วันอาทิตย์ ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 05:37 น.

ภูมิภาค

จัดใหญ่จัดเต็ม!งานเกษตรภาคอีสาน ประจำปี 2566

วันพฤหัสบดี ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2566, 19.16 น.

31 ปี งานเกษตรภาคอีสาน ประจำปี 2566 จัดเต็มนวัตกรรมเกษตร พร้อมปรับพื้นที่ฟาร์มจัดงาน สวยงามยิ่งใหญ่ 27 ม.ค.นี้แน่นอน 10 วัน 10 คืนคาดกว่าคนชมกว่า 5 แสนคน เงินสะพัด 5-600 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการขยายตัวของธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขนาดกลางและขนาดย่อม

 

เมื่อเวลาเวลา 10.30 น.วันที่ 12 มกราคม 2566  ที่ ห้อง 5101 อาคาร AG 05 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดงานแถลงข่าว  การจัดงานวันเกษตรภาคอีสาน ประจำปี 2566 โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดการแถลงข่าว โดยมี รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวแถลงกิจกรรมของคณะเกษตรศาสตร์  นายธงชัย คำโคตร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 นายสรุพล ธัญญเจริญ ปศุสัตว์เขต 4 นายกมล โสพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวแถลงกิจกรรมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการนี้มี ประชาชนที่สนใจ และ สื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

 


   

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดงานวันเกษตรภาคอีสาน ถือได้ว่าเป็นอีกงานหนึ่งที่จัดขึ้นเพื่อสนองตอบต่อปณิธาน และ ปรัชญาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ว่าจะเป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม และเป็นศูนย์รวมการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นกิจกรรมใหญ่อีกกิจกรรมหนึ่งของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและของจังหวัดขอนแก่น  ที่ก่อให้เกิดการหมุนเวียน และ เป็นแรงขับเคลื่อนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในจังหวัดได้เป็นอย่างดียิ่ง จากการจัดงานครั้งล่าสุดเมื่อปี 2563 มีประชาชนเข้าเที่ยวชมงานรวมกว่า 500,000 คน หรือโดยเฉลี่ยวันละ 50,000 คน และ มีเงินทุนหมุนเวียนภายในงานมากกว่า 500-600 ล้านบาท

 


  

รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่าการจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดแบบเต็มรูปแบบครั้งแรกหลังงดเว้นไป 2 ปีหลังจากสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลาย สำหรับการจัดงานงานวันเกษตรภาคอีสานเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านการเกษตรของไทยเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่  เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)  เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และ การรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล”

 

 

ด้านรศ. ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มข.ประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า งานวันเกษตรภาคอีสานประจำปี 2566 กำหนดจัดขึ้นระหว่าง วันศุกร์ที่ 27 มกราคม - วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 รวมระยะเวลา 10 วัน ณ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีนี้นับเป็นปีที่ 31 ของการจัดงาน ซึ่งในปี 2564-2565 ได้งดเว้นการจัดงานเนื่องจากสถานการณ์การพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19โดยจัดขึ้นภายใต้คำขวัญ "นวัตกรรมเกษตรอีสาน มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" และกำหนดจัดพิธีเปิดงาน ในวันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2566 เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ณ อาคารนิทรรศการจตุรมุข อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยลัยขอนแก่น ได้รับเกียรติจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นผู้กล่าวต้อนรับประธานและผู้เข้าร่วมงาน และ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้กล่าวรายงานการจัดงานต่อประธานในพิธี

 

 
   

รศ. ดร.ดรุณี กล่าวเพิ่มเติมว่างานวันเกษตรภาคอีสานประจำปี 2566 ปีนี้นับเป็นปีที่ 31 ของการจัดงาน โดยจัดขึ้นภายใต้คำขวัญ “นวัตกรรมเกษตรอีสาน มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”  มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุล ยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมสืบสานพระราชปณิธานภายใต้ร่มพระบารมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ เพื่อแลกเปลี่ยนผลงานวิชาการและวิจัยทางการเกษตรของนักวิชาการทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนและเกษตรกร เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการขยายตัวของธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขนาดกลางและขนาดย่อม

 


 รศ. ดร.ดรุณี กล่าวต่อไปว่าในส่วนของพื้นที่การจัดงาน ในปี 2566 คณะเกษตรศาสตร์ ได้มีการปรับปรุงทัศนียภาพบริเวณโดยรอบอุทยานเทคโนโลยีการการเกษตร  ได้แก่ การจัดทำรั้วคาวบอย การเพิ่มเลนจักรยาน และการจัดทำลู่วิ่งเพิ่มเติม จึงได้มีการปรับเปลี่ยนผังการจัดงานโดยการขยับพื้นที่การจัดงานลงมาทางด้านทิศใต้ของอาคารนิทรรศการจตุรมุข มีการเปิดพื้นที่บริเวณฟาร์มคณะเกษตรศาสตร์และบริเวณทิศตะวันออกของบริเวณจัดงานเป็นลานจอดรถเพิ่มเติม สามารถจอดได้ทั้งรถบัสขนาดใหญ่และรถยนต์ส่วนตัว รองรับจำนวนผู้ที่มาเยี่ยมชมงานในแต่ละวันได้เป็นอย่างดียิ่ง รวมทั้งมีการให้บริการรถรางนำเที่ยวบริเวณรอบๆ พื้นที่จัดงานด้วย และหากผู้เข้าเยี่ยมชมงานต้องการหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดสามารถจอดรถบริเวณประตูหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่นและนั่งรถเมล์ปรับอากาศฟรีสายสีเขียว (shuttle bus) เข้ามายังบริเวณการจัดงานได้ ฉะนั้นการจัดงานวันเกษตรภาคอีสานประจำปี 2566 จึงเป็นทั้งความยิ่งใหญ่ของนวัตกรรมด้านการเกษตร และ ภูมิทัศน์ของพื้นที่จัดงานที่สวยงามมากๆ”

 


  

ส่วนนายธงชัย คำโคตร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กล่าวว่า  กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จ.ขอนแก่น ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชขอนแก่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรขอนแก่น และศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น ได้ร่วมกันจัดงานเกษตรภาคอีสานประจําปี 2566 ภายใต้แนวคิด "กรมวิชาการเกษตร 50 ปี เทคโนโลยีคู่เกษตรกรไทยก้าวไกลและยั่งยืน” มีพื้นที่จัดงานประมาณ 600 ตารางเมตร เป็นนิทรรศการที่จัดแสดง ประกอบไปด้วย 8 Zone ดังนี้ ZONE 1 50 ปี พืชไร่พันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตร ZONE 2 50 ปี เทคโนโลยีการผลิตและเครื่องจักรกลการเกษตร ZONE 3 การผลิตเมล็ดพันธุ์พืชและบริการตรวจสอบรับรองคุณภาพ ZONE 4 ปัจจัยการผลิต (ปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์) และการตรวจสอบปัจจัยการผลิต ZONE 5 อาหารปลอดภัยใส่ใจมาตรฐาน และพรบ.ปุ๋ยพันธุ์พืช และวัตถุอันตรายทางการเกษตร ZONE 6 การแปรรูปสินค้า และผลิตภัณฑ์จำหน่ายจ่ายแจกพันธุ์พืช ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ ZONE 7 เวทีสาธิตและเสวนาวิชาการ ZONE 8 จุด Check in หรือจุดแลนด์มาร์คสำหรับถ่ายภาพ: 50 ปี กรมวิชาการเกษตร ซึ่งทุกโซนล้วนสะท้อนถึงนวัตกรรมด้านการเกษตรที่ประชาชนไม่ควรพลาด

 


  

นายสุรพล  ธัญญเจริญ ปศุสัตว์เขต 4 กล่าวว่าตนรู้สึกมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้มาร่วมแถลงข่าวการจัดงาน มหกรรมไก่พื้นเมืองแห่งชาติ ครั้งที่ 7 ในงานวันเกษตรภาคอีสาน ประจำปี 2566 ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินกิจกรรมด้านปศุสัตว์ ดังนี้ที่ 27 มกราคม 2566 พิธีเปิดงานมหกรรมไก่พื้นเมืองแห่งชาติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2566 พร้อมกับมีการจัดประกวดไก่พื้นเมือง จำนวน 10 ประเภท ประเภทแกรนด์แชมป์ ทั้งเพศผู้ และเพศเมีย ชิงถ้วยพระราชทาน ฯ, มีการเสวนา "ทิศทางการส่งเสริมไก่พื้นเมือง เพื่อเพิ่มมูลค่า" และการสาธิตทำเมนูอาหารจากไก่พื้นเมือง ห่าน และเป็ดวันที่ 28 มกราคม 2566 มีการประกวดกระบือปลักพื้นเมืองไทย เพศเมีย 12 รุ่น และมีการประกวดไก่แจ้สวยงาม ภาคอีสาน ประจำปี 2566 จำนวน 6 ประเภท วันที่ 29 มกราคม 2566 มีการประกวดกระบือปลักพื้นเมืองไทย เพศผู้ 14 รุ่น และมีการประกวดกระบือรุ่นแกรนด์แชมป์ ทั้งเพศผู้ และเพศเมีย ชิงถ้วยพระราชทาน ฯ30 มกราคม 2566 มีการแข่งขันคล้องโค ล้มโค ประเภททีมผสม 4 คน (ชาย-หญิงประเภท และการแข่งขันทำอาหารจากไก่ / ส้มตำลีลา วันที่ 31 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ 2566 มีการแข่งขันประลองไก่เก่ง 3 รุ่น ชิงถ้วย พระราชทานฯ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 มีการสาธิต/ แข่งขันสะบัดแส้/ฟาดแส้ 2 ประเภท วันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2566 มีการประกวดแพะเนื้อพันธุ์แท้ 8 รุ่น แพะเนื้อพันธ์ลูกผสม 8 รุ่น และแพะแฟนชี 2 รุ่น พร้อมทั้งมีการเสวนาเครือข่ายการผลิตการตลาดเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะภาคอีสานตอนบน โดยทุกวันตลอดระยะเวลาการจัดงาน จะมีการจัดแสดงนิทรรศการ พันธุ์สัตว์ และมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าของกลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับการส่งเสริมจาก กรมปศุสัตว์.

หน้าแรก » ภูมิภาค