วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 13:18 น.

ภูมิภาค

Unseen กลางสายน้ำโขง เทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟ พบทีม อส. ผู้อยู่เบื้องหลังปล่อยไข่พญานาค

วันเสาร์ ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2567, 13.37 น.

ที่ จ.นครพนม เป็นอันซีนอันสวยงาม สร้างความตื่นตากลางแม่น้ำโขงทุกปี ในช่วงกลางคืนของงานประเพณีออกพรรษาไหลเรือไฟและงานกาชาด ประจำปี 2567 โดยกำหนดจัดระหว่างวันที่ 8-18  ตุลาคม 2567 ตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ-แรม 1 ค่ำ เดือน 11 รวม 11 วัน 11 คืน นอกจากจะมีการไหลเรือไฟประยุกต์โชว์ ก่อนถึงวันประกวดเรือไฟชิงถ้วยพระราชทาน ในคืนวันออกพรรษาขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 วันที่ 17 ตุลาคมที่จะถึงนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้จะต้องมีการลอยกระทงสาย หรือที่เรียกกันว่าไข่พญานาค ลักษณะเป็นแนวยาว 2 แถว ไหลล่องไปตามน้ำโขง เกิดแสงไฟระยิบระยับยามค่ำคืน เป็นภาพอันสวยงาม สร้างความตื่นตาตื่นใจ เกิดความประทับใจแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว เป็นอย่างมาก

 


ที่สำคัญต้องขอชื่นชม   ผู้อยู่เบื้องหลังความสวยงาม คือ นายกิตติวัฒน์ ปัททุม ปลัดอำเภอ ผู้บังคับกองร้อย อส.ที่ 1 โดยทุกปีจะทำหน้าที่ นำทีมเจ้าหน้าที่ อส.ฯ กว่า 30 นาย ลงเรือท้องแบน ประกบด้วยเรือหางยาว นำกระทงสายที่ประดิษฐ์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นกะลามะพร้าวผ่ากลาง  ภายในบรรจุเชื้อเพลิงเกิดจากไอเดียวชาวบ้าน ที่ทำจากขี้เลื่อยผสมน้ำมันดีเซล รวมถึงขี้ไต้ยางไม้ มาผสมกันตามสัดส่วน เพื่อจุดไฟให้แสงสว่าง ปล่อยไหลไปตามกลางน้ำโขง สร้างความสวยงามยามค่ำคืนนานกว่า 2 ชั่วโมง กล่าวกันว่าถือเป็นการบูชาพญานาค และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำโขงอีกด้วย รวมถึงเป็นการสร้างความสวยงามตระการตา ส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลออกพรรษา ซึ่งเป็นกิจกรรมประเพณีสำคัญ ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยพลังศรัทธาของชาวอีสานแถบลุ่มน้ำโขง

 


ทั้งนี้ จากการสอบถามทีมงานเป็นกำลังเจ้าหน้าที่ อส.ฯ ผู้อยู่เบื้องหลังการปล่อยไข่พญานาคกลางน้ำโขง เปิดเผยว่าเป็นความภาคภูมิใจ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมสืบสานประเพณีไหลเรือไฟ ทำหน้าที่ปล่อยไข่พญานาค โดยไม่มีค่าจ้างรางวัล เกิดจากพลังศรัทธา และความสามัคคีของกำลังกองร้อย อส.จ.นครพนม โดยได้รับงบประมาณจัดหาวัสดุสำคัญ คือ กะลามะพร้าวแห้ง ได้มาจากชาวบ้านที่บริจาคและเก็บสะสมมาเป็นปี ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายคือน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นน้ำมันดีเซลนำมาผสมขี้เลื่อยกับขี้ใต้ยางไม้ หรือชาวบ้านเรียกว่าขี้กระบองจุดไฟ นำมาผสมตามสัดส่วน ที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระทงสาย จุดแสงสว่างไสวไหลไปกับน้ำโขง ปล่อยวันละ 2,000-3,000 ดวง ส่วนคืนวันออกพรรษาวันที่ 17 ตุลาคม ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 จะปล่อยมากสุดนับ 10,000 ดวง

 


เจ้าหน้าที่ อส.ฯ เปิดเผยว่าต้องใช้ความพยายาม และเสี่ยงอันตรายกันทุกปี เพราะน้ำโขงไหลเชี่ยวมาก เพราะเป็นเรือขนาดเล็ก ที่ต้องใช้ความชำนาญ  และความสามารถเฉพาะตัว ยอมรับว่าเหนื่อย แต่พอเห็นความสวยงาม สร้างความประทับใจแก่ประชาชน นักท่องเที่ยว ความเหนื่อยล้าก็หายไป ทั้งนี้การจัดลอยไข่พญานาค เป็นการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นสีสันส่วนหนึ่งของงานประเพณีออกพรรษาไหลเรือไฟ

หน้าแรก » ภูมิภาค