วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:02 น.

ภูมิภาค

เจ้าของแจงแล้ว! โซเชียลกระบี่ ตั้งคำถามคาเฟ่เปิดใหม่เลี้ยงลูกสิงโต 2 ตัว ได้หรือ?

วันจันทร์ ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2567, 17.09 น.

วันที่ 24 มิ.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กเพจในสังคมโซเชี่ยลของชาวกระบี่ โพสต์ภาพของลูกสิงโต 2 ตัว ในกรงขัง พร้อมกับตั้งคำถามไว้ว่า “สิงโตเอามาขังกรงแบบนี้ได้ไหมคะ? ถ้าขังพื้นที่ต้องมีขนาดเท่าไหร่ ต้องกว้างกว่านี้ไหม? ทำไมดูแล้วรู้สึกคับแคบจัง สอบถามผู้รู้ค่ะ?” 

พร้อมระบุพิกัดไว้ ว่าเป็นคาเฟ่เปิดใหม่ ในกระบี่ ต่อมามีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง เข้ามาคอมเม้นต์ชี้แจงเรื่องดังกล่าวไว้ พร้อมกันนี้ทางเพจนำภาพใบรับแจ้งการครอบครองที่ออกให้โดย ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มาลงไว้ด้วย รายละเอียดระบุไว้ว่าใบรับแจ้งดังกล่าว ออกเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.67 สัตว์ควบคุมจำนวน 1 ชนิด 2 ตัว สถานที่ครอบครอง บ้าน ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ 

ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มาชี้แจงไว้ ระบุไว้ว่า “สวัสดีค่ะ.....นะคะ เป็นเจ้าของน้องไค่ และคาเมล ขอบคุณเพจระบายกระบี่นะคะ ที่เป็นห่วงน้อง ไค่กับคาเมล เป็นสิงโตที่เราซื้อจากฟาร์มเลี้ยงในประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมาย น้องมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ค่ะ ในเรื่องมาตรฐานกรงเลี้ยง และการได้รับอาหารตามน้ำหนักตัวแต่ละมื้อ มีสัตวแพทย์ให้คำปรึกษาเรื่องการรับวัคซีนและแคลเซียม และทางกรมต้องมีการตรวจกรงเลี้ยงก่อนเคลื่อนย้ายน้องจากฟาร์มต้นทาง น้องมีผู้ดูแลอย่างดีค่ะ และการอาบน้ำตัดเล็บเหมือนน้องหมาน้องแมวทั่วไป น้องเกิดในฟาร์มไม่ใช่สัตว์ป่าค่ะ น้องเชื่องและน่ารักมากๆ นะคะ แต่เค้าเป็นสิงโตเลยดูไม่ปกติไม่เหมือนน้องหมาน้องแมว” 

ต่อมาผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบเรื่องนี้ที่ร้านบ้านช้าง คาเฟ่ ตั้งอยู่บริเวณควนนกกินน้ำ หมู่ 1 บ้านช่องพลี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ ไปพบกับนายพัลลภ คงศิริ อายุ 32 ปี และแฟนสาว คือ น.ส.เกวลี คงเหล่า อายุ 31 ปีเป็นเจ้าของร้าน และเจ้าของลูกสิงโตทั้ง 2 ตัว ทั้งคู่พาผูัสื่อข่าวไปดูความเป็นอยู่ของลูกสิงโตทั้ง 2 ซึ่งเลี้ยงไว้ในกรงตามมาตรฐานที่กรมอุทยานฯ กำหนด เป็นกรงที่สร้างไว้ในพื้นที่ของคาเฟ่ ซึ่งนอกจากจะมีสิงโตไว้ให้ลูกค้าไดัชมแล้ว ในคาเฟ่แห่งนี้ ยังมีนกแก้ว และช้าง ให้ นทท.ได้ใกล้ชิดและถ่ายภาพด้วย ส่วนลูกสิงโตทั้ง 2 ตัว เป็นสิงโตเพศผู้และเพศเมีย ตัวโตชื่อเจ้าไค เป็นสิงโตเพศผู้ อายุ 8 เดือน ส่วนตัวเล็กชื่อเจ้าคาราเมล เป็นเพศเมีย อายุได้ 4 เดือน ทั้งคู่มีอาการร่าเริงอยู่ภายในกรง วิ่งเล่นกันตามประสาสิงโตเด็ก และชอบให้นายพัลลภ เจ้าของ อาบน้ำให้ทุกวันด้วย และไม่มีอาการตื่นกลัว นทท.แต่อย่างใด 

น.ส.เกวลี เผยว่า ตอนแรกที่เห็นโซเชียลนำเรื่องนี้ไปโพสต์ก็ตกใจเหมือนกัน ไม่คิดว่าจะเป็นประเด็น เพราะปัจจุบันการเลี้ยงสิงโต สามารถเลี้ยงได้ถูกกฎหมายแล้ว บวกกับตนและแฟนหนุ่ม เป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว และชอบสิงโต จึงตัดสินใจซื้อมาเลี้ยง โดยตัวโตเจ้าไค เลี้ยงมาได้ 5 เดือนแล้ว ส่วนเจ้าคาราเมล เพิ่งเอามาเลี้ยงได้ 1 เดือน ตอนแรกตั้งใจเอามาเลี้ยงไว้ที่บ้าน ซึ่งมีบริเวณ แต่ตนกับแฟนหนุ่ม คิดจะเปิดคาเฟ่ในลักษณะมินิซู (Mini Zoo) อยู่แล้ว จึงเอาน้องทั้ง 2 ตัว มาเลี้ยงไว้ที่นี่ โดยร้านเพิ่งเปิดได้แค่ 3 วันเท่านััน ก็มีดราม่าขึ้นมา ก่อนนึ้ก็เคยทำธุรกิจให้ นทท.เลี้ยงช้าง ให้อาหารช้างมาก่อน และเพิ่งมาต่อยอดเป็นคาเฟ่ 

น.ส.เกวลี กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าการดูแลน้องทั้ง 2 ตัว เราปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ประจำของที่นี่อยู่แล้ว จะมีการจัดตารางการให้อาหารให้เพียงพอ และยืนยันได้เรื่องความปลอดภัย ไม่ต้องกลัวว่าลูกสิงโต จะหลุดออกไปสร้างอันตรายให้ใครได้ เพราะเรามีการดูแลตลอด 24 ชม. อีกอย่างทั้ง 2 ตัว เป็นลูกสิงโตจากฟาร์มเพาะพันธุ์ ไม่ใช่ลูกสิงโตจากป่า จึงไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ส่วนการขออนุญาตต่างๆ มีการดำเนินการตามขั้นตอนถูกต้องทุกอย่าง หากใครอยากมาดูน้องทั้ง 2 ก็มาดูได้ที่ร้าน. 

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวค้นหาข้อมูลเรื่องนี้ ทราบว่า ปัจจุบันสิงโต กลายเป็นสัตว์ป่าที่เข้าถึงได้ง่าย ประชาชนสามารถครอบครองได้ ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่าด้วยการแจ้งและการรับแจ้งการครอบครอง ซึ่งสัตว์ป่าควบคุม และซากสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ.2565 โดย สิงโต ถูกจัดไว้ในกลุ่มสัตว์ป่าควบคุมชนิด “ก” เพราะเป็นสัตว์สายพันธุ์ที่มีลักษณะนิสัยดุร้าย มีพฤติกรรมที่อาจสร้างความหวาดกลัว หรือเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของมนุษย์ ผู้ที่มีสิงโตอยู่ในครอบครอง ต้องดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ คือ ต้องนำส่งหลักฐานการได้มาอย่างถูกกฎหมาย เช่น ใบนำเข้า หรือ ใบเสร็จจากฟาร์ม เพื่อขอใบรับแจ้งการครอบครองอย่างถูกต้อง โดยกำหนดประเภทของการครอบครองไว้ 5 ประเภท ในจำนวนนี้มี 2 ประเภทที่เปิดทางให้บุคคลทั่วไปสามารถเลี้ยงสิงโตได้ แต่ทั้ง 2 ประเภท ต้องการมีการดูแลตามที่กำหนดไว้ เช่น จัดสถานที่ครอบครองให้มั่นคงแข็งแรงป้องกันสัตว์ป่าควบคุมหลุดไปทำร้ายผู้อื่น ทำป้ายเตือนอย่างชัดเจน ต้องเคลื่อนย้ายอย่างเหมาะสม ปลอดภัยภัย ไม่ก่ออันตรายแก่ผู้อื่น. 
 

หน้าแรก » ภูมิภาค