วันอาทิตย์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:08 น.

ภูมิภาค

รอบ 20 ปี พบปลาเสือปลาหายากในลุ่มน้ำโขงจังหวัดเชียงราย

วันพุธ ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2566, 18.17 น.

ทางเจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้รับแจ้งจากชาวบ้านกลุ่มประมงแม่น้ำกก ว่ามีการจับปลาเสือหรือปลายี่สกไทยได้บริเวณปากแม่น้ำกก บ้านเชียงแสนน้อย ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จำนวน 1 ตัว น้ำหนัก 15.8 กิโลกรัม จากการติดตามสถานการณ์ปลาในแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมาไม่เคยมีรายงานการจับได้ของชาวประมงมาก่อน

ปลาเสือเป็นชื่อเรียกของชาวประมงแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย ทางภาคอีสานเรียกว่าปลาเอิน ชื่อทั่วไปเรียกว่าปลายี่สก หรือ ปลายี่สกทอง เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Probarbus jullieni อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน Cyprinidae สถานการณ์อนุรักษ์ของปลายี่สกอยู่ในบัญชีไซเตส สถานภาพถูกคุกคาม เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์(cr)

จากการทำการวิจัยชาวบ้านองค์ความรู้ท้องถิ่นพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงในปีพ.ศ.2546-2547 และครั้งที่สองในปีพ.ศ. 2564 ของทางทีมสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ไม่เคยมีรายงานการพบเจอตัวของปลาเสือเลย การพบเจอปลาเสือที่บริเวณปากแม่น้ำกก ในครั้งนี้ของชาวประมงบ้านเชียงแสนน้อย พบเพียงแห่งเดียวที่มีการจับปลาเสือได้ในแม่น้ำโขงพื้นที่จังหวัดเชียงราย

นายสุขใจ ยานะ อายุ 72 ปี บ้านเชียงแสนน้อย ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 
 กล่าวว่า ลุงจับได้ปากแม่น้ำกกใกล้กับแม่น้ำโขง น้ำหนัก 15.8 กิโลกรัม ปลาเสือปีนี้พึ่งได้เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี เป็นปลาหายาก มีคนเคยใส่ไซลั่นไปบ้างนานๆที ตัวละประมาณ 2-3 กิโลกรัม ปีหนึ่งคนจะจับได้ในแม่น้ำกกปีละ 1-2 ตัวเท่านั้น ตัวนี้จับได้โดยการไหลมอง เมื่อวานช่วงเช้ามืดเพราะสองสามวันนี้น้ำขึ้น ปลาเสือมันขึ้นจากในแม่น้ำโขง จับได้เฉพาะช่วงนี้ ฤดูกาลอื่นก็ไม่เจอเลย ปลาเสือคล้ายปลาสา แต่หัวมันใหญ่กว่าปลาสา

สำหรับ ปลาเสือหรือปลายี่สกทองเป็นนปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ หัวค่อนข้างโต มีหนวดสั้น 1 คู่ อยู่มุมปากบน ปากเล็กยืดหดได้ สีของลำตัวเหลือง มีแถบสีดำ 7 แถบ พาดไปตามความยาวของลำตัว แถบสีดำเหล่านี้จะพาดอยู่ระหว่างรอยต่อของเกล็ด ตาสีแดง ครีบทุกครีบสีชมพู ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พบมีความยาว 1 เมตร และมีน้ำหนักถึง 40 กิโลกรัม ปลาเสือหรือปลายี่สกทอง เป็นปลาที่พบตามแหล่งน้ำใหญ่ของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง 

ในพื้นที่แม่น้ำโขงจังหวัดเชียงรายมีการจับได้ที่ปากแม่น้ำกก พื้นที่มีลักษณะระบบนิเวศ เป็นที่ราบน้ำท่วม บริเวณแม่น้ำกกมาบรรจบกับแม่น้ำโขง  ที่ชาวบ้านเรียกว่าปงกก เป็น 1ใน 12 ของระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง  “ปงกก” ลักษณะเป็นที่ราบปากแม่น้ำ มีต้นไม้ ต้นแขมขึ้นปกคลุม ในฤดูน้ำหลากจะถูกน้ำท่วมเป็นผืนเดียวกับแม่น้ำ ช่วงน้ำลดจะเหลือเป็นร่องน้ำ บวก  และแห้งในฤดูแล้ง ปงเป็นแหล่งวางไข่ที่สำคัญของปลาในแม่น้ำโขงก่อนที่จะอพยพเข้ามาในแม่น้ำกก ปัจจุบันปงถูกถมกลายเป็นท่าเรือพาณิชย์แห่งที่ 2 อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ด้านนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตกล่าวว่าจากการติดตามสถานการณ์ปลาในแม่น้ำโขง พบว่าปลาเสือหรือปลาเอินในอดีตเคยมีชุกชุมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และแม่น้ำโขง  สำหรับในแม่น้ำโขงมีการพบได้ทางภาคอีสาน แต่ทางโขงเหนือยังไม่เคยมีการจับปลาเสือได้ทั้งในแม่น้ำอิงและแม่น้ำกก จากการทำงานที่ผ่านมาคิดว่าคงไม่มีปลาเอินในพื้นที่น้ำโขงเชียงราย การจับได้ของชาวประมงในครั้งนี้ จึงได้รู้ว่าในพื้นที่ยังมีปลาเสืออยู่ การเจอปลาเสือที่นานๆ ครั้งเคยจับได้ที่ปากแม่น้ำกก มันแสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศน์แม่น้ำกกยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ ตอนนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าปลาเสือเป็นปลาอพยพขึ้นมาเพื่อวางไข่หรือเป็นปลาประจำถิ่น เพราะพื้นที่ปากแม่น้ำกกที่มีการจับปลาได้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ wet land รัศมี 3 กิโลเมตร มีความหลากหลายของระบบนิเวศน์และพรรณพืช ชาวบ้านเรียกว่า ปงกก เป็นหนึ่งในระบบนิเวศน์ที่มีความสำคัญ ปรากฎการณ์เจอปลาเสือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นปลาหายากและไม่เคยเจอในแม่น้ำกก เป็นปลาที่ถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทางสมาคมมีแผนที่จะศึกษาและสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัย หรือแหล่งที่ปลาจะขยายพันธุ์ทางธรรมชาติได้ เพราะสถานการณ์แม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลง น้ำขึ้นลงผิดปกติจากการสร้างเขื่อน ซึ่งทางนักวิชาการประมงก็ได้ชี้ชัดว่าการสร้างเขื่อนส่งผลกระทบโดยตรงการการอพยพขึ้นลงของปลา ในระยะต่อไปคงจะสร้างความร่วมมือกับชุมชนในการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยของปลาเสือต่อไป

หน้าแรก » ภูมิภาค