วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 03:29 น.

ภูมิภาค

คึกคัก! ประเพณีบุญบั้งไฟลาวเวียง วัดดอนคา หนึ่งเดียวในภาคกลาง

วันอาทิตย์ ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 14.10 น.
ที่จังหวัดสุพรรณบุรี วัดโภคาราม (วัดดอนคา) ต.ดอนคา อ.อู่ทอง  จ.สุพรรณบุรี พระครูกิตติสุวรรณวัฒน์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภออู่ทอง  เจ้าอาวาสวัดโภคาราม (หรือวัดดอนคา) นายพสิน เหล็งหวาน นายก อบต.ดอนคา นายสิทธิพัฒน์ เหล็งหวาน กำนันตำบลดอนคา ผู้นำชุมชน และชาวบ้านตำบลดอนคา ทั้ง 20 หมู่บ้าน ร่วมกันจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟบ้าน เพื่อสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี เก่าแก่อันดีงามของชาวลาวเวียงบ้านดอนคาที่จัดสืบทอดกันมากว่า100ปีให้คงอยู่สืบต่อไป 
 
 
ซึ่งการจัดงานบุญบั้งไฟของบ้านดอนคาชุมชนชาวเวียง จะจัดขึ้นทุกปีโดยถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำเดือน6ซึ่งเข้าสู่ฤดูฝน ชาวบ้านในชุมชนบ้านดอนคา จะมีการจัดเตรียมงานกันอย่างคึกคัก แต่ละหมู่บ้านจะจัดทำบั้งไฟ และประดับตกแต่งบั้งไฟของหมู่บ้านตัวเองใส่รถเข็นหรือรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง หรือรถยนต์ที่ประดับด้วยผ้าหรือกระดาษสีให้สวยงาม โดยช่วงเย็นวันที่ 14 พ.ค. จะมีขบวนแห่บั้งไฟไปรอบหมู่บ้าน ซึ่งการแห่บั้งไฟรอบหมู่บ้านเป็นการนำบุญบั้งไฟไปให้ชาวบ้านได้ร่วมอนุโมทนาบุญ  และช่วงเช้าวันที่ 15 พ.ค.ชาวบ้านจะมาร่วมทำบุญวันวิสาขบูชาก่อน จากนั้นจะแห่บั้งไปจุด ในวันวิสาขบูชา ขึ้น15ค่ำ เดือน 6  หรือบุญกลางเดือนหก บรรยากาศภายในขบวนแห่จะมีนางรำแต่งกายด้วยชุดประจำถิ่นชุมชนลาวเวียงรำนำหน้าขบวน ตามด้วยรถขบวนประบั้งไฟที่ประดับอย่างสวยงาม พร้อมด้วยชาวบ้านดอนคาที่แต่งกายชุดประจำถิ่นลาวเวียงร่วมกันรำในบวนอย่างสนุกสนาน 
 
 
พระครูกิตติสุวรรณวัฒน์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภออู่ทอง  เจ้าอาวาสวัดโภคาราม (หรือวัดดอนคา) เล่าว่า ประเพณีบุญบั้งไฟลาวเวียงบ้านดอนคา ต.ดอนคา อ.อู่ทอง ได้จัดขึ้นมากว่า100ปี โดยพ่อคุณหงส์ ซึ่งเดินทางมาจากเมืองเวียงจัน ประเทศลาว มาตั้งรกรากทำมาหากินและมีลูกหลาน จำนวนมากจนกลายเป็นหมู่บ้านดอนคา และเจ้าอาวาสวัดดอนคา องค์แรกได้จัดประเพณีแห่บุญบั้งไฟขึ้น ตามประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาเพื่อเป็นการบูชาพระยาแถนซึ่งมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ให้ขาวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ และเพื่ออนุรักษ์สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟลาวเวียงที่มีแห่งเดียวในภาคกลางให้ลูกหลานได้สืบสานต่อไป 
 
 
สำหรับการจัดประเพณีบุญบั้งไฟลาวเวียงบ้านดอนคาที่จัดขึ้นทุกปีเพื่ออนุรักษ์สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟของชาวตำบลดอนคา ให้คงอยู่สืบต่อไปและยังทำให้ประชาชนทุกหมู่บ้านได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม ทำให้เกิดความรักความสามัคคี และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตชุมชนตำบลดอนคา เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง และประชาชนได้ร่วมกันแสดงออก และมีส่วนร่วมอนุรักษ์ประเพณีบุญบั้งไฟ ที่มีเพียงแห่งเดียวของภาคกลาง  
 

หน้าแรก » ภูมิภาค