วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 13:03 น.

ภูมิภาค

เหนื่อยก็สู้! รพ.ศีขรภูมิพร้อมรับผู้ป่วยโควิดนอกพื้นที่ หลังเคลียร์เตียงว่างได้บ้างแล้ว

วันพุธ ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, 20.57 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ หลังที่รัฐบาลประกาศให้มีการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 64 เป็นต้นมา และจนมาถึงช่วงล็อกดาวน์ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และจังหวัดเสี่ยงสูง เมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 พบว่ามียอดผู้ป่วยขอเดินทางเข้ามารักษาตัวในพื้นที่ จ.สุรินทร์ เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 100 กว่ารายต่อวัน ส่งผลทำให้มีผู้ป่วยล้นเตียง โดยทางเพจเฟสบุ๊คของ”ศูนย์ข้อมูล COVID-19 จ.สุรินทร์” ได้ออกประกาศระบุข้อความว่า “ประกาศ ของดรับผู้ป่วยนอกจังหวัด ทุกประเภท เพื่อปรับปรุงศักยภาพชั่วคราว เนื่องจากขณะนี้ เตียงสำหรับรับรองผู้ป่วยสีแดง และสีส้ม ของจังหวัดสุรินทร์ เต็ม! ข้อมูล ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2564#สุรินทร์ต้องชนะ #สุรินทร์ไม่ทิ้งกัน #DMHTTA” ขณะที่ รพ.สุรินทร์ ก็กำลังเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น โดยโรงพยาบาลในพื้นที่ จ.สุรินทร์ แต่ละแห่งเตียงเริ่มเต็มแล้ว จังหวัดจึงออกประกาศงดรับผู้ป่วยนอกจังหวัดดังกล่าว และอยู่ระหว่างบริหารจัดการเตียงให้ผู้ป่วยภายในจังหวัดที่เพิ่มขึ้นให้เพียงพอ และหากมีความพร้อมรับผู้ป่วยนอกจังหวัด ก็จะมีการประกาศให้ทราบอีกครั้ง
 
ล่าสุดวันนี้(21 ก.ค.64)ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เปิดรับผู้ป่วยโควิด-19 จากนอกพื้นที่ที่ต้องการกลับมารักษาตัวยังภูมิลำเนามากที่สุด สามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 250 เตียง แยกเป็นสีเขียว 200 เตียง สีเหลือ 40 เตียง และสีแดง 80 เตียง พบว่ามีการกั้นแนวเขตป้องกันอย่างเข้มงวด และขณะนี้ผู้ป่วยที่เข้ามารักษาตัวตั้งแต่วันแรกรับและสามารถกลับบ้านได้แล้วบางส่วน ซึ่งก็จะมีเตียงว่างสำหรับรับผู้ป่วยนอกพื้นที่ที่จะขอเข้ามารับการรักษาเหลืออยู่บ้างในแต่ละวัน แต่ก็ไม่มากนัก โดยเปิดรับเฉพาะผู้ป่วยที่มีถิ่นฐานภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอศีขรภูมิเท่านั้น โดยการประสานความร่วมมือกันระหว่างอำเภอศีขรภูมิ กับ รพ.ศีขรภูมิ พร้อมทั้งผู้นำชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังพบว่าประชาชนชาวศีขรภูมิ ต่างเข้าใจและเห็นใจทั้งบุคลากรทางแพทย์ที่ต้องทำงานหนักรวมถึงผู้ป่วยที่เข้ามารักษาตัว โดยทุกวันจะพากันนำอาหาร น้ำดื่ม น้ำต้มกระชายและน้ำขิง มามอบสนับสนุนเป็นกำลังใจให้สู้ต่ออีกทางหนึ่งด้วย
 
นายแพทย์บัลลังค์ ปรึกษาดี รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศีขรภูมิ กล่าวว่า รพ.ศีขรภูมิ ตอนนี้เตรียมพร้อมในการรับมือสู้โควิด-19เรามีเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียวก็คือผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการ 200 เตียง สีเหลืองที่มีอาการเล็กน้อยไม่ถึงขั้นที่จะต้องช่วยเหลือเป็นพิเศษประมาณ 40 เตียง แล้วก็มีเตียงผู้ป่วยโควิดหนักก็คือสีแดง ที่จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือว่าจะต้องใช้เอาซิเจนแรงดันสูง 8 เตียง คือเราดูแลได้ในระดับเต็มที่ของเราแล้ว ส่วนสถานการณ์ของอำเภอศีขรภูมิตอนนี้ ถ้าโดยรวมในตัวอำเภอเองก็จะมีระบาดประปรายไม่เยอะมาก เฉลี่ยแล้วขณะนี้ยอดผู้ป่วยมีประมาณ10-20 ราย ที่เกิดขึ้นในตัวอำเภอเอง ที่หนักของเราอยู่ที่ผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ ตอนนี้เรารับมาถ้านับเมื่อวานนี้มียอดผู้ป่วยอยุ่ประมาณ 200 กว่าราย คือเต็มที่แล้ว แต่ทีนี้เตียงผู้จำนวน 200 เตียงนี้ แต่ละวันก็จะมีผู้ป่วยที่เรารักษาจนครบจนหายแล้วกลับบ้านได้ เราก็จะมีช่องว่างในการรับเข้ามาประมาณ 10-20 ราย ก็คือเก่าไปใหม่มา แต่ไม่สามารถรับแบบไม่อั้นได้ เพราะว่าถ้าเกิดรับแบบไม่อั้น มันจะมีผู้ป่วยบางส่วน ที่จะล่าช้าในการวินิจฉัยความรุนแรงได้ จะทำให้เกิดการจากเบากลายเป็นหนักได้ 
 
จากศักยภาพของโรงบาลตอนนี้ เรายังมีช่องว่างรับได้อยู่ประมาณนี้ หมายความว่าถ้าสภาพการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่ก็คือมีเก่าออก และต้องดูว่า 14 วันก่อนรับเข้าขนาดไหน ซึ่งบ้างวันจะไม่เท่ากัน ตอนนี้ถ้าเป็นผู้ป่วยในอำเภอรอบข้างเรามีนโยบายรับหมด บางโรงบาลข้างๆที่เขามีเตียงไม่พอ ถ้าเราช่วยได้เราช่วยหมด คือถ้าในเขตอำเภอเรารับ 100 % แต่ถ้าเป็นนอกพื้นที่มาในช่วง 2 วันที่ผ่านมา คือเป็นนโยบายของทางจังหวัด ว่าให้หยุดรับก่อน ซึ่งอันที่หนึ่งก็มีปัญหาอันหนึ่งก็เห็นใจ อันที่สองบางคนไม่ยอม หมายความว่าพอเราไม่รับ เขาก็มาเองเลย มาอยู่ข้างๆตามสวนตามนาบ้าง แบบนี้ถ้าเราทราบเราก็จะไปรับมา เพราะว่าเรามีประสบการณ์เมื่ออาทิตย์ก่อน มีกรณีผู้ป่วยมาอยู่ในหมู่บ้านแล้วมีการระบาดจากหนึ่งเป็นสองเป็นสาม แล้วเราต้องทุ่มกำลังในการไปดูผู้ป่วยรอบข้าง และผู้เสี่ยงทั้งหลาย ต้องไปสวอฟตั้ง 3-4 ร้อยราย ซึ่งมันสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมาก เพราะฉะนั้นถ้ามีผู้ป่วยหลงมาจากกรุงเทพฯบางทีเราก็ต้องยอมที่จะไปรับมารักษา ไม่อย่างนั้นก็จะมีปัญหาตามมาอีกมาก แทนที่เราจะต้องสวอฟแค่ 4-5 ราย เราต้องสวอฟเป็นร้อยราย ตอนนี้เราก็ดูคนไข้หลายส่วนแล้ว พยาบาลบางคนอยู่เวรติดต่อกันเป็นสัปดาห์เลย คนงานก็เหมือนกัน เราไม่ได้ดูเฉพาะพยาบาลอย่างเดียว อย่างเจ้าหน้าที่โรงครัวแทบจะไม่ได้นั่งกันเลย เพราะอาหารจากที่เคยจัดดูแลผู้ป่วยธรรมดาร้อยกว่าคน ตอนนี้ต้องดูแลรวมทั้งผู้เก่าและป่วยโควิดด้วยวันหนึ่ง 2-3 ร้อยคน ไหนจะขยะที่มีเพิ่มอีกมหาศาล และก็เป็นขยะที่ไม่สามารถทิ้งทั่วไปได้ ต้องจ้างคนมาเก็บมากำจัด เป็นความเหนื่อยที่แฝงเข้ามาที่ไม่มีใครรู้ เพราะคนกลุ่มนี้เขาไม่มีปากมีเสียง แม้กระทั้งยามไม่ได้เจอหน้าลูกเมียมานานแล้ว อันนี้ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงรับสูงสุดเต็มที่ได้แค่นี้ 
 
เห็นใจคนที่อยู่ที่กรุงเทพฯเหมือนกัน ถ้าเกิดเราไม่อั้นแล้วเราดูแลไม่ได้ ก็จะกลายเป็นว่ารับมาแล้วมาแพร่เชื้อกระจายเชื้อต่ออีก ตรงนี้ก็แล้วแต่นโยบายของผู้ใหญ่ทางจังหวัดอีกที แต่ของโรงพยาบาลเราเราสู้เต็มแล้ว ยืนยันสถานการณ์ตอนนี้ยังไหวอยู่ แต่ยังไหวนั้นหมายความว่ามันต้องแค่นี้นะ คือเข้ากับออกต้องสมดุลกันมากกว่านี้ไม่ไหวแล้ว โรงพยาบาลมีแต่เตียงไม่ได้คนต้องสู้ไหวด้วย ตัวที่สำคัญสุดเลย เอาง่ายๆอย่างชุดบางครั้งยังคิดอยู่จะตายจากชุด PPE ป้องกันหรือเปล่าเพราะมันเหนื่อย ปรากฎว่าพี่น้องรอบข้างในอำเภอให้กำลังใจดีมาก ทุกวันก็จะมีคนมาบริจาคข้าวของเล็กๆน้อยๆ บางรู้อยู่ว่าไม่มีแต่ก็พยายามมาช่วย ตรงนี้เป็นอะไรที่ได้กำลังใจเป็นอย่างมากเลย ได้รับความช่วยเหลือจากคนในอำเภอ มีมากก็ให้มากมีน้อยก็ให้น้อย ไม่มีใครอยู่เฉยเลย ซึ่งบางทีเราได้เห็นข้าวของที่เขาช่วยกันมา ทำให้เราได้มีแรงฮึดให้เจ้าหน้าที่ของเราสู้ต่อไปได้ ซึ่งเราก็จะสู้จนกว่ามันจะจบ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอีกหลายส่วนด้วย เราก็สู้ในส่วนของตัวโรค แต่ในเรื่องการป้องกันหรือว่าวัคซีน ก็ต้องเป็นส่วนอื่นที่ต้องช่วยกันบริหารจัดการเพื่อให้มันรอดไปจากสถานณ์ตอนนี้ไปได้ต่อไป รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศีขรภูมิ กล่าว
 
ด้านนายกิตติ สัตย์ซื่อ นายอำเภอศีขรภูมิ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง อำเภอได้ประสานกับ รพ.ศีขรภูมิ ได้รับผู้ป่วยติดเชื้อเข้ามารับการรักษาโดยตลอด หลังจากมีการประกาศให้รับผู้ป่วยเข้ามารักษาที่ภูมิลำเนา ช่วงแรกมีประมาณ 200 กว่าราย ความจริงแล้วโรงพยาบาลศีขรภูมิ รับได้เต็มที่ประมาณ 100 กว่าเตียงเท่านั้น ก็ได้บริหารจัดการจนไม่มีปัญหา แต่พอจังหวัดมีการประกาศชะลอรับผู้ที่เดินทางกลับมารับการรักษา 2-3 วันที่ผ่านมา สถานการณ์เรื่องเตียงเริ่มผ่อนคลาย แต่ก็ได้เปิดรับเฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่เข้ารักษา ซึ่งสามารถเข้ามารักษาได้โดยการติดต่อเจ้าหน้าที่หรือโรงพยาบาลศีขรภูมิได้ตลอดเวลา เนื่องจากปริมาณผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่รักษาครบและหายหมุนเวียนกลับบ้านได้ประมาณ 10-20 ราย ทำให้เตียงรองรับว่าง ก็สามารถรับผู้ป่วยเข้ามาได้  สำหรับผู้ที่จะเดินทางมาก็ขอให้ติดต่อประสานมายังแพทย์และโรงพยาบาลก่อน เพื่อขอคำแนะนำ และนัดสถานที่รับตัวเข้ารักษา
 
อย่างไรก็ตามก็ได้มีการกำหนดแผนสำรองไว้ หากมีผู้ป่วยจำนวนมาก ทางอำเภอศีขรภูมิก็ได้มีการหารือกับโรงพยาบาล ทีมแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโรงพยาบาลสนามรองรับ โดยได้มีการเตรียมสถานที่ไว้แล้ว จำนวน 2 แห่ง หากมีความจำเป็น ตอนนี้ยังไม่เปิดเนื่องจากโรงพบาลศีขรภูมิยังสามารถรองรับได้  รวมไปถึงการเตรียมตั้งจุดแรกรับหรือศูนย์พักรอเตียง สำหรับผู้ติดเชื้อ ในส่วนการเฝ้าระวังตามหมู่บ้าน ชุมชน สถานที่กักรอดูอาการ เป็นที่กักตัวส่วนกลาง ก็ได้รับความร่วมมือจาก อบต. ,เทศบาลชุมชน ผู้นำชุมชน และประชาชน ได้บริหารจัดการตั้งไว้ทุกตำบล และหมู่บ้าน แล้ว
 
สำหรับการฉีดวัคซีน ก็ได้มีการบริหารจัดการตามที่ได้รับการจัดสรรมา ขอให้ประชาชนที่จะฉีดแจ้งความประสงค์เข้ามาผ่านทาง อสม. หรือ รพ.สต ซึ่งเราก็ได้บริหารจัดการตามที่ได้รับการจัดสรรมา อย่างดี ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย ก็ต้องมีการดำเนินการเด็ดขาดกับผู้ที่ฝ่าผืน ตาม พรบ.ควบคุมโรค และก็ต้องขอความร่วมมือกับชาวบ้าน ต้องร่วมกันสอดส่องดูแลร่วมกัน เพื่อที่จะลดและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และผ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปให้ได้ด้วยกัน
 
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการที่ได้รับฟังจากชาวบ้านและภาคส่วนต่างๆ ที่มองว่าทางจังหวัดควรที่จะต้องเตรียมแผนสำรองช่วยเหลือ เพื่อรองรับสถานณ์เผื่อกรณีที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกเหนือจากโรงบาลสนามบ้านละเอาะ เช่นสถานที่รองรับหรือศูนย์พักคอย สำหรับผู้ป่วยและที่ยังไม่ทราบผลตรวจที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงแล้วด้วยเหตุสุดวิสัย แต่ไม่สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลได้หรือหมู่บ้านไม่ตอนรับ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะนำเชื้อโรคมาระบาดในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เนื่องจากเขาไม่มีที่พัก ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะไปพักตามโรงแรม รีสอร์ท ต่างๆจนทำให้เชื้อระบาดยากที่จะควบคุมได้ โดยอยากเสนอให้ทางจังหวัดประสานความร่วมมือขอใช้พื้นที่ในค่ายวีรวัฒน์โยธิน ที่มีพื้นที่กว้างขวางจำนวนมากและสามารถควบคุมได้ เป็นจุดพักคอยสำหรับผู้ที่กลับภูมิลำเนาด้วยเหตุสุดวิสัย รวมถึงการวางแผนประสานวัดในการเผาศพผู้ที่ติดเชื้อ หากมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในพื้นที่ เนื่องจากแกรงว่าทางวัดไม่รับเผาหรือไม่มีความพร้อมในด้านบุคลากรในการทำเรื่องนี้

หน้าแรก » ภูมิภาค