วันอังคาร ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:13 น.

ภูมิภาค

รอง ผบช.ภ.3 เดินหน้าโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด สร้างครอบครัวสีขาว

วันจันทร์ ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 14.31 น.
วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ที่สำนักงานตำรวจภูธรภาค 3 อ.เมือง จ.นครราชสีมา จัดโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด แบบครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้นโยบายการป้องกันปราบปรามยาเสพติด ซึ่งพล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ได้รับนโยบายวิสัยทัศน์การแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ตร.ภาค 3 มอบหมายให้พลตำรวจตรีคีรีศักดิ์  ตันตินวะชัย รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 หัวหน้าการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดตำรวจภูธรภาค 3 ( หน.ปส.ภ.3) ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด แบบครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ชาติ ในพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา , ชัยภูมิ , บุรีรัมย์ , สุรินทร์ , ศรีสะเกษ , อุบลราชธานี , อำนาจเจริญ และ ยโสธร โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ลาวและกัมพูชา  เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชน ตามวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาการดำเนินงานชุมชนยั่งยืน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้เกิดกระบวนการป้องกัน แก้ไข และการบำบัดยาเสพติด โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน รวมถึงสร้างรูปแบบการดำเนินงานชุมชนเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน  จัดโครงการดำเนินงานชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ชาติ
 
 
พล.ต.ต.คีรีศักดิ์  ตันตินวะชัย รอง ผบช.ภาค 3 หัวหน้าการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดตำรวจภูธรภาค 3 ( หน.ปส.ภ.3) กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด แบบครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มอบหมายให้ตำรวจภูธรภาค 3 ได้ดำเนินการเป็นภาคแรกของประเทศตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาและดำเนินงานชุมชนยั่งยืน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ และการบำบัดผู้ยาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และเพื่อสร้างรูปแบบการดำเนินงานชุมชนเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อแก้ไขปัญหา   การแพร่ระบาดของยาเสพติด ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่จะช่วยเหลือผู้เสพยาเสพติดให้ลด ละ และเลิกยาเสพติดได้    โดยใช้กระบวนการบำบัดโดยชุมชนแบบ CBTx  (community based treatment *extreme)  และมีการสร้างระบบการบริหารให้ผู้นำชุมชนมีความเข้มแข็งในการติดตามผู้ที่เลิกใช้ยาเสพติด และการสร้างภาคีเครือข่ายในชุมชนโดยมีตำรวจ ฝ่ายปกครอง เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน เพื่อส่งมอบภารกิจการดูแลชุมชนให้มั่นคงปราศจากยาเสพติด  ด้วยเหตุที่พบว่าปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดที่ผ่านมาแม้จะทำการกวาดล้างจับกุมอย่างเข้มข้นมาตลอด   แต่ปริมาณยาเสพติด และผู้ค้ายาเสพติดกลับเพิ่มมากขึ้น การป้องกันไม่ให้มีการค้า คือการช่วยเหลือผู้เสพให้เลิกใช้ยาเสพติด เมื่อเลิกเสพ ก็เลิกซื้อ เมื่อ ไม่มีผู้ซื้อก็จะไม่มีผู้ขาย บำบัดดีกว่าจับกุม
 
 
พล.ต.ต.คีรีศักดิ์  ตันตินวะชัย  รอง ผบช.ภ. 3  กล่าวอีกว่า  โครงการชุมชนยั่งยืนนี้ มีการบูรณการการทำงานทุกภาคส่วน ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน และประชาชน ร่วมกันค้นหาผู้เสพยาเสพติดในชุมชน โดยลงสำรวจตรวจทุกคนทุกครัวเรือน ( X-ray 100% ) เมื่อได้ผู้เสพออกมาแล้ว ตำรวจ สาธารณสุข มหาดไทย และประชาชน ในชุมชน จะร่วมกันบำบัดในชุมชนนั้นเลย โดยมีคำสั่งจากนายอำเภอ ให้เปิด CBTx ในชุมชน โดยมีการบำบัดทั้งทางการแพทย์ ทางจิตวิทยา ศาสนบำบัด วินัยบำบัด จิตอาสาบำบัด อาชีวบำบัด และยังมีครอบครัวพร้อมพลังชุมชนให้กำลังใจและติดตามพฤติกรรมผู้บำบัดอย่างใกล้ชิด มีการให้โอกาสทางการศึกษา การฝึกอาชีพ การหางาน เสริมสร้างรายได้ให้แก่ผู้ที่เลิกยาเสพติด ได้มีชีวิตและสภาพครอบครัวที่ดีขึ้นไม่กลับไปสู่วังวนยาเสพติดได้อย่างเด็ดขาด
 
 
ทั้งนี้ก่อนดำเนินโครงการได้มีการฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบให้แก่ตัวแทนจากทุกสถานีตำรวจและมีผู้แทนสำนักงาน ปปส. ฝ่ายปกครอง สาธารณสุขร่วมสัมมนาด้วย จากนั้น ตร.ภ.3 ได้เริ่มดำเนินโครงการฯ ด้วยการเข้าประสานการปฏิบัติกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ สาธารณสุข และผู้นำท้องถิ่น ผู้นำหมู่บ้าน สืบสภาพชุมชน คัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมายที่มีปัญหาการแพร่ระบาดสูงสุด โครงการนี้ขับเคลื่อนพร้อมกันทั้ง 236  สถานี  8 จังหวัดอีสานใต้ ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.64 มีประชากรในชุมชนเป้าหมายรวม รวม 165,065 คน ขณะนี้ค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดได้ ได้ 3,724 คน และอยู่ในระหว่างCBTx  ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการได้รับผลตอบรับดีจากคนในชุมชนและพร้อมที่จะต่อยอดดำเนินโรงการต่อไป
จากการประเมิลผลคาดว่าจะมีผู้เลิกใช้ยาเสพติดถึงประมาณร้อยละ 80 หากเลิกได้ 3,000 คน ใน 1 ปีจะลดกำลังซื้อไป 1,000,000 เม็ด คิดเป็นเงินที่ไม่ต้องสูญไปให้ผู้ค้า 100 ล้านบาท หากทำได้ทุกหมู่บ้านที่เหลืออีก 16,632 หมู่บ้าน จะเป็นเงินถึง  7,000 ล้านบาท อันจะนำมาซึ่งการลดปัญหายาเสพติดในครอบครัว สังคมและชุมชน  ได้อย่างยั่งยืน ภัยอาชญากรรมอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่มีต้นตอมาจากยาเสพติดจะไม่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน  พลตำรวจตรีคีรีศักดิ์ฯ กล่าว

หน้าแรก » ภูมิภาค