ภูมิภาค
สมโภชพญาศรีสัตตนาคราชยิ่งใหญ่ “ไผ่หลิว มิสแกรนด์”-“ชมพู่” รำบวงสรวง
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ที่ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม โดยจังหวัดนครพนมได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดพิธีบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช (นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล) โดยถือเอาวันที่ 7 เดือน 7 คือวันที่ 7-13 กรกฎาคม รวม 7 วัน 7 คืน เป็นวันสมโภชประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม ตลอดจนความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคที่คอยดูแลปกปักษ์รักษาผู้คนในแถบลุ่มน้ำโขง รวมถึงองค์พระธาตุพนมมาตั้งแต่อดีต อีกทั้งเป็นการยกระดับเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนมให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ให้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม
โดยฤกษ์งามยามดีเวลา 15.00 น. นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิพญาศรีสัตตนาคราช ประกอบพิธีบวงสรวงบอกกล่าวแก่องค์พญานาค จากนั้นพราหมณ์อ่านโองการอัญเชิญเทพบูชาฤกษ์ และก็มาเข้าสู่พิธีสงฆ์ ถือเป็นการเปิดงานสมโภชองค์พญาศรีสัตตนาคราช ประจำปี 2566 อย่างเป็นทางการ
ต่อจากนั้นเวลาประมาณ 17.30 น. ได้ตั้งขบวนแห่เครื่องบูชาบนถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22 (นิตโย) โดยมีนักท่องเที่ยว ประชาชนมาจับจองพื้นที่รอชมพิธีแห่อย่างเนืองแน่น สำหรับปีนี้ได้มีความแตกต่างเกิดขึ้น กล่าวคือไม่มีการจ้างศิลปินดาราชื่อดังมาเป็นนางรำเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา แต่เปิดรับผู้มีชื่อเสียงที่มีความศรัทธาต่อองค์พญาศรีสัตตนาคราชมาร่วมรำ ซึ่งได้นางรำที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาวนครพนมโดยกำเนิด คือ น้องไผ่หลิว-กมลวลัย ประจักษ์รัตนกุล มิสแกรนด์นครพนม 2023 และ มือเซตตัวเก่งของไทย น้องชมพู่-พรพรรณ เกิดปราชญ์ กัปตันวอลเล่ย์บอลทีมชาติไทย เป็นนางรำบวงสรวงต้น ร่วมกับนางรำทั้ง 12 อำเภอ จำนวน 9 ชนเผ่า ประกอบด้วย 1.ไทญ้อ(ย้อ) 2.ไทยแสก 3.ผู้ไทย (ภูไท) 4.เผ่ากะเลิง 5.ไทยข่า 6.ไทยกวน 7.เผ่าไทยโส้ 8.ไทยอีสาน 9 .ไทยตาด และ 2 เชื้อชาติ ได้แก่ 1.จีน 2.เวียดนาม ตลอดจนพี่น้องชาว สปป.ลาว และประชาชนจังหวัดต่างๆ ที่ยื่นความจำนงร่วมรำบวงสรวง โดยในการรำปีนี้ยังมีการประพันธ์เพลงรำบวงสรวงขึ้นมาใหม่ด้วย
ทั้งนี้ การรำบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราชของชาวจังหวัดนครพนม มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เพื่อแสดงให้ประชาชนทั่วไปตลอดจนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาร่วมกิจกรรม ได้เห็นถึงความงดงามของศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยลุ่มแม่น้ำโขง การแสดงวงดนตรีพื้นเมือง มหกรรมซุ้มอาหารโรงทาน และการจำหน่ายสินค้าดีสินค้าเด่นของแต่ละชุมชน
นอกจากนี้เวลาประมาณ 2030 น. มีการแสดงบินโดรนจากสถาบันพระปกเกล้า จำนวน 500 ลำ เหนือกลางลำแม่น้ำโขง ที่ได้แปลอักษรและภาพสัญลักษณ์สำคัญต่างๆ ของจังหวัดนครพนม เช่น องค์พระธาตุพนม พญาศรีสัตตนาคราช และภาพอมตะตลอดกาลคือในหลวง ร.9 กับยายตุ้ม พร้อมโบสถ์นักบุญอันนา ฯลฯ ซึ่งจัดให้มีการแสดงบินโดรนด้วยกันทั้งสิ้น 2 วัน ขณะเดียวกันก็ยังมีการแสดงโขน ที่เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย มีความสง่างาม อลังการ และอ่อนช้อย ของท่วงท่ารำตามแบบละครใน มาจัดแสดงให้ผู้ที่มาร่วมงานได้รับชม ศึกษาและเรียนรู้ศิลปะที่เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยที่พร้อมก้าวไปสู่สายตานานาชาติ
โดยพญาศรีสัตตนาคราช ประดิษฐานอยู่ริมแม่น้ำโขง มีทั้งหมด 7 เศียรสร้างด้วยทองเหลืองทั้งองค์ สูง 10.90 เมตร น้ำหนักรวม 9 ตัน ถือเป็นพญานาคหนึ่งเดียวในโลกที่ไม่เหมือนที่ใด เพราะที่พระศอมีสร้อยสังวาลย์ที่นำเอาสัญลักษณ์เหนือซุ้มประตูองค์พระธาตุพนมมาสวมคล้องไว้ แสดงถึงพญานาคที่มีความผูกพัน เชื่อมโยง พิทักษ์ ปกปักรักษาองค์พระธาตุพนมตามตำนานที่กล่าวขานสืบมานานชั่วอสงไขย
ซึ่งชาวนครพนมถือว่าเป็นสัญลักษณ์ ของความเจริญรุ่งเรือง เชื่อว่าใครที่ได้กราบไหว้ขอพร จะนำมาซึ่งเกียรติยศ ชื่อเสียงและโชคลาภ เป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครพนม ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางแวะเวียนมากราบไหว้บูชาขอพร เป็นสถานที่ ที่ประกาศศักดิ์ศรีบารมีให้แก่เมืองนครพนมให้มีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวถึงอย่างขจรขจาย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เป็นความบังเอิญเหลือเกิน คือ วันสมโภชพญาศรีสัตตนาคราชวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี ไปตรงกับเทศกาลทานาบาตะ หรือเทศกาลแห่งดวงดาว เป็นหนึ่งในเทศกาลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศญี่ปุ่น โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 7 เดือนกรกฎาคมของทุกปี ซึ่งในวันทานาบาตะนี้ ชาวญี่ปุ่นจะเขียนคำอธิษฐานลงในกระดาษทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่เรียกว่าทังซะกุ หรือพับกระดาษให้เป็นรูปนกกระเรียน รวมถึงรูปทรงสวยงามต่าง ๆ แล้วจึงนำไปแขวนไว้ที่กิ่งไผ่ เพื่อขอพรจากดวงดาว
มีตำนานกล่าวถึงเรื่องราวความรัก ระหว่างดวงดาวทั้ง 2 ดวงที่จะโคจรมาพบกันเพียงปีละหนึ่งครั้ง โดยดวงดาวทั้งสองนี้คือโอริฮิเมะ เจ้าหญิงทอผ้า (ดาว Vega) และฮิโกะโบชิ (ดาว Altair) ชายเลี้ยงวัวที่ต่างหลงระเริงไปกับความรักที่ทั้งคู่มีต่อกันและกันจนละทิ้งหน้าที่การงาน บิดาของเจ้าหญิงโอริฮิเมะ ผู้เป็นกษัตริย์แห่งสรวงสวรรค์ เห็นดังนั้นรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงได้แยกทั้งคู่ออกจากกัน โดยให้ไปอยู่ไกลห่างคนฟากฝั่งของทางช้างเผือก เพื่อหวังว่าการแยกห่างจากกันครั้งนี้ จะทำให้ทั้งคู่สามารถกลับมาทำหน้าที่ของตนเองได้ดังเดิม
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวกลับไม่ได้เป็นไปดังที่กษัตริย์แห่งสรวงสวรรค์คาดการณ์ไว้ เพราะหลังจากที่ได้จับแยกทั้งคู่ออกจากกันแล้วนั้น โอริฮิเมะก็โศกเศร้าเสียใจ ร่ำไห้ตลอดวันคืนจนไม่มีกระจิตกระใจจะกลับไปทอผ้าดังเดิม กษัตริย์เห็นน้ำตาของพระธิดาก็รู้สึกสงสาร จึงอนุญาตให้ทั้งคู่สามารถมาพบกันได้ปีละครั้ง ในวันที่ 7 กรกฎาคมของทุกปี จึงเรียกวันดังกล่าวนี้ว่าวันทานาบาตะ หรือเทศกาลแห่งดวงดาวความรัก
ดังนั้น ผู้ใดได้มากราบไหว้ขอพรต่อองค์พญาศรีสัตตนาคราช ในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ นอกจากจะสมหวังในด้านโชคลาภแล้ว ยังสมหวังในด้านความรักอีกด้วย
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » ภูมิภาค
Top 5 ข่าวภูมิภาค
![]()
- หนุ่มคลั่งยิงดับ 2 ศพ ก่อนจบชีวิตตัวเองตาม 18 พ.ค. 2568
- แม่ค้าแผงทุเรียนหายตัวปริศนา พร้อมทองคำใส่ติดตัว 20 บาท 18 พ.ค. 2568
- "คฑาเทพ" ชี้เปรี้ยง เดือน ส.ค. 68 เปลี่ยนนายกฯคนใหม่ ปี 70 ยุบสภา 18 พ.ค. 2568
- เชียงใหม่ครองอันดับ 1 เมืองปลอดภัยที่สุดในอาเซียน ปี 2025 ผู้ว่าฯเชียงใหม่สั่งดูแลแหล่งท่องเที่ยวจุดสำคัญ 18 พ.ค. 2568
- ทั่วไทยฝนยังตกต่อเนื่อง! มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง 18 พ.ค. 2568
ข่าวในหมวดภูมิภาค
![]()
พะเยา จัดยิ่งใหญ่! เทศกาลงานลิ้นจี่ของดีอำเภอแม่ใจ ปี 68 21:26 น.
- ชาวกาฬสินธุ์เฮ! รมช.คมนาคมลงพื้นที่เล็งพัฒนาเส้นทาง 3 อำเภอ มุ่งสู่เมืองแหล่งท่องเที่ยว 20:59 น.
- หนองคาย ขนส่งเคาะประมูลเลขสวยหมวด กท 20:33 น.
- แฉทำกันเป็นขบวนการใหญ่ นายทุน ผู้มีอิทธิพล จนท.รัฐ เก็บปาล์มน้ำมันในป่าสงวนพื้นที่หมดสัมปทานกว่า 2 หมื่นไร่ 20:26 น.
- อาถรรพ์เชือกแดง! ดช.วัย 11 ปี แกล้งคล้องเล่นสุดท้ายตายจริงคาบ้าน 20:06 น.