วันอังคาร ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567 01:51 น.

ภูมิภาค

สงกรานต์หลวงพระบาง วิถีอันเรียบง่าย คล้ายๆไทย

วันจันทร์ ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2567, 10.53 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานจังหวัดเลยรายงานว่า เทศกาลปีใหม่ตามประเพณีลาว 2567 และเฉลิมฉลองปีการท่องเที่ยวลาว 2024 ในแขวงหลวงพระบางในปีนี้มี นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ  สปป.ลาว พร้อมด้วยภริยา และ นายคำขัน  จันทวีสุข เจ้าแขวงหลวงพระบาง นางสวนสวรรค์  วิยะเจด  รัฐมนตรีว่าการแถลงข่าว วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว พร้อมแขกทั้งในและต่างประเทศอีก  10 ประเทศ  ซึ่งในปีนี้ ทางแขวงหลวงพระบางได้มีการเชิญทาง นายธรรมนูญ  ภาคธูป ผู้จัดการ อพท 5 (เลย) ไปร่วมในขบวนแห่ด้วย
               

สำหรับ สงกรานต์ “หลวงพระบาง” จัดงาน 10 วัน  ยิ่งใหญ่ไม่แพ้เมืองไทย! พร้อมชมวิถีอันเรียบง่ายแต่คลาสสิกของชาวลาว เมืองหลวงพระบาง” เมืองมรดกโลก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ถือว่า เป็นเมืองพี่ เมืองน้อง กับประเทศไทยบ้านเรามาช้านาน มีวัฒนธรรมประเพณี ภาษาที่คล้ายกันมาก โดยเฉพาะ งานประเพณีสงกรานต์ ที่เมืองหลวงพระบาง จะจัดในช่วงวันเดียวกัน กับประเทศไทย ทำให้ที่แห่งนี้ กลายเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สำหรับปี 2567 นี้ เมืองหลวงพระบาง จัดงาน 10 วัน แต่ละวันมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อให้ประชาชน และ นักท่องเที่ยว ร่วมกันสืบสานประเพณี อย่างยิ่งใหญ่ 

วันที่ 12 เมษายน มีการประกวดนางสังขาน หรือนางสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ.2567 ที่ลานธาตุหลวง วันที่ 13 เม.ย. พิธีแห่ช้าง จากลานธาตุหลวงไปยังวัดใหม่สุวันนะพูมาราม และวัดเชียงทอง พร้อมเปิดงานตลาดนัด งานฝีมือหัตถกรรม และงานเทศกาลอาหารลาว สำหรับ วันที่ 14 เม.ย. พิธีอัญเชิญพระพุทธรูป และสรงน้ำพระตามวัดต่างๆ ในเมืองหลวงพระบาง ก่อเจดีย์ทราย การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน วันที่ 15 เม.ย. ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวลื้อ บ้านผานม ต่อด้วยขบวนแห่ จากหน้าพิพิธภัณฑ์ไปยังวัดเชียงทอง ให้ประชาชน และ นักท่องเที่ยวได้สรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคล และวันที่ 16 เม.ย. พิธีใส่บาตรพระสงฆ์วัดแสน บูชาพระธาตุจอมสี ชมขบวนแห่และการแสดงรามเกียรติ์พระลักษณ์ พระราม 

วันที่ 17-19 เม.ย. อัญเชิญ “พระบาง” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานวัดใหม่สุวันนะพูมาราม ให้ประชาชนสรงน้ำสักการะ และวันที่ 20 เม.ย. อัญเชิญพระบางกลับไปประดิษฐานที่หอพระบาง เป็นอันจบพิธี  "สงกรานต์หลวงพระบาง"  สปป.ลาว ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งงานสงกรานต์แห่งอุษาคเนย์ที่ยังคงรักษารูปแบบประเพณีดั้งเดิมที่งดงามด้วยขนบธรรมเนียมและวิถีอันเรียบง่ายแต่คลาสสิกของชาวลาวไว้ จึงเหมาะแก่การไปสัมผัสด้วยตาตัวเองสักครั้ง หากมีโอกาสได้ไปเยือน

หน้าแรก » ภูมิภาค