วันศุกร์ ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 15:22 น.

ภูมิภาค

ฮดสรง ”พระทอง-พระเทียม” อายุเก่าแก่กว่า 500 ปี ตำนานเล่าสร้างจากขันทองคำ เชื่อมีอัศจรรย์เรียกฝนเรียกฟ้า

วันพฤหัสบดี ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2567, 08.31 น.

วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ที่วัดโพธิ์ศรี ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม พระครูโพธิกิจวิมล (ประครอง จันทสาโร) เจ้าคณะตำบลในเมือง เขต 1 และ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี จัดพิธีทำบุญฮดสรง (สรงน้ำ) พระทอง-พระเทียม พระพุทธรูปโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ประดิษฐานอยู่ในหอพระทอง โดยมีนายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม เป็นประธาน พร้อมด้วย นางสงวน จันทร์พร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม นางรณิดา  เหลืองฐิติสกุล รอง ผวจ.นครพนม พล.ต.ต.ธวัชชัย ถุงเป้า ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม (ผบก.ภ.จว.ฯ)  นายนิวัต  เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม และคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พนักงานเทศบาล ภาคเอกชน พุทธศาสนิกชนร่วมในพิธี

 


               

โดย ทม.นครพนม ร่วมกับชาวชุมชนวัดโพธิ์ศรี จัดให้มีพิธีขอขมาคารวะพระทอง-พระเทียม ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันวิสาขาบูชาของทุกปี จะอัญเชิญพระทอง-พระเทียม ออกจากหอลงแห่รอบอุโบสถ ก่อนประดิษฐานขึ้นแท่นสรงน้ำ ที่ประกอบชั่วคราว ให้สาธุชนได้สรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตัวเองและครอบครัว
         
ตามประวัติพระทอง เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 9 นิ้ว สร้างโดยสกุลช่างล้านช้าง มีจารึกที่ฐานล่างด้านหน้า มีอักษร 2 บรรทัดๆแรกเป็นอักษรไทยอีสาน ส่วนบรรทัดสองเป็นอักษรไทยธรรมอีสาน  เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการหนังสือตัวเขียนและจารึก กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ถอดความบรรทัดที่หนึ่ง ได้ความว่าสร้างเมื่อปีมะแม พ.ศ.2066 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ถึงปัจจุบันพระทองมีอายุ 511 ปี เดิมประดิษฐานอยู่วัดบ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม ในเวลาต่อมาเจ้าเมืองเห็นว่าพระทองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรประดิษฐานที่บ้านห้อม  ยากแก่การดูแล จึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดโพธิ์ศรีจนถึงปัจจุบัน

 


 โดยมีตำนานเล่าว่า มีพี่น้อง 4 คนเป็นชายสองหญิงสอง ชื่อนายเกิ้น นายแก้น และหญิงชื่อนางต้อ นางตั้น วันหนึ่งขณะสี่พี่น้องทำงานในสวน เกิดฝนตั้งเค้าทะมึนมาแต่ไกล นางต้อและนางตั้นจึงรีบกลับบ้านก่อน ระหว่างทางเห็นรุ้งกินน้ำ กำลังใช้ขันทองคำตักน้ำกิน จึงเกิดความโลภอยากได้ขันใบนั้น นางต้อจึงถอดผ้าถุงเปลือยกายถือไม้ไล่รุ้ง ฝ่ายรุ้งเห็นก็ตกใจทิ้งขันไว้แล้วสลายตัวไป สองพี่น้องแอบนำขันทองคำไปซ่อนโดยไม่ยอมบอกใคร

จู่ๆก็มีคนในบ้านเจ็บไข้ได้ป่วยประจำ จึงคิดว่าเป็นเพราะแย่งขันทองคำมาจากรุ้ง และไม่มีบุญวาสนาที่จะครอบครอง จึงนำขันทองคำไปฝากไว้กับพระ ปรากฏว่าคนที่ป่วยก็หาย แต่สองพี่น้องยังกังวลอยู่ จึงนำขันทองคำไปหล่อเป็นพระพุทธรูป ในสมัยนั้นมีช่างหล่อพระฝีมือดี อยู่บ้านกูบกองหล่อ แถบเมืองหินปูน ประเทศลาว ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนมในปัจจุบัน

 

 

หลังหล่อเป็นพระพุทธรูปเสร็จ ก็อัญเชิญลงแพมาพร้อมกับนางต้อ นางตั้น  ล่องจากลำหินปูนโผล่แม่น้ำโขงที่ปากน้ำหินปูน เมื่อแพมาถึงหน้าวัดบ้านห้อมก็ไหลวนไม่ยอมไปไหน จึงเชื่อว่าพระทองประสงค์จะอยู่ที่นี่ จึงอัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานที่วัดบ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม เหตุที่เรียกชื่อพระทอง เพราะสร้างจากขันทองคำ

พระครูโพธิกิจวิมล อายุ 72 ปี พรรษา 51 เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี กล่าวว่าเคยทำพิธีอัญเชิญพระทองจากวิหาร เพื่อฮดสรงในวันสงกรานต์ แต่มักจะเกิดฝนตกหนักทุกครั้ง จึงยกเลิกไปประมาณปี 2515 โดยกำหนดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันวิสาขบูชาของทุกปี จะอัญเชิญพระทองมาที่หน้าหอ เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำขอพร และในวันออกพรรษา ชาวบ้านห้อมยังถือว่าตนเป็นข้าโอกาสพระทอง  จะร่วมจัดทำปราสาทผึ้ง ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองมาทอดถวายที่วัดโพธิ์ศรีประจำ

 


 
นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า การฮดสรงพระทอง-พระเทียม สามารถทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ หากสรงน้ำแล้วพระพักตร์พระทองไม่แจ่มใส แสดงว่าปีนั้นน้ำท่าจะไม่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งพระทองซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมือง จ.นครพนม มีศักดิ์เป็นพี่พระติ้วที่ประดิษฐานอยู่วัดโอกาส(ศรีบัวบาน) ดังนั้นในวันเดียวกันจะสรงน้ำพระทอง-พระเทียมที่วัดโพธิ์ศรีก่อน แล้วจึงไปประกอบพิธีสรงน้ำพระติ้ว-พระเทียมที่วัดโอกาสต่อไป

โดยวัดโพธิ์ศรี เป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง สันนิษฐานสร้างขึ้นพร้อมกับตั้งเมืองนครพนม  โดยบริเวณตรงข้ามวัดมีต้นโพธิ์ตระหง่านอยู่ จึงได้ตั้งชื่อวัดตามต้นโพธิ์ ต่อมาต้นโพธิ์ได้หักโค่นลงตามอายุขัย เจ้าอาวาสในขณะนั้นได้นำหน่อมาปลูกข้างกำแพงวัด ด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ และยังยืนต้นให้เห็นจนถึงปัจจุบัน

 

หน้าแรก » ภูมิภาค