วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 19:51 น.

ภูมิภาค

ความสวยงามภาพดาวศุกร์สว่างที่สุด รอชมอีกครั้งเดือนกันยายน

วันพุธ ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2566, 10.34 น.

ผู้สื่อข่าวจังหวัดปราจีนบุรี  ได้รับแจ้งจาก งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ “ดาวศุกร์สว่างที่สุด” ช่วงหัวค่ำ วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ปรากฏสว่างเด่น เหนือขึ้นไปมีดาวเรกูลัส (ซ้าย) เคียงข้างดาวอังคาร (ขวา) สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ19:00 น. ถึงเวลาประมาณ 21:09 น. ในพื้นที่ที่ไร้ฝนสามารถชมความสวยงามได้อย่างชัดเจน 

ดาวศุกร์สว่างที่สุด เป็นช่วงที่ดาวศุกร์โคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม และมีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ สำหรับในช่วงอื่น แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งที่อยู่ห่างจากโลกมาก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย และเนื่องจากดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธมีวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก คนบนโลกจึงมองเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวอยู่เสมอ ไม่สามารถเห็นดาวศุกร์สว่างเต็มดวงได้ เพราะจะปรากฏสว่างเต็มดวงเมื่ออยู่หลังดวงอาทิตย์เท่านั้น

สำหรับความหนาบางของเสี้ยวจะแตกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่งของวงโคจร และปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้มากที่สุด 47.8 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้นไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือในช่วงเวลาดึก หากดาวศุกร์ปรากฏบนฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประกายพรึก” 

ปรากฏการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งถัดไป จะเกิดขึ้นในช่วงเช้ามืด วันที่ 18 กันยายน 2566 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างเด่นทางทิศตะวันออก เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่า ตั้งแต่เวลา 03:25 น. จนกระทั่งดวงอาทิตย์
ขึ้นจากขอบฟ้า

หน้าแรก » ภูมิภาค