วันอังคาร ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567 18:48 น.

ภูมิภาค

พ้นวิกฤตแล้ว ! ปลัด มท.สั่งเร่งสูบน้ำท่วมไร่ผลไม้เมืองจันท์กลับคืนสู่ปกติ

วันอังคาร ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2564, 00.33 น.

สวนทุเรียนเมืองจันท์ต้องรอด หลัง ปลัดมหาดไทยสั่งเร่งสูบน้ำท่วมออกจากไร่ผลไม้จนแห้งสนิท ด้านเกษตรกรดีใจภาครัฐเร่งช่วยพ้นวิกฤตเสียหาย ชี้ถ้ารอน้ำระบายธรรมชาติเจ๊งแน่ พร้อมเตรียมฟื้นฟูสวนผลไม้กลับคืนชีพ

จากกรณีที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา พร้อมสั่งการให้ ผู้ว่าฯ จันทบุรี ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมเครื่องมือและเครื่องจักรเร่งสูบน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่สวนผลไม้ข งเกษตรกรในพื้นที่ ต.วังสรรพรส และ ต.บ่อ อ.ขลุง ให้กลับคืนเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 วัน โดยเฉพาะต้นทุเรียนถ้าหากน้ำท่วมขังนานกว่า 7 วันจะทำให้ต้นทุเรียนรากเน่าตายนั้น

ล่าสุดวันที่ 18 ตุลาคม 2564 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.ขลุง โดยเฉพาะที่ ต.วังสรรพรส และ ต.บ่อ ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักได้กลับคืนสู่ภาวะปกติเกือบ 100 % แล้ว โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 17 จันทบุรี ร่วมกับนายอำเภอขลุง องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อ ช่วยกันเร่งสูบน้ำจากคลองสาขาของแม่น้ำเวฬุ ต.บ่อ ลงสู่แม่น้ำเวฬุ ที่ติดกับ ต.ประณีต อ.เขาสมิง จ.ตราด เพื่อให้น้ำระบายออกจากพื้นที่ อ.ขลุงได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้มวลน้ำกว่า 90 % ได้ระบายออกจากพื้นที่ 2 ตำบล ใน อ.ขลุง และยังเหลืออยู่อีกประมาณ 10 % จึงจะแห้งสนิท โดยปฏิบัติการสูบน้ำมาตั้งแต่เวลา 20.30 น.ของวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา และมีเป้าหมายที่จะระบายน้ำต่อไปจนถึงวันที่ 19 ตุลาคม เวลา 08.00 น.ซึ่งคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อย

นายฐิตนันท์ อุดมสุข ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 17 จ.จันทบุรี กล่าวว่าตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.หลังจากปลัดกระทรวงมหาดไทยสั่งการให้เร่งสูบน้ำออกจากไร่ผลไม้ของเกษตรกร ทางศูนย์ ปภ.เขต17 ได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 2 เครื่องสำหรับอัตราการทำงาน คือหนึ่งเครื่อง 54,000 ลิตรต่อนาที เราได้ 2 เครื่องก็ประมาณ 1 ลูกบาศก์เมตรต่อนาที เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม เวลา 20.30 น. เริ่มเดินเครื่องไม่ได้หยุดเครื่องเลย ล่าสุดวันนี้ (18 ต.ค.) สถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายเกือบปกติแล้ว ตอนนี้กว่า 90 % คงยังเหลืออีกประมาณ 10 % ซึ่งไม่เกินคืนนี้ก็น่าจะกลับสู่ภาวะปกติ 100 %

ด้านนายมานพ ใจถาวร เกษตรกร ชาวสวนทุเรียน ในอำเภอขลุง ตำบลวังสรรพรส พื้นที่หมู่ 8 เปิดเผยว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาถือเป็นรอบที่ 3 ของปีนี้ สำหรับความเสียหาย ครั้งล่าสุดถือว่ามากที่สุดในรอบ 10 ปี คือระดับน้ำท่วมสูงถึง 50 เซนติเมตร และเข้าท่วมขังภายในสวนทุเรียน นานประมาณ 3 วัน น้ำจึงเริ่มลดลง หลังจากเริ่มท่วมขังในวันที่ 13 ตุลาคม และนิ่งรอการระบาย จนวันที่ 16 ตุลาคมระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง และยังโชคดีที่ว่าต้นทุเรียนของตน เป็นทุเรียนอายุ 15 ถึง 20 ปี มีความทนทานต่อโรคยังสามารถยืนต้นต่อได้ แต่ภายหลังน้ำลดก็ต้องเฝ้าระวังและคอยสังเกตุ อาการรากเน่าและโรคต่างๆที่อาจจะมากับน้ำ ซึ่งยังต้องใช้เวลาในการเฝ้าสังเกตติดตาม ความเสียหายต่อไป นอกจากนี้ยังต้อง เตรียมค่าใช้จ่ายต่างๆในการเร่งบำรุงดิน และบำรุงต้นทุเรียนต่อไป

“การที่ราชการเข้ามาช่วยเหลือ อย่างน้อยน้อยเราก็ไม่ต้องรอเวลาเป็นอาทิตย์ หรือว่า 2-3 สัปดาห์ ถ้าไม่สูบน้ำออกผมว่าลำบาก เพราะน้ำมันระบายยาก ถ้าเรารอระบายตามธรรมชาติจะช้า แต่ถ้ามีการช่วยเหลือหรือมีการส่งผลักดัน ผมว่าดีมากครับ เพราะว่าตรงนี้มันเป็นแหล่งรับน้ำจากหลายหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น คลองเวฬุ คลองส่งน้ำอะไรก็ดี ผมว่าตอนนี้มันต้องจริงๆจังจัง ไม่อย่างนั้นมันก็จะเป็นอย่างนี้ทุกปี คือบางสวนเค้าปลูกมา 3-5 ปี กำลังจะได้ผล น้ำท่วมครั้งเดียว คือหมดเลย แล้วเขาต้องมานับหนึ่งใหม่อีก ซึ่งมันไม่ใช่วิธีที่ดี สำหรับชาวสวนเราจะเอาทุนที่ไหน มาปลูกแล้วก็ตายกำลังจะได้ผล น้ำก็ท่วม” เกษตรกรชาวสวนทุเรียนกล่าว

ขณะที่ประภาส จันทร์เผ่า ชาวสวนทุเรียน กล่าวว่าการเร่งสูบน้ำออกมันก็ช่วยได้เยอะ ถ้าปล่อยไว้ก็จะหลายวันถึงจะแห้งอย่างน้อยก็ 5-7 วันนั่นแหละ ถึงจะแห้งแล้วต้องทำใหม่ พ่นยากันเชื้อรา ถ้าไม่ฉีดก็จะเป็นเชื้อราหมดเลย เพราะเวลาออกลูกมาปุ๊บ มันก็เอาดีไม่ได้

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีปัจจุบัน ถือว่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติ และทางภาครัฐ อยู่ระหว่างเร่งสำรวจความเสียหาย ในพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะที่อำเภอขลุง ในพื้นที่ตำบลวังสรรพรส ได้รับความเสียหายทั้งหมด หลังน้ำลดยังต้องเฝ้าติดตามการฟื้นตัวของแต่ละสวน ซึ่งบางสวนที่ทุเรียนอายุน้อยไม่ถึง 5 ปี อาจจะได้รับความเสียหาย แต่ทุเรียนอายุ 10-15 ปีจะสามารถกลับมาฟื้นตัวตัวได้ รวมทั้งสวนผลไม้อื่นๆในพื้นที่ ส่วนใหญ่สามารถทนทานต่อสภาพน้ำท่วมขังได้ดี หลังจากนี้ชาวสวนในพื้นที่วังสรรพรสจะได้นำเสนอปัญหา ลำรางสาธารณะที่ลดลง บางแห่งตื้นเขิน ทำให้การระบายน้ำเป็นไปด้วยความยากลำบากมากยิ่งขึ้น ซึ่งทางภาครัฐจะได้เร่งสำรวจลำรางสาธารณะ ที่มีอยู่ เพื่อพัฒนาให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพต่อไป

หน้าแรก » ภูมิภาค