วันพฤหัสบดี ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:46 น.

ภูมิภาค

ผู้ว่าฯเมืองคอน ลงพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง ยกระดับควบคุมการเผาลดผลกระทบ PM 2.5 พร้อมรับมือไฟไหม้ป่า

วันเสาร์ ที่ 08 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568, 16.29 น.

ที่ห้องประชุมสถานีควบคุมไฟป่าพรุควนเคร็ง ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ นายสมชาย ลีหล้าน้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในการประชุมยกระดับมาตรการควบคุมการเผาเพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและรับมือเหตุไฟไหม้พื้นที่ป่าพรุ ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้ง ทั้งนี้เพื่อยกระดับมาตรการควบคุมการเผาเพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทั้งในส่วนของการดำเนินของส่วนราชการ หน่วยงานและภาคส่วนในพื้นที่ ประกอบด้วย สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 ,สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ,องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ,มณฑลทหารบก ที่ 41 ,สำนักงานทรัพยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และหน่วยงานสังกัดกรมชลประทานในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมทั้งได้การมอบนโยบายและข้อสั่งการในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ก่อนลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำในการดูแลของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังบนตามลำดับต่อไป

พื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นป่าพรุที่มีขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 250,883 ไร่  เป็นพื้นที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 221,385 ไร่ พื้นที่กรมป่าไม้ป่าสงวนแห่งชาติ นอกพื้นที่ป่ากรมอุทยานฯ จำนวน ๒๗,๕๐๑ ไร่ และพื้นที่มูลนิธิชัยพัฒนา  จำนวน  1,997 ไร่ ถือเป็นป่าพรุที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากป่าพรุสิรินธร  หรือป่าพรุโต๊ะแดง ของจังหวัดนราธิวาส ครอบคลุมพื้นที่ ๕ อำเภอ คือ อำเภอร่อนพิบูลย์  อำเภอเฉลิมพระเกียรติ  อำเภอเชียรใหญ่  อำเภอชะอวด และอำเภอหัวไทร ป่าพรุควนเคร็ง มีพื้นที่เป็นกลุ่มก้อนหลายกลุ่ม และล้อมรอบโดยพื้นที่ สปก. ภาพโดยรวมของพื้นที่ จึงมีทั้งชุมชน พื้นที่การเกษตร นาข้าว พืชผัก และปาล์มน้ำมัน อยู่ในและรอบป่าพรุ จากลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าพรุที่ราบ สามารถคาดหมายได้ว่าฤดูแล้งและฤดูกาลการเกิดไฟป่าในพื้นที่ มีแนวโน้มเกิดในช่วงเดือนช่วงกลางเดือนเมษายนไปจนถึงเดือน กันยายน  หรือ ตุลาคม  ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ค่อนข้างน้อย ระดับน้ำในป่าพรุจะลดลงจากการระเหยโดยธรรมชาติ และการใช้น้ำของเกษตรกร ทำให้ระดับน้ำเหนือผิวดินป่าพรุแห้ง

ทั้งนี้ความสูญเสียจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็ง เมื่อปี 2562 ซึ่งได้เกิดไฟไหม้ป่าพรุ จำนวนทั้งสิ้น 106 ครั้ง พื้นที่เสียหายกว่า 16,000 ไร่ ถือเป็นบทเรียนราคาแพง ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็งอย่างยั่งยืน โดยได้กำหนดพื้นที่ป่าพรุ ออกเป็น 3 โซน คือโซนพื้นที่ป่าพรุที่เป็นที่ดอน/ที่แล้ง ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงและได้รับผลกระทบจากภัยแล้งก่อนพื้นที่ส่วนอื่น มีการจัดชุดเจ้าหน้าที่ออกเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการสำรวจพื้นที่เพื่อกำหนดจุดขุดเจาะบ่อบาดาล และทำแนวกันไฟโดยรอบ โซนที่ 2 ที่ยังมีความชุ่มชื้นจะมีการปิดทำนบเพื่อกักเก็บน้ำในพื้นที่โดยรอบจำนวน 40 แห่ง เพื่อกักเก็บและชะลอการเหือดแห้งของน้ำในพื้นที่ พร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อเร่งสูบน้ำเข้าพื้นที่เพิ่ม และโซนที่ 3 เป็นพื้นที่ที่มีความชุ่มน้ำ และมีระดับน้ำในพื้นที่สูงประมาณ 20-40 เซนติเมตร ให้ระมัดระวังการกักเก็บน้ำเพื่อไม่ให้กระทบต่อวิถีชีวิตและการสัญจรของประชาชน ส่วนการเฝ้าระวังในพื้นที่เขต สปก.4-01 ได้มอบหมายให้นายอำเภอในพื้นที่ได้เร่งจัดทำประชาคม พร้อมสร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงมาตรการและแนวทางการป้องกัน รับมือและแก้ไขปัญหากรณีที่มีเหตุการณ์ด้วย

หน้าแรก » ภูมิภาค