วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 12:50 น.

ภูมิภาค

อ.คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.รัตนโกสินทร์ เจ๋ง! พัฒนา “รถเข็น DIY คว้ารางวัล 1 ใน 10 ของ “สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน”ประจำปี 63-64

วันอังคาร ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564, 12.21 น.

ผลงานการคิดค้นและดัดแปลงรถเข็นใส่ของที่ใช้ในห้างสรรพสินค้าซึ่ง อาจารย์สถิตเทพ สังข์ทอง (อาจารย์ภูมิ) อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และนักศึกษาได้ช่วยกันคิดค้นและดัดแปลงให้เป็นรถวีลแชร์ ซึ่งได้ถูกยกระดับจากอุปกรณ์ที่เสียหายไม่สามารถใช้การได้แล้วให้สามารถกลับมาเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปมอบให้ผู้พิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ของ “สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน” ปี 2 พ.ศ. 2563 – 2564 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ภายใต้มูลนิธิบูรณชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จากผลงานที่มีชื่อว่า “รถเข็นดัดแปลงเพื่อชุมชน” หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “รถเข็น DIY”

 

        
อาจารย์สถิตเทพ หรืออาจารย์ภูมิ เผยว่า หากย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการพัฒนา “รถเข็น DIY” คือการได้ไปร่วมงานกับรุ่นพี่ที่ได้เริ่มทำโครงการมาก่อนหน้าโดยการไปรับบริจาครถเข็นที่ห้างสรรพสินค้าชั้นที่ถูกปลดระวางเนื่องจากหมดอายุการใช้งานและเกิดความเสียหายและมาคิดค้นดัดแปลงเพื่อนำมาทำเป็นรถวีลแชร์สำหรับผู้พิการและมอบให้ฟรี ผ่านเพจ Cart Wheel Chair Donate ซึ่งได้มีการถ่ายทอดความรู้ให้โดยการจัดทำเป็นคลิบวิดีโอ แต่ต่อมาได้มีการนำมาพัฒนาต่อยอดที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เพื่อที่จะยกระดับจัดทำเพื่อการจดสิทธิบัตรและนำไปใช้แจกจ่ายให้ความรู้เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการได้

 

        
อาจารย์ภูมิ กล่าวว่า เมื่อได้เริ่มนำมาพัฒนาในคณะวิศวะกรรมศาสตร์ก็ได้มีการจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มวิชาซึ่งนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์จะต้องมีฝึกทักษะพื้นฐานด้านงานฝีมือจึงได้นำมาลงในหลักสูตรเพื่อให้ได้มีการจัดเป็นกิจกรรมเพื่อการมีส่วนร่วมต่อสังคมเป็นจิตอาสา โดยได้นำหลักวิศวะกรรมเข้ามาเขียนแบบในคอมพิวเตอร์และนำมาดัดแปลงตามหลักการเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ใช้งานได้จริงและทำให้ลดต้นทุนให้มากที่สุดซึ่งตอนนี้ 1 ตัวจะมีราคาต้นทุนประมาณ 300-500 บาท โดยที่สิ่งที่แตกต่างกันต่อเบาะรองนั่งซึ่งก็ยังได้ร่วมมือกับกลุ่มสตรีแม่บ้านในชุมชนให้มีการตัดเย็บเป็นเบาะหนังหรือผ้าขึ้นอยู่กับต้นทุนที่ได้รับบริจาคมา และนำมาติดตั้งล้อซึ่งหาซื้อได้จากท้องตลาด บางส่วนที่มีคนและไม่มีความสมดุลก็จะมีการตัดแต่งและจัดแก้ให้เรียบร้อย ซึ่งที่ผ่านมาก็ส่งต่อไปให้ผู้พิการตั้งแต่ลำตัวครึ่งล่างให้สามารถนำไปใช้งานได้

 

        
“โครงการของเราได้ทำจากความคิดว่าคนไทยที่เป็นผู้พิการมีประมาณ 2 ล้านคนและ 1 ล้านคนเป็นผู้พิการตั้งแต่ครึ่งตัวช่วงล่าง และจากการประเมินพบว่าแม้ผู้พิการจะได้รับการดูแลจากรัฐบาลไปพอสมควรแล้วแต่ก็ยังมีประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ที่ประสบปัญหาทางด้านการเงิน ผมคิดว่ากลุ่มนี้คือกลุ่มที่เรากำลังเข้าไปเติมเต็มให้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการมอบให้กับหน่วยงานต่างๆที่ร้องขอมาเพื่อนำไปมอบให้ผู้พิการหรือผู้พิการที่ร้องขอมาเราก็จัดดำเนินการเราหากทำได้เราก็จัดส่งให้ถึงที่ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ก็จะสนับสนุนเป็นค่าน้ำมันบ้าง รถไปรับและส่งของบ้านและมีนักศึกษามาร่วมกันช่วยในโครงการนี้ด้วย เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นแสงสว่างที่ส่องโลกแต่ขอเป็นแสงเล็กๆ ที่เป็นประกายความหวังของคนที่ยังขาดโอกาสในสังคมเพื่อส่งต่อสิ่งดีดีให้กันได้ต่อไปเรื่อยๆ” อาจารย์ภูมิ กล่าว

 

        
อาจารย์ภูมิ กล่าวว่า ในปีนี้ผลงานที่ออกมาเราได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ของ “สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน” ปี 2 พ.ศ. 2563-2564 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ภายใต้มูลนิธิบูรณชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จากผลงานที่มีชื่อว่า “รถเข็นดัดแปลงเพื่อชุมชน” หรือ “รถเข็น DIY” โดยเกิดจากการสร้างสรรค์ทางด้านวิศวกรรมขั้นพื้นฐานในการสร้างและดัดแปลง ให้เป็นนวัตกรรมเพื่อใช้ในการช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนรวมถึงเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยและเป็นการส่งเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสังคมชุมชน

 


ซึ่งเราเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาร่วมโครงการที่เป็นการกุศลก็สามารถทำได้หลายรูปแบบซึ่งมีทั้งการร่วมสมทบทุนมาในการดำเนินการ หรือจะมาร่วมแรงร่วมใจในการลงมือทำก็มีการเปิดการสอนการทำให้โดยสามารถติดต่อมาที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ ซึ่งเรายินดีที่จะจัดคอร์สฝึกอบรมและมาร่วมงานกันได้

 

        
อาจารย์ภูมิ กล่าวปิดท้ายว่า นอกเหนือจากสิ่งที่ได้ทำอยู่ตอนนี้ก็ได้มีการเพิ่มขีดความสามารถของ รถเข็น DIY จากรถเข็นที่ใช้คนเข็น ตอนนี้กำลังพัฒนาในห้องทดลองเพื่อที่จะจัดทำเพิ่มให้เป็นรถที่เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ซึ่งสามารถนำมาต่อประกอบแบบถอดและใส่ได้ง่าย เพื่อที่จะให้ผู้พิการมีขีดความสามารถที่จะเดินทางไปได้ไกลมากขึ้นและหมายถึงการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้ตัวเองได้มากขึ้นด้วย ซึ่งการพัฒนาตอนนี้ไปได้ไกลมากแล้ว คาดว่าไม่นานนี้จะมีรถต้นแบบที่สมบูรณ์แบบออกมาเป็นตัวอย่างแน่นอน

หน้าแรก » ภูมิภาค