วันอังคาร ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567 13:43 น.

ภูมิภาค

ตื่นตา! ปลาตีนสีสันสวยงามนับพันตัว หากินตามแนวป่าชายเลน บ่งชี้ระบบนิเวศสมบูรณ์

วันศุกร์ ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565, 13.37 น.
วันที่ 24 มิ.ย.65 นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีท้องถิ่น หน่วยอนุรักษ์ทรพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดกระบี่ บันทึกภาพฝูงปลาตีน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ปลาลาฉะ” จำนวนมากอาศัยตลอดแนวป่าชายเลน ระยะทางกว่า 100 เมตร ที่บ้านอ่าวน้ำ ม.2 ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ โดยฝูงปลาตีนดังกล่าว มีลักษณะแตกต่างกับปลาตีนที่อาศัยบริเวณป่าชายเลนริมเขื่อนปากน้ำหน้าเมืองกระบี่ โดยปลาตีนที่อ่าวน้ำจะมีลายจุดสีสันสดใส ความยาวประมาณ 5-10 ซม. ตามตัวไม่เปื้อนคราบโคลน หรือคราบน้ำมัน เหมือนปลาตีนทั่วไป รวมกลุ่มกันหากินริมป่าชายเลนและไม่พบว่ามีการต่อสู้แย่งชิงอาณาเขตกัน ใช้ครีบคู่หน้าคลานไปมา บางตัวกระโดดไปมา ปีนขึ้นไปเกาะตามรากโกงกางดูเพลิดเพลินตา บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ภายหลังเกิดวิกฤตการณ์การระบาดของไวรัสวิด-19 
 
นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร เปิดเผยว่า ขณะที่ตนได้เดินสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ บริเวณแนวป่าโกงกางบ้านอ่าวน้ำ ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก พบว่ามีฝูงปลาตีนอาศัยอยู่จำนวนมาก แต่ที่แปลกคือ บริเวณดังกล่าวไม่มีโคลน มีน้ำใส ทำให้มองเห็นสีสันของตัวปลาชัดเจน ซึ่งบรรยากาศแบบนี้พบเห็นได้ยาก จึงได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก สามารถเข้าใกล้ได้ โดยปลาตีนไม่มีท่าทีตื่นกลัวแต่อย่างใด 
 
นายนิวัฒน์ กล่าวอีกว่า โดยปกติแล้วปลาตีน หรือปลาลาฉะ ที่พบส่วนใหญ่ เช่น ที่ป่าชายเลนริมเขื่อนหน้าเมืองกระบี่ จะอาศัยตามดินโคลนสีดำ ตัวเปื้อนโคลนมอมแมม และมักจะต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอาณาเขต เข้าถ่ายภาพใกล้ๆ ไม่ได้ มันจะหนีทันที แต่ปลาตีนอ่าวน้ำ อยู่ในจุดที่มีน้ำใส ไม่มีโคลน มองเห็นสีสันสวยงาม มีฟันคู่หน้า 2 ซี่ ตาโตกว่า และที่สำคัญสามารถเข้าไปถ่ายภาพระยะใกล้ได้ โดยที่มันไม่ตื่นกลัว คาดว่าช่วง วิกฤตโควิด-19 ไม่มีกิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเล ส่งผลให้ระบบนิเวศมีความสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้ปลาตีนออกมาหากินจำนวนมาก และสามารถพัฒนาให้บริเวณเป็นแหล่งอนุรักษ์ปลาตีนสวยงาม และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ในอนาคต

หน้าแรก » ภูมิภาค