วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 12:28 น.

ภูมิภาค

นครพนมเตือนน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม น้ำล้นตลิ่ง ล้นอ่างเก็บน้ำ

วันศุกร์ ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2567, 21.09 น.

วันที่ 16 สิงหาคม 2567 นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม เปิดเผยว่าจากกรณีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบมีร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และ สปป.ลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ บริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ผนวกกับร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ในช่วงวันที่ 16-22 สิงหาคม 2567 จะมีฝนเพิ่มขึ้นและตกหนักในบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลาง

 


รวมถึง จ.นครพนม จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม การเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็ก ที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่งหรือท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณสายหลักและแม่น้ำสาขาในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวัง ในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองด้วย


ผวจ.นครพนม กล่าวต่อว่า ขอให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระดับจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ ให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์และติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม สำหรับเกษตรกรควรป้องกันผลผลิตทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหาย

 


ในส่วน ปภ.ฯให้เตรียมพร้อมกำลังพลและเครื่องมือ เครื่องจักรกลที่ใช้งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยบูรณาการร่วมกับส่วนราชการ หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาคส่วนอื่นๆในพื้นที่ที่สามารถสนับสนุนการปฏิบัติ เพื่อให้ความพร้อมในการช่วยเหลือประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง  


กรณีสิ่งสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ ได้รับผลกระทบจนประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถใช้งานได้ เช่น ต้นไม้ล้มทับเส้นทางสัญจร เสาไฟฟ้าโค่น หรือระบบท่อประปาได้รับความเสียหาย ขอให้ประสานหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่เข้าดำเนินการแก้ไขให้สามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ และหากเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ให้รายงานสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนมทราบโดยเร็ว ทางโทรศัพท์หมายเลข 042-51 1025 และรายงานสถานการณ์/การให้ความช่วยเหลือทุกระยะ

 


จากสถานการณ์ระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้น ได้มีผลกระทบกับการหาปลา ชาวประมงท้องถิ่นวางข่ายได้ปลาน้อยลง โดยเฉพาะปลาใหญ่จับแทบไม่ได้ ประกอบกับปริมาณน้ำโขงขึ้นลง ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ยิ่งทำให้ปลาหลงน้ำ และตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนขวางลำน้ำโขง การหาปลาจึงมีความยากลำบากกว่าเดิมมาก

หน้าแรก » ภูมิภาค