วันอาทิตย์ ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 14:32 น.

ภูมิภาค

ไปทานข้าวเม่า ขนมโบราณรสชาติหอมอร่อย ฝีมือชาวนาอำนาจเจริญ

วันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567, 13.30 น.

ชาวนาในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ทุกฤดูกาลทำนาปลูกข้าว ระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ของทุกปี สตรีชาวนา จะนำข้าวไวต่อแสง หรือ ข้าวดอ ซึ่งจะมีความเจริญเติบโต ออกรวงเมล็ดข้าว เร็วกว่าปกติ เรียกว่า ข้าวน้ำนม เพื่อนำมาทำข้าวเม่า สำหรับรับประทานในครอบครัว หรือในหมู่เพื่อนฝูงญาติสนิทและแขกผู้มาเยือนสม่ำเสมอ เรียกว่า เป็นขนมโบราณ ที่ชาวอีสานนิยมบริโภคกันมาก เนื่องจากทำจากเมล็ดข้าวโดยตรง ปราศจากสารพิษเจอปน เรียกว่า ข้าวเม่าอินทรีย์ ซึ่งมีให้ทานปีละ 1 ครั้ง เฉพาะทำนาปีเท่านั้น

เป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี สตรีชาวนาอำนาจเจริญต้องมองหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ โดยการนำเอาขนมจากภูมิปัญญาชาวบ้าน สั่งสอนมาจากบรรพบุรุษ ออกวางจำหน่าย ในรูปแบบการผลิตข้าวเม่าเชิงพาณิชย์ จำหน่าย สร้างรายได้เป็นอย่างดี

อย่างเช่น นางมยุรี ท่าผาม อายุ 42 ปี ชาวนา ต.บุ่ง อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ กล่าว่า  ทำนาปี จำนวน 6 ไร่ แบ่งเป็นปลูกข้าวจ้าว 2 ไร่และข้าวเหนียว 4 ไร่ และแบ่งไว้รับประทานส่วนหนึ่งให้ถึงปี ที่เหลือจะขายพอได้ค่าปุ๋ย โดยเฉพาะช่วงเมล็ดข้าวยังไม่แก่เต็มที่ เมล็ดข้าวน้ำนม จึงนำเมล็ดมาทำข้าวเม่า ไปจำหน่ายในตลาดตัวเมืองอำนาจเจริญ ซึ่งขายดีมาก ขายหมดทุกวัน เก็บเป็นเงินทุน ไว้เป็นค่าใช้จ่ายและทุกการศึกษาบุตรด้วย

นางมยุรี ท่าผาม ชาวนาคนขยัน บอกถึงวิธีทำข้าวเม่าพอเข้าใจว่า การทำข้าวเม่าส่วนมากจะนำข้าวไวต่อแสง หรือข้าวดอ(ภาษาอีสาน) มาทำ เนื่องจากมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าข้าวชนิดอื่น โดยเริ่มแรก ต้องเดินตรวจเมล็ดข้าวในแปลงนาก่อน จากนั้น เลือกเอาเมล็ดข้าวที่พอดี คือไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป เรียกว่า ข้าวน้ำนม ต่อมาทำการเกี่ยวข้าว จนได้ตามต้องการ จากนั้น นำรวงข้าวมาขูดเมล็ดออก ด้วยการใช้ไม้ประกบ 2 ข้างขูด เพื่อป้องกันรวงข้าวบาดมือ เสร็จแล้วนำเมล็ดข้าวใส่ถาดหรือกะละมัง ต่อมานำไปเทใส่กระทะ ตั้งบนเตาถ่านไฟไม่แรง คั่วจนได้ที่ เสร็จแล้วเอาใส่ถาดหรือกะละมัง ผึ่งให้เย็น คัดกากหรือเปลือกข้าวออก จะได้เมล็ดข้าวสีเขียวอ่อน หอมติดจมูก เมื่อบริโภคแล้วจะมีรสชาติหวานมัน อร่อยแบบขนมพื้นบ้านแบบโบราณ เป็นอันแล้วเสร็จ เรียกว่า ข้าวเม่า  สามารถนำไปจำหน่ายได้ โดยบรรจุถุงจำหน่ายในราคา  1 กิโลกรัม / 150 บาท ถ้าจะซื้อเป็นขีดราคา ขีดละ  20 บาท ซึ่งขายดีมาก บางคน กลับมาเยี่ยมบ้านจะกลับกรุงเทพหรือต่างจังหวัด จะแวะซื้อข้าวเม่าหลายสิบกิโลกรัมติดไม้ติดมือไปด้วย เพื่อเป็นของฝากเพื่อนพี่น้อง ร่วงงาน  และมีจำนวนไม่น้อยที่ซื้อใส่พัสดุฝากทางไปรษณีย์ส่งให้ญาติพี่น้องตามต่างจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร เพราะข้าวเม่าอยู่ได้หลายวันไม่เสียง่าย

นางมยุรี ท่าผาม ชาวนาสู้ชีวิต กล่าวว่า ข้าวเม่า บางคนซื้อไปทานเลย ทว่ามีการนำไปแปรรูปเป็นขนมหลายชนิด เช่น ข้าวเม่าคลุก โดยการเอาข้าวเม่า ไปคลุกเค้ากับมะพร้าว ที่ผ่านการขูดเป็นเส้นๆ ใส่เกลือน้ำตาลให้พอเหมาะ เรียกว่า ขนมข้าวเม่าคลุก หรือไม่เอาไปทำข้าวเม่าทอด มีให้ซื้อหารับประทานตามตลาดทั่วไป

นางมยุรี ท่าผาม ชาวนาผู้ผันตัวมาเป็นแม่ค้าข้าวเม่าชั่วคราว กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกปีช่วงรอการเก็บเกี่ยวข้าว จะทำข้าวเม่ามาวางขาย 2 เวลา คือ เช้ากับเย็น เพราะปีนี้ฝนตกดี ได้ผลผลิตข้าวเต็มที่ จึงมีการทำข้าวเม่าเพิ่มขึ้น โดยมีลูกๆช่วยกันทำ ส่วนแม่ออกมาขาย ได้เงินวันละ 1,000 - 1,500 บาท เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องจุนเจือครอบครัวเป็นอย่างดี

นางรัตนา มีนาม ลูกค้าชาวเมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ขณะกำลังซื้อข้าวเม่า กล่าวว่า จะได้ทานข้าวเม่าปีละ 1 ครั้ง ช่วงเดือน  นี้แหละ วันนี้เดินหาซื้อข้าวเม่าไปทำเป็นของหวาน ไม่ว่าจะ ปรุงเป็นข้าวเม่าทอด ข้าวเม่าคลุก ข้าวเม่ากวน  หรือจะทานข้าวเม่าสดๆ อร่อยไม่แพ้กัน ซึ่งมีความสุขที่ได้ทำขนมหวานจากข้าวเม่าให้ลูกหลานได้รับประทาน เพื่อลูกหลานจะได้รู้ว่า ยังมีขนมพื้นเมืองโบราณ ที่ชื่อ ข้าวเม่า รสชาติอร่อยแบบไทยๆไม่แพ้ขนมชนชาติใดในโลก

หน้าแรก » ภูมิภาค