วันจันทร์ ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 14:04 น.

ภูมิภาค

ชาวเมืองย่าโมกว่า 1,000 คน แห่พระคันธารราฐ 300 ปี ลอดซุ้มประตูเมือง ยิ่งใหญ่

วันพฤหัสบดี ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2566, 20.57 น.

 

 

 

นครราชสีมา วันนี้(13 เมษายน 2566) เวลา 18.00 น ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พล.ท.สวราชย์ แสงผล แม่ทัพภาคที่ 2 , นายเทวัญ ลิปตพัลลภ อดีต รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา กว่า 1,000 คน ร่วมกันอัญเชิญพระคันธารราฐ หรือพระปางขอฝน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำ จ.นครราชสีมา อายุกว่า 300 ปี จากลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ลอดซุ้มประชุมพล หรือประตูเมืองนครราชสีมา รวมทั้งในโอกาสที่เมืองนครราชสีมาครบรอบ 555 ปี พร้อมแห่ไปตามถนน ให้ประชาชนที่มาร่วมงานสงกรานต์ได้สรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยในขบวนแห่ได้จัดขบวนอย่างยิ่งใหญ่ โดยทั้งสองฝั่งถนนมีประชาชนออกมาร่วมกันจับชายผ้าสีทองและสีเงิน ยาว 555 เมตร ที่โยงมาจากองค์พระฯเดินลอดซุ้มประตูชุมพล(ประตูเมือง) ร่วมแห่พระคันธารราฐ กลับไปประดิษฐานยังวิหารหลวงวัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร

 

 

 

ทั้งนี้พระคันธารราฐ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร สร้างเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2464 โดย “พระยานครราชเสนี (สหัด สิงหเสนี)” เจ้าเมืองนครราชสีมา คนที่ 11 เป็นผู้สร้าง มีขนาดหน้าตัก 39 นิ้ว สูงประมาณ 1 เมตร 30 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระในท่ากวัก พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา เป็นกิริยารับน้ำครั้งเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ พระยานครราชเสนี (สหัด สิงหเสนี) เจ้าเมืองนครราชสีมาขณะนั้น ได้ริเริ่มประกอบพิธีอัญเชิญ “พระคันธารราษฎร์ แห่ลอดประตูชุมพล” เนื่องในวันสงกรานต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนชาวโคราชเรื่อยมาจนถึงปี 2522 พิธีกรรมดังกล่าวได้หยุดไป กระทั่งเมื่อปี 2559 วัดพระนารายณ์ฯ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ปิดทองพระทศพลญาณประทานบารมี หรือหลวงพ่อใหญ่ และขุดค้นพบพระพุทธรูปโบราณหลายองค์ใต้ฐานพระประธาน ทางวัดจึงมีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นพิธีอัญเชิญพระคันธารราษฎร์ แห่ลอดประตูชุมพลขึ้นมา ซึ่งการลอดประตูชุมพล เป็นเอกลักษณ์ของเมืองโคราช ประชาชนนิยมกราบไหว้พระคันธารราษฎร์ เพื่อขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งเรียกชื่ออีกอย่างว่าพระขอฝน

 

 

 

 

หน้าแรก » ภูมิภาค