วันเสาร์ ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2567 21:22 น.

ภูมิภาค

นครปฐมบุกตรวจสถานประกอบกิจการ หลังสถานทูตเมียนมาประสาน มีลูกจ้างเมียนมาถูกทำร้ายร่างกาย

วันเสาร์ ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2567, 20.22 น.

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 นายยงยุทธ สวนทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม ได้ร่วมกับชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” โดยบูรณาการร่วมกับ กอ.รมน ฝ่ายปกครองจังหวัดนครปฐม ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม พาณิชย์จังหวัดนครปฐม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครปฐม เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงแรงงานในจังหวัดนครปฐม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (สหวิชาชีพ) ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบกิจการ บรรจุ แพ็ค สัตว์ปีก เพื่อเก็บเข้าห้องเย็น ตำบลตาก้อง อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ปัจจุบันมีลูกจ้าง จำนวน 10 คน เป็นลูกจ้างสัญชาติไทย 7 คน (ชาย 5 คน หญิง 2 คน) เป็นลูกจ้างสัญชาติเมียนมา ชาย 3 คน และนายวิชิต ได้ว่าจ้างนางสาววิมลรัตน์ ซึ่งอ้างว่าเป็นหัวหน้าทีมรับเหมางาน และมีทีมงานจำนวน 15 คน เป็นสัญชาติไทย จำนวน 6 คน สัญชาติเมียนมา จำนวน 9 คน (ชาย 6 คน หญิง 3 คน) 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม ได้รับแจ้งข้อมูลจากกองคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และต่อมากรมฯ มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ว่า ได้รับการประสานงานจากสถานทูตเมียนมา แจ้งกรณีมีลูกจ้างสัญชาติเมียนมา จำนวน 23 คน ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขู่ด้วยอาวุธปืน เป็นเหตุให้ลูกจ้างต้องหนีออกจากสถานที่ทำงาน ซึ่งแรงงานที่จะเข้าไปทำงานต้องจ่ายค่านายหน้าหัวละ 5,500 – 6,500 บาทต่อคน 

จากการเข้าตรวจสอบไม่พบลูกจ้าง จำนวน 23 คน ที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวในสถานที่ทำงานของนายจ้าง จึงสอบข้อเท็จจริงลูกจ้างที่ยังทำงานอยู่กับนายจ้างในปัจจุบัน แยกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.นางสาววิมลรัตน์ ชะบา ซึ่งอ้างตนเองว่าเป็นหัวหน้าทีมรับเหมางานจากนายวิชิต ซึ่งมีทีมงานจำนวน 15 คน เป็นสัญชาติไทย จำนวน 6 คน สัญชาติเมียนมา จำนวน 9 คน (ชาย 6 คน หญิง 3 คน) โดยรับบรรจุสัตว์ปีกแปรรูปใส่ถุงบรรจุเพื่อจัดเก็บห้องเย็น ได้รับค่าตอบแทนตัวละ 2 บาท และเมื่องานเสร็จ ผู้ว่าจ้างจึงจะจ่ายค่าตอบแทนตามที่ได้ตกลงกันให้แก่นางสาววิมลรัตน์ฯ และนางสาววิมลรัตน์ฯ จึงจะนำเงินแบ่งให้แก่ทุกคนในทีม หากงานที่ได้รับมาจากนายวิชิตฯ เสร็จสิ้นแล้วและไม่ได้ว่าจ้างงานอื่นต่อ นางสาววิมลรัตน์ฯ จะนำทีมของตนกลับไปรับงานที่ตำบลลำเหย อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม สลับกันไปมา 

โดยผู้ว่าจ้างไม่มีการควบคุมเวลาทำงานของทุกคนในทีมของนางสาววิมลรัตน์ฯ เพียงแต่งานที่จ้างต้องแล้วเสร็จตามที่ได้ตกลงกันเท่านั้น และพบความผิดตามกฎหมายหน่วยงานอื่นของลูกจ้างสัญชาติเมียนมา จำนวน 9 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอส่งกลับประเทศต้นทาง 2. Mr. Aung Wai Nyein กับพวกรวม 3 คน ลูกจ้างสัญชาติเมียนมา ซึ่งเป็นลูกจ้างของนายวิชิต เข้ามาทำงานเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ถึงวันทำงานสุดท้ายวันที่ 9 สิงหาคม 2567 และถูกจับกุมในวันทำงานสุดท้าย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอส่งกลับประเทศต้นทาง 3. นายไกรยุทธ กับพวกรวม 7 คน ลูกจ้างสัญชาติไทย ซึ่งเป็นลูกจ้างของนายวิชิต มีตำแหน่ง หน้าที่ สภาพการจ้างและสภาพการทำงานที่แตกต่างกัน 

จากผลการตรวจสอบของทีมสหวิชาชีพพบว่า ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ แต่อย่างใด ทั้งนี้ ได้ดำเนินการให้นายวิชิตฯ ผู้เป็นนายจ้าง จ่ายเงินค่าจ้างและค่าล่วงเวลาของการทำงานวันที่ 7 - 9 สิงหาคม 2567 รวมเป็นเงิน 9,000 บาท ให้แก่ลูกจ้าง และให้นางสาววิมลรัตน์ฯ จ่ายค่าตอบแทนการทำงานให้ลูกทีม จำนวน 9 คน ๆ ละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 4,500 บาท เรียบร้อยแล้ว 

สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานงานจังหวัดนครปฐม ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนายวิชิต นายจ้าง ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ฐานความผิดจ่ายค่าล่วงเวลาไม่ถูกต้องตามมาตรา 61 และจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำไม่ถูกต้อง ตามมาตรา 90 มีโทษตามมาตรา 144 (1) จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามระเบียบกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาฯ พ.ศ. 2559 (ฉบับที่ 3) ข้อ 9 (12) ต่อไป

หน้าแรก » ภูมิภาค