วันศุกร์ ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:21 น.

ภูมิภาค

นบ.ยส.24 โชว์ฟอร์มยึดยาเกือบ 100 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 6.5 พันล้าน

วันอังคาร ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2568, 10.01 น.

นบ.ยส.24 โชว์ผลงานในรอบปี ยึดยาบ้าแล้วเกือบ 100 ล้านเม็ด+ไอซ์ เฮโรอีน ยาเค รวมมูลค่าเฉียด 7 พันล้าน ชูธงทลายเครือข่ายให้สิ้นซาก

ที่ค่ายพระยอดเมืองขวาง ต.กุรุคุ อ.เมือง จ.นครพนม พลตรีวีระยุทธ รักศิลป์ รองแม่ทัพภาคที่ 2 (รอง มทภ.2) และ รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 24 (รอง ผบ.นบ.ยส.24) เดินทางตรวจเยี่ยมและติดตามการปฏิบัติงาน นบ.ยส.24 ที่ตั้งกองบัญชาการอยู่ในค่ายพระยอดเมืองขวางแห่งนี้ โดยมีพันเอกศิวดล ยาคล้าย ผอ.ส่วนอำนวยการฯ พันเอกศรณณัฐ นวลมณี และ พันเอกอิทธิพล นนลือชา รอง ผอ.ฯ ร่วมรายงานสถิติและการปฏิบัติงานในแต่ละมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 จนถึงเดือนมีนาคม 68

 

 

โดยมีผลจากการดำเนินงานด้านยาเสพติดในพื้นที่รับผิดชอบ นบ.ยส.24 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 666 ครั้ง ผู้ต้องหา 920 ราย ยึดของกลางยาบ้า 95,918,351 เม็ด ไอซ์ 3,786 กิโลกรัม เฮโรอีน 124 กิโลกรัม เคตามีน 777 กิโลกรัม และอื่นๆ รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นมากถึง 6,584,787,950 บาท จากนั้น รอง มทภ.2 และ รอง ผบ.นบ.ยส.24 ได้มอบสิ่งของบำรุงขวัญให้กับกำลังพล เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ถือเป็นการขอบคุณในความทุ่มเท เสียสละในการปฏิบัติงาน โดยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บังคับบัญชาทุกระดับตลอดมา

ในส่วนบทบาทของกองทัพบก ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทย นอกจากการสกัดกั้นยาเสพติดของกองกำลังป้องกันชายแดนกองทัพบกแล้ว หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า นบ.ยส. หรือหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น

จุดเริ่มต้นของ นบ.ยส.ถูกจัดตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2566 ตามประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสกัดกั้นยาเสพติดตั้งแต่ต้นทาง และปราบปรามเครือข่ายยาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับสถานการณ์เร่งด่วนในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นบ.ยส.35 และ นบ.ยส.24 ซึ่งต่อมาในปี 2567 ก็ได้มีการจัดตั้ง นบ.ยส.17 เพื่อรองรับสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนภาคตะวันตกเพิ่มเติม

บทบาทและหน้าที่ของ นบ.ยส.ปฏิบัติหน้าที่ครอบคลุมทั้งการสกัดกั้น ปราบปราม และเสริมสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ชายแดน คือ 1.สกัดกั้นยาเสพติด ยับยั้ง และจับกุม ไม่ให้มีการลักลอบนำเข้ายาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์เข้ามาในประเทศ

 


2.ปราบปรามเครือข่ายยาเสพติด ทำลายโครงสร้างเครือข่ายการค้ายาเสพติด และวงจรทางการเงินของกลุ่มขบวนการยาเสพติดตามแนวชายแดน

3.เฝ้าระวังการขนส่งยาเสพติด ปราบปรามการลักลอบลำเลียงยาเสพติดผ่านระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่แนวชายแดน

4.เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนชายแดน ส่งเสริมให้ชุมชนมีบทบาท ในการต่อต้านยาเสพติด แจ้งข่าวสาร และช่วยเหลือเจ้าหน้าที่
 
5.ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำงานร่วมกับหน่วยงานประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจับกุมผู้ค้ายาเสพติดและผู้ที่หลบหนีหมายจับ

6.ดำเนินการอื่นๆ ที่จำเป็น ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาในประเทศ

ส่วนที่มาของตัวเลข นบ.ยส. ในแต่ละพื้นที่ โดยได้แบ่งความรับผิดชอบพื้นที่ชายแดน ที่มีความสำคัญเร่งด่วน ซึ่งเกิดจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่างทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยมีการกำหนดตัวเลขของ นบ.ยส.ตามโครงสร้างการจัดของหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้นๆ และจะรับผิดชอบอำเภอชายแดนจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบแตกต่างกันไป ตามประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในแต่ละปี ซึ่งในปัจจุบันจนถึง 30 กันยายน 68 นี้ มีการแบ่งความรับผิดชอบของ นบ.ยส. เป็น 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1.นบ.ยส.35 มีแม่ทัพภาคที่ 3 หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้บัญชาการ และมีผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5 และ 6(ป.ป.ส.5-6) เป็นฝ่ายเลขานุการร่วม โดยรับผิดชอบพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน และ ตาก

 

 

นบ.ยส.24 มีแม่ทัพภาคที่ 2 หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้บัญชาการ และมีผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 3 และ 4 (ป.ป.ส.3-4) เป็นฝ่ายเลขานุการร่วม รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครพนม เลย หนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

นบ.ยส.17 มีแม่ทัพภาคที่ 1 หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็น ผู้บัญชาการ และมีผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 7 (ป.ป.ส.7) เป็นฝ่ายเลขานุการ รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี

ทั้งนี้ กองทัพบกมีบทบาทสำคัญ ในการสนับสนุนเครื่องมือและกำลังพล เพื่อปกป้องชายแดน รวมถึงการทำงานเชิงรุกเพื่อสกัดกั้นและยับยั้ง ไม่ให้มีการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในประเทศ ซึ่งนับเป็นความมุ่งมั่นของกองทัพบก ในการร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อความมั่นคงของชาติอย่างยั่งยืน

หน้าแรก » ภูมิภาค