วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:54 น.

ภูมิภาค

ฟังไม่ผิดชื่อร้าน “ก๋วยเตี๋ยวใต้ถุน” ชวนโซ้ยซิกเนเจอร์ “ข้าวปุ้นน้ำงัว” ขายดีแค่ไหนดูที่ชามบนเคาน์เตอร์

วันศุกร์ ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 19.26 น.

 บ้านนาโพธิ์ หมู่ 5,12,17 ต.บ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม ตั้งอยู่ริมถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22 หรือเรียกติดปากว่าถนนนิตโย เริ่มจากจังหวัดอุดรผ่านสกลนคร สิ้นสุดที่ริมแม่น้ำโขงจังหวัดนครพนม รวมระยะทางประมาณ 240 กิโลเมตร  โดยหมู่บ้านแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เพราะสหประชาชาติ หรือ องค์การสหประชาชาติ (United Nations ตัวย่อ: UN) ได้มีการบันทึกไว้ประมาณว่า ปี 2518 ในประเทศลาวมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นชาวม้ง อพยพครอบครัวข้ามแม่น้ำโขงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทางการไทยจึงใช้พื้นที่ป่าสาธารณะบ้านนาโพธิ์หมู่ 12 สร้างเป็นศูนย์อพยพ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อสั้นๆว่าศูนย์ลาว บางคนก็เรียกศูนย์ UN เป็นต้น กระทั่งปี 2532 เหตุการณ์ภายในประเทศลาวสงบ ชาวม้งจึงอพยพกลับมาตุภูมิ

แม้แต่ค่ายพระยอดเมืองขวาง(ค่ายทหาร) ต.กุรุคุ อ.เมืองนครพนม เดิมยังใช้ชื่อหมู่บ้านไปตั้งเป็นค่ายนาโพธิ์ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานนามใหม่ว่าค่ายพระยอดเมืองขวางในปัจจุบัน

ด้วยพื้นที่เป็นชัยภูมิที่เหมาะ มีความสะดวกทั้งการสัญจรเดินทาง และติดต่อราชการ หมู่บ้านนาโพธิ์จึงมีความเจริญทุกด้าน ถือเป็นหมู่บ้านที่เติบโตเร็วกว่าตัวตำบลเสียด้วยซ้ำไป อนาคตคาดจะเป็นจุดสำคัญอีกแห่งของจังหวัดนครพนม

ทั้งนี้ ริมถนนฝั่งขาออกเมืองก่อนถึงวัดบ้านนาโพธิ์เล็กน้อย มีร้านอาหารตามสั่ง อยู่ใกล้จุดยูเทิร์นเข้าศูนย์ลาว ดูเผินๆเหมือนร้านอาหารตามสั่งทั่วไป ชื่อร้านครัวแซบโพธิ์ทะเลนาโพธิ์ ที่มาของชื่อเพราะมีต้นโพธิ์ทะเลอยู่หน้าร้าน มีเมนูอาหารนับสิบอย่างเขียนไว้หน้าเคาน์เตอร์ชัดเจน แต่ลูกค้าไม่เรียกชื่อร้านตามป้าย กลับเรียกว่าร้านก๋วยเตี๋ยวใต้ถุน เหตุที่เรียกชื่อเช่นนั้นก็ได้รับการบอกเล่าจากเจ๊ตุ๊-นางเมตตา จดชัยภูมิ อายุ 47 ปี เจ้าของร้านว่าด้วยตัวบ้านปลูกชั้นเดียวยกพื้นสูง ตั้งโต๊ะเก้าอี้อยู่ใต้ถุนบ้าน มีลมพัดผ่านเย็นสบาย ลูกค้าก็ชอบบรรยากาศธรรมชาติแบบนี้ เวลาชักชวนจึงพูดว่าไปกินก๋วยเตี๋ยวใต้ถุนกัน

เจ๊ตุ๊เล่าต่อว่าเมนูอาหารที่ลูกค้านิยมทานมากสุด มีพระเอกชูโรงอยู่ 2 เมนู คือ 1.ก๋วยเตี๋ยวเนื้อเอ็นตุ๋น และ 2.ข้าวปุ้นน้ำงัว (วัว) โดยเฉพาะข้าวปุ้นน้ำงัวได้สูตรมาจากคุณยาย เป็นซิกเนเจอร์ที่ใครมาต้องลองสั่งทาน อีกอย่างน้ำซุปใช้วัตถุเดียวกับน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวคือกระดูกวัว เพียงแยกหม้อเพราะน้ำซุปข้าวปุ้นน้ำงัวต้องเพิ่มเครื่องเทศบางตัวลงไปด้วย นอกจากมีข้าวปุ้นเป็นหลักแล้ว สำคัญต้องใส่เนื้อเอ็นตุ๋น รวมถึงเนื้อเศษ และเลือด เสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียงอย่างผักสด เช่น ถั่วงอก กะหล่ำปลีหั่นฝอย ใบโหระพา และพริกสดเผา ลูกค้าปรุงรสเผ็ด เปรี้ยว หวาน ตามใจชอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่าอยู่ห่างตัวเมืองกว่า 20 กิโลเมตรขายดีหรือไม่ เจ๊ตุ๊ชี้ให้ดูถ้วยชามที่วางอยู่บนเคาน์เตอร์ ประมาณคร่าวๆราวร้อยใบ โดยลูกค้าจะมามากตอนเวลาราว 11.00 น. โต๊ะเกือบ 20 ตัวแทบไม่พอนั่ง ไม่เกินบ่ายสามโมงก๋วยเตี๋ยวและข้าวปุ้นน้ำงัวก็ขายหมดเกลี้ยง จะเหลือก็เมนูจำพวกข้าวผัด สุกียากี้ ราดหน้า ผัดซีอิ๋ว ยำ ลาบ ก้อย ต้ม เป็นต้น และร้านไม่จำหน่ายเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด มีเพียงกาแฟสดเท่านั้น

หน้าแรก » ภูมิภาค