วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 15:29 น.

ภูมิภาค

สมุนไพร “โสมภูลังกา” หนึ่งเดียวในโลก ม.นครพนมเตรียมวิจัยเพาะขยายพันธุ์ รองรับหลักสูตรแพทย์แผนไทย

วันศุกร์ ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2568, 18.15 น.

อุทยานแห่งชาติภูลังกา ครอบคลุมพื้นที่ อ.บ้านแพง จ.นครพนม และ อ.เซกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ มีเนื้อที่ประมาณ 31,250 ไร่ หรือประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร ลักษณะเป็นภูเขาเรียงซ้อนกันตามแนวแม่น้ำโขง มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 563 เมตร สภาพโดยทั่วไปของพื้นที่เป็นภูเขาหินทราย โดยแบ่งชั้นหินที่สำคัญออกเป็น 3 หมวด คือ หมวดหินโคราช หมวดหินภูพาน และหมวดหินภูกระดึง ส่วนลักษณะดินจะเป็นดินทราย ทั้งนี้พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกาปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ส่วนดอกไม้ป่ามีอยู่โดยทั่วไป โดยเฉพาะกล้วยไม้ป่า รองเท้านารี เท่าที่พบในปัจจุบันส่วนมากจะเป็นกล้วยไม้ตระกูลหวายและแดงอุบล

นอกจากนี้ภูลังกายังเป็นแหล่งสมุนไพรต่าง ๆ และว่านนานาชนิด รวมถึง 7 ตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา ได้แก่ 1.“ถ้ำนาคา” พญานาคที่ถูกสาปเป็นหิน 2.“เมืองหลวงของชาวบังบด” ดินแดนแห่งเมืองลับแล 3.“บ้านพญานาค”แห่งเมืองบาดาล 4.“พระเจ้า 5 พระองค์” ดินแดนประสูติของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ 5.“ธรรมสถานแห่งพระอริยะ” สนามรบกิเลสพระธุดงค์สายกรรมฐาน) 6.“ภูลังกา” ตำนานอาถรรพ์ศักดิ์สิทธ์  และ 7.“ดินแดนสมุนไพร” ตำนานรามเกียรติ์ ตอนพระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์

นักวิจัยทางพฤกษศาสตร์ พบว่า ภูลังกาเป็นแหล่งกำเนิดสมุนไพรที่หายาก และพบมากที่สุดในแถบนี้ ดังนั้นอุทยานแห่งชาติภูลังกา จึงเป็นสวรรค์ของนักวิจัย นักพฤษศาสตร์ และนักธรณีวิทยา ซึ่งเป็นจุดบรรจบของเขตพฤกษภูมิศาสตร์ถึง 3 เขต เข้ามาซ้อนทับกัน ได้แก่ 1.เขตพฤกษภูมิศาสตร์ย่อย (Thailandian floristic province) 2.เขตภูมิศาสตร์ย่อยแบบอินโดจีนตอนบน (north Indochinese floristic province) ที่อยู่ด้านเหนือ สภาพอากาศเย็นและชุ่มชื้น และ 3.เขตพฤกษภูมิศาสตร์ย่อยแบบอันนัม (Annamese floristic province)

ภูลังกามีทั้งพืชถิ่นเดียว และพืชหายากของไทยหลายชนิด ที่ขึ้นเฉพาะในอุทยานแห่งนี้ ด้วยชัยภูมิที่สำคัญของภูลังกา พรรณพฤกษชาติในบริเวณนี้จึงมีความหลากหลายของพืชพรรณสูง และปรากฏชนิดพันธุ์ที่สำคัญและหายากของประเทศไทย หรือมีเพียงแห่งเดียวในโลกจำนวนมาก หากเมื่อเทียบกับขนาดผืนป่าอันน้อยนิด อุทยานแห่งชาติภูลังกามีพืชถิ่นเดียว (endemic) ที่สำคัญคือ โสมภูลังกา,เสี้ยวภูลังกา และ สิรินธรวัลลี นอกจากนั้นยังพบพืชชนิดใหม่ของโลก (New species) เช่น เครือเศวตภูลังกา เสี้ยวภูลังกา และประดับหินอาจารย์เต็ม จึงเป็นพื้นที่ที่สำคัญยิ่งต่อการศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ และการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของประเทศไทย

ล่าสุด ผศ.ดร.รุ้งลาวัลย์ เอี่ยมกุศลกิจ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมด้วยคณาจารย์ และคณะอนุกรรมการจัดทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต ได้ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา ต.ไผ่ล้อม อ.บ้านแพง จ.นครพนม สำรวจสมุนไพรพื้นถิ่นเฉพาะ เพื่อการอนุรักษ์และขยายพันธุ์พืชสมุนไพร รองรับการเปิดหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต ที่จะเปิดทำการเรียนการสอนในเร็วๆนี้

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้รับความเมตตาจากพระครูวิจิตรวินัยสาร เจ้าคณะอำเภอบ้านแพง/เจ้าอาวาสวัดป่าโนนแพง รวมถึงประธานเครือข่ายหมอสมุนไพร และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับพืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ

ซึ่งนายบรรจง กุณรักษ์ ประธานเครือข่ายหมอสมุนไพร อ.บ้านแพง เปิดเผยว่าบนพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา มีพืชสมุนไพรเป็นจำนวนมาก จากการเก็บข้อมูลของหมอยาพื้นบ้าน พบว่าในพื้นที่ 1 ตารางเมตร มีตัวยาสมุนไพรไม่น้อยกว่า 25 ตัวยา ชาวบ้านมักจะนำสมุนไพรมาใช้ในการบำรุง ดูแล และการรักษา ซึ่งถือเป็นทางเลือกอีกทางที่ควบคู่กับการดูแลรักษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน

“ในพื้นที่มีสมุนไพรเยอะมาก ซึ่งแต่ละหมอยาก็มีวิธีการใช้ที่ต่างกัน มีการเก็บข้อมูลของหมอยา แต่ก่อนชาวบ้านก็อาศัยพืชสมุนไพร เพราะในสถานพยาบาลของรัฐยังมีการใช้ที่น้อยอยู่ และปัจจุบันการรักษาคงลงไปด้านวิทยาศาสตร์มากแล้ว พืชสมุนไพรคือทางเลือก (หมอทางเลือก) ในการรักษาของแพทย์ปัจจุบัน”

โดยนายบรรจง ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า บนอุทยานแห่งชาติภูลังกา มีสมุนไพรที่เด่น ๆ คือ “โสมภูลังกา” มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการแก้เมื่อย บำรุงกำลัง รักษาข้อกระดูก ส่วนใหญ่จะนำมาต้มน้ำดื่ม หรือทำการบดผสมน้ำผึ้งปรุงเป็นยา สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งใบและลำต้น พืชชนิดนี้มักจะพบเห็นบนยอดหน้าผาสูง ซึ่งยากต่อการพบเห็นโดยทั่วไป ด้วยสรรพคุณที่หลากหลายของพืชสมุนไพรชนิดนี้ เมื่อชาวบ้านพบเห็นจึงตัดลงมาทั้งหมด ทำให้ปัจจุบัน “โสมภูลังกา” เริ่มหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกับอุทยานแห่งชาติภูลังกา และวัดในพื้นที่ใกล้เคียง อนุรักษ์ด้วยการเพาะปลูกเพื่อเตรียมขยายพันธุ์

นอกจาก “โสมภูลังกา” ที่หายาก ยังมีพืชสมุนไพรเด่น ๆ อีกหลายชนิด ได้แก่ สามสิบสองประดง (สิรินธรวัลลี), กำลังหนุมาน, กำลังเสือโคร่ง, กำลังช้างสาร-กำลังช้างเผือก และกวาวเครือขาว-กวาวเครือแดง ที่ปัจจุบันเริ่มใกล้จะสูญพันธุ์เช่นกัน ทั้งนี้เกิดจากการแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่สวนของชาวบ้าน

ด้าน ผศ.ดร.รุ้งลาวัลย์ เอี่ยมกุศลกิจ  กล่าวว่าการลงสำรวจพื้นที่เพื่อทำการคัดเลือกสมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นถิ่น เนื่องจากมหาวิทยาลัยนครพนม เตรียมที่จะทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการจัดทำร่างหลักสูตร การสำรวจพื้นที่ศึกษาข้อมูลของสมุนไพร ที่จะใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการวิจัย รวมถึงการแปรรูปสมุนไพรเฉพาะของพื้นถิ่น และการสนับสนุนให้เกิดรายได้ของชุมชน

“เราจะนำสมุนไพรเหล่านี้ไปอนุรักษ์พันธุ์พืช ให้สามารถที่จะขยายพันธุ์ได้อย่างถูกต้อง และนำมาสกัดสารสำคัญเพื่อนำไปรักษาสุขภาพประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค หรือการรักษาในบางตัวตามสารสกัดที่ได้ออกมา และการทำผลิตภัณฑ์เพื่อการรักษา ให้ประชาชนสามารถใช้สมุนไพรที่บ้านของตนเองในการรักษา ลดการใช้ยาที่นำเข้า และลดผลข้างเคียงของยาด้วย ซึ่งบางส่วนเราสามารถเก็บเมล็ดไปทำการวิจัยและขยายพันธุ์ต่อไปได้ และเมื่อเราได้สูตรการเพาะพันธุ์ จะถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ได้มีการขยายพันธุ์ปลูก เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่และชุมชนอีกมิติหนึ่ง เสน่ห์ของการทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต คือ อยากให้นักศึกษาสามารถแปรรูปสมุนไพรเฉพาะในท้องถิ่น เป็นสูตรในการรักษา บำบัดสุขภาพให้กับประชาชนอีสานตอนบนหรือพื้นที่ใกล้เคียงในอนาคต” ผศ.ดร.รุ้งลาวัลย์ กล่าว.

ขณะเดียวกัน มีการประชุมของคณะอนุกรรมการจัดทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต โดยที่ประชุมได้นำเสนอผลการลงสำรวจพื้นที่สมุนไพรบนอุทยานแห่งชาติภูลังกา พร้อมพูดคุยถึงการทำร่างหลักสูตร และหารือวางแผนพื้นที่บริเวณภายในมหาวิทยาลัยตั้งสวนสมุนไพร เพื่อเตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยต่อไปด้วย

ทั้งนี้ในวรรณคดีรามเกียรติ์ ตอนพระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณปักอกจนสลบ หนุมานจะฉุดถอนอย่างไรก็ไม่สำเร็จ มีสรรพยาที่จะแก้ฤทธิ์หอกนี้ได้ คือ ต้นสังกรณีตรีชวาและน้ำปัญจมหานที หนุมานจึงเหาะไปที่เขาสรรพยา หรือ ภูลังกาในปัจจุบัน โดยใช้หางยาวใหญ่โอบรัดเอาภูลังกาเพื่อเอาต้นสังกรณีตรีชวา เมื่อหนุมานดึงเอาภูลังกาออกไปจึงเกิดเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ คือ บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ หลังจากได้ยารักษาพระลักษณ์แล้ว หนุมานจึงนำเอาภูลังกากลับมาคืน แต่เนื่องจากเป็นลิงมีพฤติกรรมซุกซน ก็เลยใช้หางเหวี่ยงภูลังกาลงมา แต่ไม่ตรงกับจุดเดิม จึงเกิดเป็นภูลังกาในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ใกล้กับบึงโขงหลง และหากเปรียบเทียบพื้นที่ของบึงโขงหลงและภูลังกาจะมีขนาดเท่ากันพอดี

หน้าแรก » ภูมิภาค