วันอาทิตย์ ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 21:20 น.

ภูมิภาค

สมโภช “พระธาตุแสงนคร” ท้องฟ้าสดใส อัญเชิญพระอุปคุตช่วยปกปักษ์ งานบุญเดือนสี่ในฮีตสิบสอง คนอีสานยึดมั่นแต่โบราณ

วันพฤหัสบดี ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568, 19.44 น.

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4 เวลา 10.00 น. ที่วัดสว่างสุวรรณาราม ชุมชนหนองแสง เขตเทศบาลเมืองนครพนม นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานพิธีสมโภชพระธาตุแสงนคร โดยมีนายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม นางธนวัน อุ่นเพชรวรากร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม นางลลิตา ฤกษ์วาณิชย์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสกลนคร และ หัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน รวมถึงนางรำจาก 25 ชุมชนเขตเทศบาลเมืองฯ โรงเรียนนครพนมวิทยาคม และ โรงเรียนเชียงยืนวิทยาคม พร้อมผู้มีจิตศรัทธาตั้งโรงทานแจกอาหารแก่ผู้มาร่วมงาน โดยบนท้องฟ้าแตกต่างจาก 2-3 วันที่ผ่านมา ที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝนตลอดทั้งวัน วันนี้มีความปลอดโปร่ง สดใส ไร้เมฆหมอก

นายวรวิทย์ พิมพนิตย์ รอง ผวจ.นครพนม กล่าวรายงานว่าวัดสว่างสุวรรณาราม เดิมชื่อว่า วัดโพธิ์ชัย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2477 สังกัดคณะมหานิกาย มีพระราชสิริวัฒน์ หรือเจ้าคุณเพชร เป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะจังหวัดนครพนม ทั้งนี้ พระธาตุแสงนคร วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ตรงกับวันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล รูปทรงคล้ายพระธาตุพนม ศิลปะสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์รุ่งเรือง  ลักษณะทรงสี่เหลี่ยมมณฑป ขนาดความสูง 32 เมตร ฐานกว้างด้านละ 2 เมตร มีซุ้มประตูที่จำลองมาจากซุ้มประตูองค์พระธาตุพนม ใต้ฐานบรรจุพระพุทธรูป พระผง พระพิมพ์ จำนวน 84,000 องค์ และเงินทองเพชรนิลจินดา รวมถึงศาสตราวุธและสิ่งของโบราณของผู้ศรัทธา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ส่วนภายในองค์พระธาตุมี 4 ชั้นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปโบราณ ของมีค่าต่างๆ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนและพุทธศาสนิกชน เสริมสร้างความมั่นคงทางพุทธศาสนา โดยใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี งบก่อสร้าง 12 ล้านบาท

โดย นางลลิตา ฤกษ์วาณิชย์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสกลนคร ภรรยานายวีระ ฤกษ์วาณิชย์ รอง ผวจ.สกลนคร ถือเป็นเจ้าศรัทธาหลัก ได้มอบเพชร นิล จินดา แก้วนพเก้าทั้ง 9 ชนิด พร้อมผู้ใจบุญร่วมบริจาคทองคำสมทบน้ำหนักรวม 71 บาท เพื่อหล่อหุ้มยอดฉัตร มูลค่ารวมประมาณ 4 ล้านบาท เพื่อนำขึ้นประดับบนยอดฉัตรพระธาตุ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะโรง ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา

ทางด้าน พระราชสิริวัฒน์ หรือเจ้าคุณเพชร เผยว่าการสร้างพระธาตุถือเป็นประเพณีของพ่อแม่ ครู อาจารย์ ที่ท่านได้วางแนวทางการสืบสานพระพุทธศาสนาไว้ โดยอดีตผ่านมาเมื่อพระสงฆ์มีสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะจังหวัดแล้ว หากวัดที่จำพรรษายังไม่มีพระธาตุ ท่านก็จะสร้างพระธาตุไว้เพื่อเป็นปูชนียสถานแก่พุทธศาสนิกชนและเป็นบุญญาบารมี ในการได้บรรจุอัฐิพระบรมสารีริกธาตุ อรหันตธาตุ บูรพาจารย์

ส่วนที่มาของชื่อพระธาตุแสงนคร คือ คำว่า “พระธาตุ” หมายถึงสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระอรหันตธาตุ พระสาวก สาวิกาของพระพุทธเจ้า ถือเป็นสมบัติล้ำค่าที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ "แสง" คือ ความสว่างปราศจากความมืดบอด ได้แก่ แสงสว่างแห่งธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนามของวัดและนามแห่งสถานที่ตั้ง ณ บริเวณหนองแสง และ  "นคร" คือ เมืองนครพนม อันเป็นดินแดนศูนย์กลางของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต

เพื่อน้อมถวายเป็น พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน เตือนใจอนุชนรุ่นหลัง ให้ดำเนินชีวิตอย่าง มีสติปัญญา ภายใต้แสงสว่างแห่งธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นหลักฐานทางพระพุทธศาสนาสีบไป

การจัดงานสมโภชองค์พระธาตุแสงนคร กำหนดขึ้นในระหว่างวันที่ 27กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2568 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1-3 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง รวม 3 วัน 3 คืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้แสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อบุพพการีชน ผู้ที่เสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาให้คงสืบไป เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้เข้าวัด ฟังธรรม เจริญจิตตภาวนาและน้อมนำเอาหลักธรรมคำสั่งสอนในทางพระพุทธศาสนาไปใช้ในการดำเนินชีวิต เป็นการส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้มีโอกาสใกล้ชิดศาสนา มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมของวัด เรียนรู้ อนุรักษ์ และสืบสานประเพณีวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบต่อไป และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์องค์พระธาตุแสงนครให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณชนอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ว่า เมื่อเวลา 04.00 น. เช้ามืดของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 68 พระราชสิริวัฒน์ เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เจ้าอาวาสวัดสว่างสุวรรณาราม และพระสงฆ์ ญาติโยมสาธุชนได้อัญเชิญพระอุปคุตจากสระน้ำสวนหลวง ร.9 เพื่อประดิษฐาน ณ หอพระอุปคุต วัดสว่างสุวรรณาราม เพื่อขอให้องค์พระอุปคุต ซึ่งถือเป็นพระผู้มีอิทธิฤทธิ์ตามตำนานความเชื่อ มาช่วยคุ้มครองปกปักษ์รักษา ปกป้องภยันตรายต่าง ๆ ไม่ให้เกิดขึ้น ตลอดการจัดงานสมโภชพระธาตุแสงนคร คำว่า “อุปคุต” เมื่อแยกออกจากกันแล้ว จะได้คำ 2 คำ คือ 1.อุปะ คำนี้เป็นคำอุปสรรค แปลว่า “เข้าไป, ใกล้, มั่น” 2.คุต คำนี้เป็นคำคุณศัพท์ มาจากภาษาบาลีว่า “คุตตะ” แปลว่า “คุ้มครองรักษาแล้ว” เมื่อรวมคำสองคำเข้าด้วยกันเป็น“อุปคุต” จึงแปลว่า “ผู้ชอบการคุ้มครองรักษา”นั่นเอง

นอกจากนี้ บุญเดือนสี่ อยู่ในฮีตสิบสองของชาวอีสาน คำว่าฮีพแปลว่าจารีต เป็นขนบธรรมเนียมที่ชาวอีสานได้ประพฤติปฏิบัติสืบๆกันมา จนกลายเป็นประเพณีที่ไม่สามารถแยกหรือลบเลือนไปจากวิถีชีวิตของคนอีสานไปได้ และในบุญเดือนสี่นี้ยังเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบุญเผวส คือบุญที่มีการเทศน์เผวสหรือเทศน์มหาชาติ คราวพระพุทธองค์ได้เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร

หน้าแรก » ภูมิภาค