วันพฤหัสบดี ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:47 น.

ภูมิภาค

มิติใหม่ของละครเพื่อเด็กพิการทางการเห็น โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

วันจันทร์ ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566, 14.07 น.

“ละครเวทีเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กพิการทางการเห็น” ต้องการให้เด็กพิการทางการเห็นสามารถรับชมการแสดงนี้ ไม่เพียงเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ผู้จัดทำได้เล็งเห็นว่า เด็กพิการทางการเห็นมีโอกาสในการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายน้อยมาก เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านสายตาที่อาจจะเป็นอุปสรรค์ในการเรียนรู้ เลียนแบบ หรือการเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระได้เหมือนเด็กปกติ
 


เมื่อวันที่ 20  พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ หอประชุม โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร นายพิสิฐ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “ละครเวทีเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กพิการทางการเห็น”ภายใต้โครงการจินตนาการเสรี สื่อละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กพิการทางการเห็น พร้อมทั้งกล่าวเปิดงาน โดยมีนายประสงค์ สุบรรณพงษ์ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับประธานในพิธี แขกผู้มีเกียรติ และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ในการนี้ นางสาวเพชรรัตน์ มณีนุษย์ (หัวหน้าโครงการ)กล่าวต้อนรับ และรายงานวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการ, นางสาววิจิตา รชตะนันทิกุล คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการหรือกิจกรรมตามสัญญาให้ทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2566กล่าวถึงภาพรวมและผลการติดตามโครงการจินตนาการเสรี สื่อละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กพิการทางการเห็น และดร.ชำนาญ งามมณีอุดม  รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเด็นด้านคนพิการและผู้สูงอายุ
 


นางสาวเพชรรัตน์ มณีนุษย์ (หัวหน้าโครงการ) กล่าวว่าเนื่องจากในปัจจุบัน เด็กพิการทางการเห็นไม่มีทางเลือกในการรับสื่อศิลปะที่หลากหลายมากนัก ผู้จัดทำต้องการเพิ่มพื้นที่ทางศิลปะให้กับเด็กพิการทางการเห็นด้วยการเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะการแสดงละครเวทีที่เด็กพิการทางการเห็นสามารถรับชมได้จากทักษะการรับรู้ที่มีอยู่ขีดจำกัด เช่น การรับชมละครด้วยการฟังเสียง การได้กลิ่น การสัมผัส การชิมรสชาติ เป็นต้น นอกจากประสบการณ์ในการรับชมจากการรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสต่างๆแทนการรับรู้ทางกายภาพแล้ว ผู้จัดทำได้ออกแบบให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับการแสดงในรูปแบบละคร Immersive Theatre ซึ่งผู้ชม สามารถเป็นส่วนสำคัญหลักในการดำเนินเรื่องที่เป็นการแสดงสด โดยหนังสือเสียง ละครวิทยุ ละครโทรทัศน์ ไม่สามารถสร้างประสบการณ์การรับชมสื่อทางศิลปะการแสดงแบบนี้ได้ ดังนั้นผู้จัดทำจึงต้องการออกแบบการสร้างประสบการณ์ร่วมทางด้านละครเวทีที่เหมาะสมกับเด็กพิการทางการเห็น
 


ผู้จัดทําโครงการจึงออกแบบสื่อสร้างสรรค์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) สื่อการแสดงสดในรูปแบบละครเวทีที่เน้นการมีประสบการณ์ร่วม (Immersive Theatre) และ (2) สื่อละครเสียงและคลิปวิดีโอการเรียนการสอนเพื่อเป็นเครื่องมือให้ครูและผู้ปกครองสามารถนำไปพัฒนาเด็กพิการทางการมองเห็นได้ด้วยตัวเอง โดยในด้านของการออกแบบการแสดงละครที่เน้นให้ผู้ชมมีประสบการณ์ร่วม เนื่องจากเด็กพิการทางการมองเห็นมีความจําเป็นอย่างยิ่งในการเรียนรู้แบบมีประสบการณ์ร่วมเพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจและการตีความสภาพแวดล้อมต่างๆ รอบตัวได้ง่ายขึ้น ผู้กำกับละครเรื่องนี้จึงออกแบบให้เด็กพิการทางการเห็นมีส่วนร่วมในการแสดง สามารถจินตนาการไปกับการสมมุติบทบาทเป็นตัวละครต่าง ๆ เพื่อพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวและการเรียนรู้ทักษะชีวิต ส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสังคมเพิ่มมากขึ้น และมีการสรุปองค์ความรู้เป็นคลิปสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบวิดีโอเพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ครู ผู้ดูแล และผู้ปกครองสามารถนําไปประยุกต์ใช้เป็นกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการและทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กพิการทางการเห็นที่บ้านหรือที่โรงเรียนได้เอง โดยใช้สื่อละครสร้างสรรค์ในการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
 


ผู้จัดทำต้องการให้เด็กพิการทางการเห็นสามารถรับชมการแสดงนี้ ไม่เพียงเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ผู้จัดทำได้เล็งเห็นว่า เด็กพิการทางการเห็นมีโอกาสในการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายน้อยมาก เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านสายตาที่อาจจะเป็นอุปสรรค์ในการเรียนรู้ เลียนแบบ หรือการเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระได้เหมือนเด็กปกติ เฉกเช่น ในวิชาพละศึกษาที่อาจจะมีกิจกรรมการเรียนการสอนในการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างน้อย รวมทั้งการไม่มีเครื่องมือหรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้เด็กพิการทางการเห็นได้มีโอกาสเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย เนื่องจากไม่รู้ว่าจะต้องเคลื่อนไหวอย่างไร หรือว่าต้องเล่นอย่างเป็นอิสระอย่างไร
 


ดังนั้นผู้จัดทำต้องการสร้างพื้นที่ให้เด็กพิการทางการเห็นได้เคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระอย่างปลอดภัยเช่นเดียวกับการวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่น ที่สามารถปีนป่าย วิ่งเล่น กระโดด เคลื่อนไหวได้อย่างเป็นอิสระได้เหมือนเด็กปกติ  ซึ่งเด็กพิการทางการเห็นไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ในสนามเด็กเล่นปกติ เพราะไม่มีความรู้ในวิธีการเล่นและรู้สึกไม่ปลอดภัยมากพอ ดังนั้นพื้นที่ในละครนี้จึงออกแบบให้เปรียบเสมือนสนามเด็กเล่น ที่เด็กพิการทางสามารถจินตนาการกับการสมมุติบทบาทเป็นตัวละคร การเล่นการอุปกรณ์ประกอบการฉากที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหวของเด็กพิการทางสายตา รวมทั้งสนุกไปกับการฝึกใช้กล้ามเนื้อรวมทั้งการเรียนรู้การเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระใหม่ๆในฉากการผจญภัยต่างๆที่ได้จากการร่วมประสบการณ์กับละครที่เน้นการมีส่วนร่วมเรื่องนี้   

 


"อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้จัดทำต้องการเปิดประสบการณ์ของโลกละครเวทีให้พวกเขาได้รู้จัก สามารถจินตนาการและมีความคิดร่วมไปกับละครได้เหมือนเด็กทั่วไป เพราะในที่สุดแล้ว พวกเขาคือเมล็ดพันธ์ที่สังคมต้องการเช่นกัน และที่สำคัญที่สุด ผู้จัดทำต้องการใช้ความรู้ที่ได้ศึกษามาสร้างประโยชน์แก่สังคมด้วยการสร้างสรรค์ละครเพื่อส่งเสริมทักษะที่สำคัญในการดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข"นางสาวเพชรรัตน์ กล่าว.

หน้าแรก » ภูมิภาค