วันศุกร์ ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:36 น.

ภูมิภาค

โยธาฯแพร่ แจงปมก่อสร้างศูนย์ราชการล่าช้า ยันไม่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว

วันพฤหัสบดี ที่ 03 เมษายน พ.ศ. 2568, 09.26 น.

วันที่ 2 เมษายน 2568  นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้มอบหมายให้ นายสิทธิภัทร ปาละนันทน์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแพร่ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ และผู้เกี่ยวข้องในการก่อสร้างได้แถลงข่าวกรณีการก่อสร้างที่ล่าช้าและความกังวลต่อความปลอดภัยของอาคารหลังเกิดแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ ต.น้ำชำ อ.เมือง จ.แพร่ 
          
นายสิทธิภัทร ปาละนันทน์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแพร่ กล่าวถึงการก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดที่มีความล่าช้าว่า  โครงการก่อสร้างศาลากลางจังหวัดแพร่ หลังใหม่ที่ ต.น้ำชำ อ.เมือง จ.แพร่ ด้วยงบประมาณ 540 ล้านบาท  มีการเซ็นสัญญาในปลายปี 2563 และจะมีกำหนดการแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2567  แต่ความล่าช้าแต่แรกเนื่องจากมีการแก้ไขแบบแปลนต้องส่งแบบให้กรมโยธาธิการฯ มีการเปลี่ยนแบบในการก่อสร้างเมื่อเซ็นสัญญาแล้วเพราะมีข้อมูลของพื้นที่กับแบบรูปรายการไม่ตรงกัน จึงต้องมีการเปลี่ยนแบบ อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแบบเสาเข็ม จึงทำให้มีการเริ่มงานก่อสร้างในปลายปี 2564 และรวมถึงมีความล่าช้าของผู้รับจ้างซึ่งเราก็ได้มีการเร่งรัดอยู่ตลอดเวลา  
         
ตอนหลังก็มีสถานการณ์โควิด จึงทำให้เกิดมีการช่วยเหลือผู้รับจ้างจากกรมบัญชีกลาง ที่ผู้จ้างสามารถให้วันกับผู้รับจ้างเพิ่มได้ 540 วันเพื่อมาบวกวันกับสัญญาเดิม  โดยเฉพาะสถานการณ์โควิดถ้าผู้จ้างจะมีการปรับก็จะมีการปรับผู้รับจ้าง 0 %ในวันที่เพิ่ม 540 วัน แต่หลังจากนั้นจะต้องถูกปรับวันละ 5 แสนบาท หรือเดือนประมาณ 15 ล้านบาท  การให้วัน 540 วันให้กับผู้รับจ้างจะสิ้นสุดในวันที่ 19 กันยายน 2568 
          
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า มีประชาชน ข้าราชการมีความกังวลเมื่อมีเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่าจนมีเหตุ อาคาร สตง.ถล่มลงมาและจะกระทบต่อความปลอดภัยของศูนย์ราชการจังหวัดแพร่หรือไม่นั้น นายสิทธิภัทร ปาละนันทน์  โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแพร่ ตอบว่า เราพบว่าแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่าวัดได้ที่จุดศูนย์กลาง 8.2 ริกเตอร์  เมื่อตรวจสอบอาคารในศูนย์ราชการจังหวัด ไม่พบว่าได้รับผลกระทบแต่อย่างใด  ความแตกต่างอาคารของ สตง.ที่ถล่มลงมาเป็นการ ออกแบบและตรวจสอบโดยเอกชน  แต่การก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ ออกแบบและตรวจสอบโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง  โครงสร้างของศูนย์ราชการจังหวัดแพร่เป็นแบบพื้น คาน เสาผสม เป็นแบบคลาสิค ไม่เหมือน อาคาร สตง.  เป็นแบบแผ่นพื้นไร้ค้านโดยดึงลวดอัดแรงภายหลัง  เหล็กเส้นที่นำมาใช้ในการก่อสร้างศูนย์ราชการยืนยันว่าใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศไทย ที่ได้มาตรฐาน ในส่วนของ อาคาร  สตง.นั้นไม่ทราบว่าเป็นเหล็กผลิตที่ไหน  ส่วนผู้รับจ้างคือ บริษัท อัครกร ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ถือหุ้น 51% และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้น 49% เป็นผู้รับจ้างที่ไม่มีประวัติในการทิ้งงาน 
          
แต่ขอให้ท่านมั่นใจว่า เราในฐานะผู้คุมงาน  ผู้คุมงานนี้เป็นวิศวกรนายช่างของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแพร่ มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เราปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบของทางราชการสม่ำเสมอมา เพราะเรารู้หน้าที่ของเราดี การก่อสร้างอาคารแล้วต้องมีความปลอดภัยมีความมั่นคงแข็งแรง เมื่อมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเราก็ได้เข้าไปตรวจสอบว่าอาคารมีรอยร้าวมีความเสียหายหรือไม่ต่อโครงสร้างของทั้งสองอาคารนี้และอาคารเล็กด้วย จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีรอยร้าวใดๆเลยพบว่าโครงสร้างมีความสมบูรณ์เหมือนเดิม 100% 
          
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายสิทธิภัทร ปาละนันทน์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแพร่ ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมอาคารที่กำลังดำเนินการก่อสร้างในศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ และยืนยันยันว่าโครงสร้างอาคารทุกหลังมีความมั่นคงแข็งแรงและไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 นี้แต่อย่างใด
 

หน้าแรก » ภูมิภาค