วันเสาร์ ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 14:14 น.

ภูมิภาค

ชาวนครพนมปลาบปลื้ม ในหลวงทรงโปรดเกล้าฯ ยกฐานะ "วัดธาตุประสิทธิ์" เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรีชนิดสามัญ

วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568, 19.12 น.

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกวัดราษฎร์เป็นอารามหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยก วัดธาตุประสิทธิ์ ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ประกาศ ณ วันที่ 24 มีนาคม พุทธศักราช 2568 เป็นปีที่ 10 ในรัชกาลปัจจุบัน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และมาตรา 159 ของพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ประกอบตามข้อ 3 ของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการขอยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง พ.ศ.2518 เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2567

โดยพระบรมราชโองการ ประกาศ ยกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง มีจำนวน 12 วัด ประกอบด้วย ชั้นโท ชนิดวรวิหาร วัดพระพุทธฉาย จ.สระบุรี ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร วัดพระยายัง กรุงเทพมหานคร วัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา ชั้นตรี ชนิดสามัญ วัดราชบูรณะ จ.พิษณุโลก,วัดศรีมหาราชา จ.ชลบุรี,วัดธาตุประสิทธิ์ จ.นครพนม,วัดศาลาลอย จ.นครราชสีมา,วัดประชานิยม จ.กาฬสินธุ์,วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม,วัดมหาธาตุวชิรมงคล จ.กระบี่,วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม และ วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร กรุงเทพมหานคร

สร้างความปลาบปลื้มแก่พสกนิกรชาว จ.นครพนม เป็นยิ่งนัก เนื่องจากวัดธาตุประสิทธิ์เป็นศูนย์หัตถกรรมชุมชนฯ ซึ่งเป็นกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยมีคุณภาพสวยงามเป็นที่ยอมรับ และมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ จึงได้รับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นประจำทุกปี ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มฯ มีขวัญกำลังใจที่จะทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มความสามารถ ในแต่ละเดือนมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มาเยี่ยมเยือนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นวัดธาตุประสิทธิ์ อ.นาหว้า จ.นครพนม จึงได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ด้านหัตถกรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญา ที่มีคุณค่าต่อชุมชนและประเทศชาติ ต่อมาได้รับการประกาศให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของจังหวัดนครพนม ประจำปี 2562

วัดธาตุประสิทธิ์เดิมมีชื่อว่าวัดธาตุ เนื่องจากมีเจดีย์เก่าไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาในสมัยใด อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม เถาวัลย์เลื้อยปกคลุมไปทั้งองค์ กล่าวกันว่าค้นพบโดยกลุ่มชาติพันธุ์ไทญ้อ (ย้อ) ต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ของชาติลาว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง (พ.ศ. 2091 – 2114)  ได้เข้ามาบูรณะใหม่โดยออกแบบรูปทรงคล้ายกับเจดีย์วัดศรีบุญเรือง นครหลวงเวียงจันทน์  กระทั่ง พ.ศ.2436  จากความชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ยอดพระธาตุได้หักลงมาเสียหาย

 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2454 พระครูประสิทธิ์ศึกษากร เจ้าอาวาสวัดธาตุประสิทธิ์ในขณะนั้น ได้ก่อสร้างพระธาตุองค์ใหม่ โดยสร้างเลียนแบบพระธาตุพนมบางส่วน ลวดสายต่างๆจะเป็นลวดลายใหม่ รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 7.20 เมตร วัดโดยรอบฐาน 24.50 เมตร สูง 24.52 เมตร  สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2506 พร้อมอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันต์ตธาตุรวม 24 พระองค์ และดินจากสังเวชนียสถาน 4 แห่งคือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ สถานที่แสดงพระธรรมเทศนา และ ปรินิพพาน รวมถึงพระพุทธรูปที่พบในเจดีย์องค์เก่าบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ พร้อมตั้งชื่อพระธาตุใหม่ว่า พระธาตุประสิทธิ์ ตามรายในนามของพระครูประสิทธิ์ศึกษากร เจ้าอาวาสผู้ก่อสร้างองค์พระธาตุ

นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงกับองค์พระธาตุ มีศาลาการเปรียญหลังเก่า  สร้างเมื่อปี 2493 ฝาพนังปรากฏภาพเขียนเป็นพุทธประวัติ ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน และครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ในคราวเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ (พระกฐินต้น) ณ วัดธาตุประสิทธิ์ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 อีกด้วย

หน้าแรก » ภูมิภาค