วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 18:30 น.

ภูมิภาค

นครพนมโควิดบวก 58 ราย พบคลัสเตอร์ใหม่ร้านเหล้าท้ายเมืองติดเชื้อแล้ว 7

วันเสาร์ ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2565, 12.31 น.
วันที่ 15 มกราคม 2565 ทีมตระหนักรู้สถานการณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโรคโควิดประจำวัน ว่า พบผู้ป่วยเพิ่ม 58 ราย ติดเชื้อในพื้นที่ 47 ราย มาจากพื้นที่อื่น 11 ราย ได้แก่ 1.ชลบุรี 4 ราย,กทม.3 ราย และกระบี่-กาฬสินธุ์-ขอนแก่น-มุกดาหารจังหวัดละ 1 ราย รวมยอดป่วยสะสม 5,331 ราย เสียชีวิตเท่าเดิม 28 ราย โดยมีผู้ป่วยที่รักษาอยู่ใน รพ.ฯ จำนวน 492 ราย ไม่มีอาการ 309 ราย อาการปานกลาง 31 ราย และรุนแรง 2 ราย
 
 
ทั้งนี้ในจังหวัดนครพนมมีตัวเลขผู้ป่วยโควิดเป็นเลขตัวเดียวมานานนับเดือน แต่เริ่มมีตัวเลขดีดขึ้นมาเป็นสองตัว ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 65 หลังเทศกาลปีใหม่เป็นต้นมา รวมตัวเลขถึง ณ วันที่ 15 มกราคม 65 หรือ 12 วันผ่านมา มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิดแล้วจำนวน 519 ราย ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข ว่า หลังปีใหม่จะมีผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้น กอปรการอุบัติเชื้อโควิดกลายพันธุ์ใหม่คือโอมิครอน (Omicron) หรือ B.1.1.529 ซึ่งถูกพบและรายงานต่อองค์การอนามัยโลกเป็นครั้งแรก โดยทีมนักวิจัยในแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 64 โดยในห้วงเวลานั้นพบไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก รวมไปถึง สหรัฐฯ เยอรมนี ออสเตรเลีย และอินเดีย องค์การอนามัยโลกจึงประกาศให้โควิดสายพันธุ์ โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variant of concern) เนื่องจากพบการกลายพันธุ์จำนวนมากกว่า 50 ครั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้ไวรัสมีการแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น อาจจะมีอาการป่วยรุนแรงขึ้น หรือต้านทานวัคซีนที่มีการใช้กันอยู่ได้ โดยคาดการณ์ว่าโควิด-19 กลายพันธุ์โอมิครอน ก็เข้ามาแทนที่เดลตา กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในพื้นที่ทั่วโลก
 
 
จังหวัดนครพนมแม้จะมีการเตรียมการณ์รับมือเชื้อโควิดโอมิครอน และจากการย่อหย่อนของประชาชนร่วมด้วย ทำให้การแพร่ระบาดกระจายเป็นวงกว้างในระยะเวลาเพียง 12 วัน จึงฟื้นโรงพยาบาลสนามในมหาวิทยาลัยนครพนมเป็นศูนย์ดูแลโควิด-ชุมชน CI (Community Isolation : CI)  ที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 500 ราย และมีรายงานตัวเลขผู้ป่วยโควิดสะสม 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.รพ.นาแก 178 ราย 2.รพ.นครพนม 108 ราย และ 3.รพ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม 95 ราย 
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในห้วงก่อนและหลังเทศกาลปีใหม่ เกิดคลัสเตอร์แล้ว 4 แห่ง 1.คลัสเตอร์งานบวช 2.คลัสเตอร์วงเหล้า 3.คลัสเตอร์หมอลำ 4.คลัสเตอร์ห้างดัง และคลัสเตอร์ล่าสุดโผล่กลางเมืองนครพนม เป็นร้านเหล้าแห่งหนึ่งแถวท้ายเมืองย่านบันเทิงที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้  โดยนักดนตรีมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดจึงเข้ารับการตรวจหาเชื้อพบว่ามีผลเป็นบวก ก่อนจะติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด ประกอบด้วยเพื่อนนักดนตรี เด็กเสิร์ฟ และลูกค้ามาตรวจค้นหาเชื้อเชิงลึก พบว่ามีลูกค้าติดเชื้อ 2 ราย นักดนตรีและเด็กเสิร์ฟมีผลเป็นบวกอีก 4 ราย รวมเป็น 7 ราย ซึ่งผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและต่ำอยู่ในความดูแลของแพทย์หมดแล้ว โดยจะมีการตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อครบวงรอบของการเพาะเชื้อโควิด และทางผู้บริหารร้านรับผิดชอบเบื้องต้นด้วยการปิดบริการลูกค้าตั้งแต่วันที่ 11 มกราคมเป็นต้นมา แต่จะมีคำสั่งปิดอย่างเป็นทางการจากจังหวัดนครพนมในต้นสัปดาห์ที่จะถึงนี้อีกครั้ง
 
สำหรับศูนย์ดูแลโควิด - ชุมชน มหาวิทยาลัยนครพนม เป็นหนึ่งในสถานที่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม(คกก.ฯ) ได้อนุมัติมีการอนุมัติให้ปรับเปลี่ยนจากโรงพยาบาลสนามเดิมเป็นศูนย์ดูแลโควิด-ชุมชน เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีสถานที่กักตัวรักษาคือ กลุ่มสีเหลืองและสีเขียว เป็นการเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังรองรับการแพร่ระบาดในพื้นที่
 
 
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มสีเหลืองและสีเขียวจะต้องกักตัวดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation : HI ) และที่ศูนย์ดูแลโควิด - ชุมชน (Community Isolation : CI) แต่ถ้าแพทย์ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงก็จะให้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลร่วมกับกลุ่มสีแดงที่มีอาการรุนแรง และที่ผ่านมา คกก.ฯพบว่าในจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นสายพันธุ์โอมิครอนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่สามารถติดต่อกันได้ง่าย ประกอบกับประเมินแล้วว่าหลายบ้านของผู้ป่วยมีความพร้อมไม่เพียงพอสำหรับการกักตัวและรักษาตามมาตรฐานสาธารณสุข ดังนั้นจึงอนุมัติให้ปรับเปลี่ยนโรงพยาบาลสนามเดิมให้เป็นศูนย์ดูแลโควิด-ชุมชนในทุกอำเภอ เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนขึ้น โดยจากข้อมูลสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดนครพนมมีเตียงรักษาผู้ป่วยโควิด ทั้งสิ้น 2,112 เตียง แบ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอและโรงพยาบาลชุมชน 536 เตียง  และเตียงศูนย์ดูแลโควิด-ชุมชน 1,576 เตียง 

หน้าแรก » ภูมิภาค