคสแรก ปลัดอำเภอหญิงรักษาหายจากโควิด แต่ปอดอักเสบดับไม่มีอาการ


วันที่ 17 มิถุนายน นายศราวุธ จิระพิทักษ์กุล นายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจาก รพ.ประจวบคีรีขันธ์ว่า น.ส.วรรณี คงทอง อายุ 58 ปี ชาว จ.สุราษฎร์ธานี ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียน ที่ว่าการอำเภอเมืองประจวบฯ เสียชีวิตหลังรักษาตัวนานกว่า 1 สัปดาห์ จากอาการปอดติดเชื้อรุนแรง ปอดทั้ง 2 ข้างได้รับความเสียหายเหลือเพียง 20% ทำให้ป่วยหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขณะรักษาตัวเพื่อนร่วมงานได้บริจาคเลือดกรุ๊ป เอ เพื่อช่วยเหลือ ขณะที่ น.ส.วรรณี มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 แต่รักษาหายแล้วกลับมาทำงานปกติ หลังจากมาทำงานที่อำเภอได้ประมาณ 1 สัปดาห์ มีอาการเหนื่อยหายใจติดขัด ทำงานไม่ไหว จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลประจวบฯแต่ไม่พบเชื้อโควิด

 


“ผลตรวจเอกซเรย์พบปอดมีฝ้าขาว ทำให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานสงสัยว่าขณะ น.ส.วรรณี พักรักษาตัวจากการติดเชื้อโควิดในโรงพยาบาลสนามที่โรงแรมประจวบสามอ่าว ไม่มีอาการเจ็บป่วย แต่เมื่อออกจากโรงพยาบาลพบว่าปอดได้รับความเสียหาย ก่อนติดเชื้อโควิด น.ส.วรรณี พร้อมลูกจ้างในหน่วยงาน ลงพื้นที่ไปพบชาวบ้านเพื่อบริการทำบัตรประชาชนให้ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุให้ได้รับสิทธิเงินเยียวยาจากรัฐบาล ต่อมาพบว่า น.ส.วรรณีและลูกจ้าง 2 คนในโครงการแผนกงานทะเบียนติดเชื้อโควิด เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกระทั่งรักษาหายตรวจไม่พบเชื้อ จึงได้สั่งให้กักตัวเองที่บ้าน 14 วัน ก่อนจะมาทำงานจากนั้นล้มป่วยและเสียชีวิต“ นายศราวุธ กล่าว

 


นายแพทย์สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า กรณีการเสียชีวิตของปลัดอำเภอหญิงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจทางการแพทย์และญาตินำไปบำเพ็ญกุศลได้ตามปกติ เพราะไม่ได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด ขณะที่เดิมมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง ต่อมาติดเชื้อโควิดเข้ารักษาระหว่างวันที่ 14-30 เมษายน 64 จากนั้นหายป่วยกลับบ้านโดยไม่มีอาการ ต่อมาวันที่ 27 พฤษภาคม มีอาการหายใจไม่สะดวก จุกแน่นใต้ลิ้นปี่ ไม่มีอาการไอหรือเสมหะ ไม่เจ็บคอรับประทานอาหารได้ ไม่มีอาการอาเจียนหรือถ่ายเหลว แต่มีไข้ ตรวจพบไม่เจอเชื้อโควิด นอนรักษาที่ตึกอายุรกรรม 2 จากอาการปอดอักเสบรุนแรง

 


“ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น จึงใส่ท่อช่วยหายใจให้ยาฆ่าเชื้อ พบว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือด ระบบหายใจล้มเหลว ไตวายเฉียบพลัน ก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ได้ตรวจหาเชื้อโควิดแต่ไม่เจอ ถ้าสงสัยว่าเป็นปัญหามาจาการติดเชื้อโควิดรอบแรกหรือไม่ ขอเรียนว่าไม่มีรายงานแบบนี้ในประเทศไทยว่าหายแล้วยังติดเชื้ออีก และการติดเชื้อรอบแรกไม่มีอาการบ่งชี้ทำให้ปอดเสื่อม หากญาติจะทราบข้อมูล จะต้องนำชิ้นเนื้อไปตรวจสอบ เพื่อหาผลข้างเคียงจากพยาธิสภาพที่ รพ.จุฬาหรือ รพ.ศิริราช เพื่อตรวจว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิดหรือไม่” นายแพทย์สุริยะ กล่าว.

 

 

 

หน้าแรก » ภูมิภาค