วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 15:59 น.

ภูมิภาค

ศาลจำคุก กก.- ผจก.“มายาผับ หัวหิน” คนละ3เดือนไม่รอลงอาญา ฐานจัดคอนเสริ์ตแพร่เชื้อโควิด

วันเสาร์ ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, 13.53 น.

วันที่ 31 ก.ค. พ.ต.อ.ไพทูล พรมเขียน ผกก.สภ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับสถานบันเทิง “มายาผับ” (ไฮไฟร์) หัวหิน คลัสเตอร์โควิดใหญ่นับร้อยคนจากคอนเสริ์ต “โจอี้ บอย” เมื่อคืนวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมาว่า พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้จัดการร้าน พนักงานร้านและผู้ใช้บริการหลังรักษาตัวหายจากโรคโควิดแล้วกว่า 40 คนจนครบ ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จ.ประจวบฯ รวม 2 บุคคล กับ 1 นิติบุคล คือ บริษัทมายามิวสิคเอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด นายชาลี ศรีทองกูล อายุ 48 ปี กรรมการบริษัทมายามิวสิคเอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด และ นายคมกริช พิลาคง อายุ 43 ปี ผจก.ดูแลร้านมายาผับ ซึ่งได้ดำเนินการส่งฟ้องศาลจังหวัดหัวหินไปแล้วเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สำหรับประเด็นเรื่องสถานบริการเปิดเกินเวลาตามกฎหมายกำหนดในวันจัดคอนเสริ์ตและไม่มีใบอนุญาตนั้น ได้สอบปากคำผู้ใช้บริการทั้งหมดแล้วแจ้งว่าได้ปิดตามเวลาที่กำหนดแต่ยังมีการนั่งคุยกันต่อ ส่วนใบอนุญาตโดยใช้ชื่อเดิมคือไฮโฟร์นั้นอยู่ระหว่างการต่อใบอนุญาต ขณะที่สถานบันเทิงรายอื่นตามไทม์ไลน์ยังมีไม่มีฝ่ายปกครองหรือทางสาธารณสุขเข้าแจ้งความแต่อย่างใด

 

 

ต่อมาวันที่ 30 ก.ค. ศาลจังหวัดหัวหินได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 619/2564 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 602/2564 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดหัวหิน โจทก์ บริษัทมายามิวสิคเอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด จำเลยที่ 1 กับ นายชาลี ศรีทองกูล จำเลยที่ 2 และ นายคมกริช พิลาคง จำเลยที่ 3 ในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งพะราชกำหนดบริหารราชกานสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการการ จ.ประจวบฯโดยไม่ได้รับยกเว้นหรือมีเหตุจำเป็นอื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

 


โจกก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าระหว่างวันที่ 30 มี.ค. 64 เวลา 23.00 น. – 01.00 น.วันที่ 31 มี.ค.64 ซึ่งอยู่ในวันและเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมาย เปิดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นเพื่อการบันเทิง จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจดำเนินการแทน และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัว และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้มีหน้าที่จัดการควบคุมดูแลสถานบริการร่วมกันจัดหานักดนตรีนักแสดงและจัดให้มีการแสดงดนตรีคอนเสิร์ตของนักร้องนักแสดงชื่อโจอี้บอย มาแสดงคอนเสิร์ตและดนตรีที่มายาผับหรือมายาเอ็กซ์คลูซีฟผับไฮโฟร์ (Maya exclusive pub Hi 4) ดังกล่าว โดยร่วมกันจัดขายโต๊ะสำหรับประชาชนผู้เข้าชมคอนเสิร์ตจำนวน 106 ตัว ซึ่งมีผู้ใช้บริการโต๊ะละ 5 คน ในราคาที่ใกล้เวทีโต๊ะละ 5,000 บาท และโต๊ะที่ห่างเวทีโต๊ะละ 3,500 บาท

 

 

โดยจำเลยทั้งสามได้บังอาจร่วมกันยินยอมหรืออนุญาตให้กลุ่มลูกค้าซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือโรคติดต่ออันตรายและประชาชนทั่วไปที่จองซื้อบัตรเข้าไปใช้บริการภายในสถานบริการดังกล่าวเพื่อดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และชมการแสดงดนตรีในสภาพแออัดอย่างมากจำนวนประมาณ 500 คน ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้บริการเกินกว่าปริมาณโต๊ะขออนุญาตไว้ในลักษณะที่ให้ผู้ใช้บริการยืนใกล้ชิดเบียดเสียดลำตัวติดหรือใกล้ชิดกัน โดยไม่มีการจัดหรือควบคุมให้เว้นระยะห่างของบุคคลในระยะไม่น้อยกว่า 1 เมตร และไม่ดำเนินการใช้มาตรการจัดการควบคุมให้ผู้เข้าไปใช้บริการทำการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าอย่างทั่วถึง ไม่คำนึงถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเหตุให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการซื้อเครื่องดื่มและชมการแสดงดนตรีคอนเสิร์ตภายในสถานบริการดังกล่าวติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก และเป็นเหตุให้มีการแพร่เชื้อโรคติดต่อดังกล่าวแก่ประชาชนทั่วไป เป็นอันตรายต่อสุขภาพชีวิตและมีผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และทำให้ประชาชนที่ติดเชื้อโรคดังกล่าวเป็นพาหะแพร่กระจายโรคโควิดติดต่อกันไปเป็นจำนวนมาก และรัฐต้องชดใช้เยียวยาค่าเสียหายในการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ อันเป็นความเสียหายแก่รัฐเป็นจำนวนมากถึงขนาดประเมินค่าไม่ได้ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

 


ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 5,7,9,18,19 คำสั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่ 2009/2564 พระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ.2558 ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 40,000 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 จำคุกคนละ 6 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จำเลยที่ 1 ปรับ 20,000 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 จำคุกคนละ 3 เดือน เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง โทษจำคุกไม่รอการลงโทษ กรณีจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 ทั้งนี้ ภายหลังจากศาลตัดสินจำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับ ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ โดยวางเงินสดคนละ 30,000 บาท.

 

หน้าแรก » ภูมิภาค