วันเสาร์ ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:03 น.

ภูมิภาค

ท่องเที่ยวชุมชนไทกวนบ้านนาถ่อน ชมช่างตีเหล็กมีดพร้าสวยงาม

วันพุธ ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565, 09.48 น.

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดนครพนม รายงานว่าในช่วงวันหยุดยาวที่จะมาถึงห้วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ยังมีชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี ที่น่าสนใจ ซึ่งเหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อน รวมถึงเยี่ยมชมศึกษาอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน และพักผ่อนหมู่บ้านโฮมสเตย์ คือพื้นที่ ต.นาถ่อน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม รวม 14 หมู่บ้าน ถือเป็นพื้นที่ชุมชนหมู่บ้าน ที่มีความโดดเด่นเรื่องวัฒนธรรมประเพณีโบราณ จึงได้ชื่อชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่น่าศึกษาเที่ยวชม โดยชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ชนเผ่าไทกวน มีการก่อตั้งรกรากมานานกว่า 100 ปี หลังอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศจีน อพยพเคลื่อนย้ายผ่านมาถึงแขวงคำม่วน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่ พร้อมตั้งเป็นชุมชนบ้านนาถ่อนในปัจจุบัน ทำให้มีการสืบสานอนุรักษ์ ประเพณีวัฒนธรรมมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

 


ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลนาถ่อน (อบต.นาถ่อน) นำโดย นายก่าย เมาลี นายก อบต.นาถ่อน พร้อมผู้บริหาร และผู้นำชุมชน ได้มีการพัฒนา เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชน หากคนต่างถิ่นได้มาท่องเที่ยวชุมชนนาถ่อน สิ่งที่พลาดไม่ได้ คือได้กราบไหว้ขอพร สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนนาถ่อน ได้แก่ ศาลปู่ตาแสง หรือศาลปู่ตาถือเป็นบรรพบุรุษของชนเผ่าไทกวนเป็นที่เคารพบูชามาแต่เริ่มตั้งเป็นหมู่บ้าน เชื่อกันว่าใครมากราบไหว้ขอพร จะมีโชคลาภ มีความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต แคล้วคลาดปลอดภัย โดยจะมีการจัดงานบวงสรวงขึ้นทุกปี ในช่วงก่อนฤดูกาลปักดำไถหว่านนาปี เพื่อขอฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ตามประเพณีความเชื่อ

 


สำหรับอาชีพชาวบ้านชนเผ่าไทกวน ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทอผ้าขิดพื้นบ้าน รวมถึงทำเครื่องจักรสานจากกก ที่ยกระดับมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ต่อยอดมาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนในปัจจุบัน


ส่วนไฮไลน์ที่ประชาชน นักท่องเที่ยวผู้มาเที่ยวชม จะต้องไปศึกษาเที่ยวชมหัตกรรมตีมีดสวยงามที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น เริ่มจากการตีมีดพร้า ใช้ในครัวเรือนแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ภายหลังยกระดับมาเป็นมีดพร้าสนามสวยงาม ส่งขายในกลุ่มผู้นิยมมีดพร้าสวยงาม เพิ่มมูลค่าเล่มละประมาณ 1,000-2,000 บาท สร้างรายได้รวมปีละหลายล้านบาท และเป็นการสืบสานรุ่นต่อรุ่นสู่รุ่นลูกหลานเยาวชน ทำให้มีรายได้เงินหมุนเวียนสะพัดในชุมชน

 

 


 

นอกจากนี้สิ่งที่พลาดไม่ได้อีกอย่างคือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีเปิดบริการล่องแพชมธรรมชาติความสวยงามของลำห้วยบังฮวก เป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง พร้อมมีบริการนวดสปาสมุนไพร ควบคู่กับการล่องแพ ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้ผ่อนคลาย ด้วยการรักษาสุขภาพด้วยการนวดสปาสมุนไพร และชมความสวยงามธรรมชาติสองฝั่งลำน้ำ เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

 


นายเฉลิม วีระวงค์ อายุ 60 ปี ตัวแทนชุมชน ในฐานะประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมชนเผ่าไทกวน เปิดเผยว่าชุมชนบ้านนาถ่อน หรือชนเผ่าไทกวน ถือเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีการเคลื่อนย้ายอพยพมาจากเมืองจีน ผ่าน สปป.ลาว ก่อนมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ ก่อนจะกลายเป็นชุมชนไทกวนบ้านนาถ่อน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ในปัจจุบัน ถือว่าเป็นชุมชนเข้มแข็งที่มีการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น มาจากอดีตถึงปัจจุบัน และร่วมพัฒนาเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีการสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีชนเผ่าไทกวน การแสดงฟ้อนรำ รวมไปถึงอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน ทั้งการทอผ้าขิด หัตถกรรมตีเหล็ก การทำหมู่บ้านโฮมสเตย์ การจัดกิจกรรมล่องแพ เพื่อรองรับประชาชน นักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ ในพื้นที่ให้ชาวบ้านมีอาชีพมีรายได้ยั่งยืน

 


ส่วน นายอลงกร สิงห์เงา อายุ 57 ปี รองนายก อบต.นาถ่อน เปิดเผยว่า ส่วนกิจกรรมการท่องเที่ยวสำคัญของชนเผ่าไทกวน จะเน้นเรื่องการศึกษาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมถึงชมหมู่บ้านนวัตวิถี เกี่ยวกับอาชีพหัตถกรรมตีเหล็ก ทำมีดพร้าถือเป็นอาชีพที่สืบสานมานานกว่า 30 ปี โดยผู้นำอาชีพดังกล่าวเข้ามาเผยแพร่เป็นบาทหลวงชาเวียร์ หมอสอนศาสนาชาวฝรั่งเศสแห่งเมืองเชียงขวาง แขวงคำม่วน ประเทศลาวสมัยนั้น จนมีการพัฒนาสืบทอดรุ่นต่อรุ่นมาถึงลูกหลาน เยาวชนรุ่นใหม่ และมีการต่อยอดเป็นอาชีพตีมีดพร้าสวยงาม เพิ่มมูลค่า ถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลาย 10 ล้านบาทต่อปี และเป็นแหล่งผลิตมีดพร้าจากแหนบรถยนต์ที่มีคุณภาพมากที่สุด โดยส่งออกขายทั่วไทย

 


นอกจากนี้ยังมีไฮไลท์สำคัญ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ คือกิจกรรมล่องแพนวดสปา สมุนไพร ที่มีประชาชน นักท่องเที่ยว ให้ความสนใจมาท่องเที่ยวพักผ่อน นวดสปาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อีกทั้งยังได้ชื่นชมความสวยงามทางธรรมชาติ ลำน้ำบังฮวกควบคู่ไปด้วย ฝากเชิญชวนพี่น้องประชาชน หากสนใจติดต่อสอบถามรายละเอียด สอบถามเส้นทางการท่องเที่ยวได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 099-4622599

หน้าแรก » ภูมิภาค