วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 12:13 น.

ภูมิภาค

อช.กุยบุรี ทำโป่งเทียมเพิ่มแหล่งน้ำในวันช้างไทย

วันพฤหัสบดี ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2568, 20.33 น.

เมื่อวันที่ 13 มี.ค.68 อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบฯ โดยนายอนุชาติ อาจหาญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลหาดขาม พร้อมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรม “13 มีนาคม วันช้างไทย” โดยมี นายอร่าม ญาณแก้ว นายอำเภอกุยบุรี ประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายสมเจตน์ จันทนา ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบฯ นายพิศิษฐ์ เจริญสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 300 คน ณ บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กร.5 ห้วยลึก โดยในช่วงเช้าได้มีพิธีบวงสรวงไหว้ศาลช้างบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กร.1 ป่ายาง จากนั้นได้ร่วมกันเป็นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กำจัดวัชพืช เสริมโป่งเทียม และทำบุญถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป อุทิศส่วนกุศลให้ช้างป่า ต่อด้วยการเสวนาในหัวข้อ "ทางออกของชุมชน คน ช้างป่ากุยบุรี” โดยมี ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.มัทนา ศรีกระจ่าง ผู้เชี่ยวชาญช้างป่าในพื้นที่ นายพิชิต มีศักดิ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหาดขาม นางสาวอารีย์ คงมั่น ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนบ้านรวมไทย นายสุรวัชร เปลี่ยนปราณ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ และนายอนุชาติ อาจหาญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบรี ร่วมเสวนาเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และยังมีกิจกรรมประกวดวาดภาพระบายสีของเด็กนักเรียนโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ตำบลหาดขาม ที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลหาดขามเป็นผู้สนับสนุนเงินรางวัล รวมทั้งสิ้น 18,300 บาท ปิดท้ายด้วยการมอบเงินสนับสนุนเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าจำนวน 10 เครือข่าย เครือข่ายละ 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 500,000 บาท

 

 

 

วันที่ 13 มี.ค.ของทุกปีเป็นวันช้างไทย รัฐบาลมีนโยบายโดยต่อเนื่องในการให้ความสำคัญกับการดูแลช้างสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่โบราณ ทั้งในส่วนการอนุรักษ์ช้างป่าและการยกระดับมาตรฐานดูแลช้างเลี้ยงให้เป็นที่ยอมรับของสากล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนดำเนินการโครงการอนุรักษ์ช้างทำให้แนวโน้มประชากรช้างมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันช้างป่ามีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ประมาณ 4,013-4,422 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน จำนวน 91 แห่ง (ข้อมูลวันที่ 9 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยู่ระหว่างการสำรวจและการประเมินประชากรช้างป่าทั่วประเทศ ปี 2566) และภายในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางแห่ง ในแต่ละพื้นที่การกระจายสามารถพบช้างป่าได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ไปจนถึง 200 – 300 ตัว 

 

 

 

โดยกลุ่มป่าที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ประชากรช้างป่าได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าแก่งกระจาน อย่างไรก็ตามการสำรวจติดตามและศึกษาประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาช้างขาดแหล่งอาหารและน้ำ เนื่องจากป่าซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของช้างถูกบุกรุกเพื่อเป็นที่ทำกิน ตลอดจนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทำให้มีปัญหาช้างออกมาทำลายพืชผลเกษตรในชุมชน ซึ่งทางรัฐบาลได้กำชับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการวางแนวทางทั้งการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า ตลอดจนการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้สามารถเป็นแหล่งอาหารของช้าง ลดความขัดแย้งระหว่างช้างกับชุมชน.

 

 

 

หน้าแรก » ภูมิภาค