วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 14:09 น.

ภูมิภาค

ตามไปดู การทำบ้านดิน-ปลูกเห็ดเจ็ดชั่วโคตร ที่วัดป่าศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี

วันอังคาร ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2565, 07.58 น.

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2565 พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย  พระนักพัฒนาที่เสียสละและร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนมาโดยตลอดตามหลัก "บวร" หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ นำพี่น้องประชาชนในพื้นที่ร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ทำบ้านดินและปลูกเห็ดเจ็ดชั่วโคตร ณ ศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." ณ วัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
 


พระปัญญาวชิรโมลี  ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยถึงการทำบ้านดินว่า  สำหรับการทำบ้านดิน (Earth Bags) เป็นการสร้างบ้านดินแบบกระสอบดินเรียงกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ จนถึงหลังคา บางที่จะทำโครงสร้างหลังคาใส่ แต่บางที่ก็ทำเวียนๆ กันขึ้นจนถึงยอด อย่างเช่นที่วัดป่าศรีแสงธรรม แห่งนี้ จะมีบ้านดินหลายแบบ แต่ที่ใช้งานได้จริงก็จะเป็นแบบขนมชั้น และแบบกระสอบดิน ซึ่งน่าสนใจทำเป็นกุฏิรับรองแขกที่มาเยี่ยมเยียนวัด หรือทำเป็นกุฏิสำหรับพระสงฆ์ หรือตามศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นา พช. ก็เข้ากันได้ดี
 


บ้านดิน  ถ้าทำระบบกันความชื้น ระบบระบายอากาศดีๆ จะอยู่สบายมาก ถ้าเดินอยู่ข้างนอกร้อน ๆ เข้าไปในจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิทันที ด้วยผนังที่ความร้อนผ่านได้ยาก ต้องใช้เวลาเป็นสิบชั่วโมงความร้อนจึงจะผ่านเข้าไปในห้องได้ ถ้าเป็นหน้าหนาว ตอนหัวค่ำจะอุ่นพอดี คนชอบสไตล์ธรรมชาติก็บอกว่าสร้างบ้านหลังละแสนทั่วไปก็ไม่มีคนไปดู แต่พอเป็นบ้านดินรู้สึกจะมีคุณค่าขึ้นมาทันที บ้านดินหลังนี้จะผสมผสานทรงกลมกับทรงเหลี่ยมเข้าด้วยกัน และมีหลังคาดิน กับมีหลังคากระเบื้องเข้าด้วยกัน โดยมี ผศ.ดร.ชำนาญ บุญญาพุทธิพงศ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ช่วยออกแบบให้ ซึ่งเบื้องต้นจะเทคาน และเทพื้นไว้ แล้วค่อยกรอกดินใส่กระสอบประมาณ 2,000 ลูก ทยอยวางเรียงกันไปเรื่อยๆ ใช้ดินเหนียวอัดร่องที่วางกระสอบให้เรียบแล้วค่อยเอาปูนฉาบรอบกันดินร่อนเร็ว และกันดินร่วงเวลาเข้าอยู่ซึ่งเป็นปัญหาของบ้านดินทั่วไป งบประมาณที่ใช้น่าจะเป็นคอนกรีตโครงสร้าง กับหลังคา และแรงงาน หลังนี้น่าจะประมาณสามแสนบาท ท่านใดจะร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างบ้านดิน หรือจะมาช่วยออกแรงเอามื้อสามัคคีต้านไวรัสโควิด-19 กลางแดด ก็เชิญเข้ามาที่วัดได้เลย
 

 


ในส่วนของการปลูกเห็ดเจ็ดชั่วโคตร  ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานการเรียนรู้คนหัวเห็ด ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." แปลงพื้นที่ต้นแบบระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) ซึ่งเน้นการเพาะเห็ดเพื่อเป็นอาหาร ลดรายจ่ายในครัวเรือนด้วย ได้สารอาหารครบ 5 หมู่ และไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มีกำไรจากการปลูกป่า 5 ระดับ ที่ให้อะไรเราหลายอย่าง การปลูกเห็ดเจ็ดชั่วโคตรทำได้ทั้งเอาต้นกล้าไม้ไปชุบเชื้อเห็ดก่อนนำไปปลูก และเอาเชื้อเห็ดไปราดในป่าซึ่งแปลงนี้เป็นวิธีขยายจุลินทรีย์เห็ดชนิดต่าง ๆ ภาษาอิสานเรียกว่า “สำปะปี๊” ไม่จำกัดว่าเห็ดอะไร หมักประมาณ 3 เดือนขึ้นไปก็จะได้เชื้อเห็ดมา นำไปผสมนำสะอาด 1 : 40 ลิตร ราดไปในทั่วบริเวณ ถ้าหน้าแล้งดินแห้งอย่างนี้ต้อเอาน้ำรดก่อนเพื่อให้จุลินทรีย์เห็ดได้ซึมลงไปในดิน และขยายตัวได้ หรือจะทดลองราดในกระถางต้นไม้ดูก็ได้ แต่อุณหภูมิ ความชื้นที่เหมาะสมจึงจะเกิดเห็ด"
 


"ฐานการเรียนรู้ที่มีชีวิตในวัดป่าศรีแสงธรรม แห่งนี้ สร้างขึ้นมาเพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาคุณธรรมในจิตใจคน ให้เป็นพลเมืองดี เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ไปสู่การเป็นพลโลกที่ดีมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดั่งพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่าเราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ ก็จะเจริญรอยตามพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 อย่างมั่นคงสืบไป"
 


สำหรับวัดป่าศรีแสงธรรม  แห่งนี้ ได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ณ บริเวณโครงการ พระราชทาน "โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง" และยังเป็นศูนย์อบรมประชาชนเกี่ยวกับโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." ของกรมการพัฒนาชุมชน กว่า 1,100 คน จากนั้นได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการ "โคก หนอง นา พช." แปลง CLM อีก 15 ไร่ โดยได้รับการสนับสนุนจากงบเงินกู้รัฐบาล ผ่านทางกรมการพัฒนาชุมชน และหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 51 อำนาจเจริญ จนเกิดเป็นโครงการพัฒนาแบบร่วมมือกันตามหลัก “บวร” คือบ้าน วัด โรงเรียน ราชการ ภายใต้ชื่อ "โคกอีโด่ยวัลเล่ย์" เพื่อเป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะคุณธรรม ดังคำกล่าวที่ว่า "พระทำ" รวมกับ "พระธรรม" ในการเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ "โคก หนอง นา" แก่คนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต่อยอดและขยายผลให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต


 กิตติภณ  เรืองแสน / รายงาน

หน้าแรก » ภูมิภาค